ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุการระบาดของโรคมือเท้าปากในปีนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี โดยขณะนี้พบว่ามีการกลายพันธุ์ของเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธฺุ์ ซี 4 และเชื้อคอกซากี เอ 16 แล้ว
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกว่าได้ เชื้่อไวรัสที่ระบาดในโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เป็นสายพันธุ์ใด เพราะขั้นตอนการตรวจหาเชื้อ จะต้องถอดรหัสพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการเชิงลึก ขณะเดียวกันยอมรับว่า การระบาดของโรคมือเท้าปากในปีนี้ของไทย ถือว่ารุนแรงและพบการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางที่สุดในรอบ 30 ปี โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีการส่งตัวอย่างเชื้อเข้ามาตรวจสอบที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัส วิทยาคลินิก วันละ 40-50 คน โดยพบการกลายพันธุ์ของเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ ซี 4 ซึ่งพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 60 ยังไม่มีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสตัวนี้ รวมทั้งยังมีการกลายพันธ์ของเชื้อไวรัส คอกซากี เอ 16 ด้วย
ส่วนสถานการณ์ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมวันนี้(17 ก.ค.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่เขตปทุมวัน ช่วยกันฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสในห้องเรียน ขณะที่ครูและเจ้าหน้าของโรงเรียน ต่างช่วยกันทำความสะอาด สิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีการใช้ร่วมกัน หลังพบว่า มีนักเรียนจำนวน 22 คน ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา และต้องประกาศปิดเรียนตั้งแต่วันนี้ ถึง 23 ก.ค. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รศ.สุปราณี จิราณรงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่า ก่อนหน้านี้พบเด็กเริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. จำนวน 4 คน เป็นนักเรียนชั้นป.1 จำนวน 1 คน และชั้น ป.2 จำนวน 2 คน วันที่ 13 ก.ค. จึงประกาศปิดเรียนเฉพาะนักเรียนชั้น ป.1 และ ป.2 แต่พอเปิดเรียนวันที่ 16 ก.ค. ก็พบว่า มีเด็กหยุดเรียนและป่วยมากขึ้น จึงต้องประกาศปิดเรียนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
นายสุชาติ ธาดาธำรงค์เวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่าได้สั่งการให้ทุกสถานศึกษาเฝ้าระวังการระบาดและปฏิบัติตามคำแนะนำ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งออกมาตรการเฝ้าระวัง 6 ขั้นตอน เช่น ให้สถานศึกษาทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง และนักเรียน ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำชับสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะแนวชายแดนไทย – กัมพูชา เฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด หากเกิดการระบาดในสถานศึกษาให้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล เพื่อวางมาตรการควบคุมอย่างเร่งด่วน
ล่าสุดพบนักเรียนป่วยแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว กรุงเทพมหานคร ราชบุรี บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี เชียงราย และ พิษณุโลก โดยที่จังหวัดราชบุรีพบนักเรียนป่วยมากที่สุด 16 คนทั้งหมดเป็นนักเรียนชั้นอนุบาลและขณะนี้หายเป็นปกติแล้ว
ขณะที่หลายจังหวัดซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการ ระบาดของโรคมือเท้าปาก เช่น หลายอำเภอใน จ.อุบลราชธานี ด่านช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ และอ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งจุดตรวจคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงจากประเทศกัมพูชา และประเทศลาว รวมถึงให้ความรู้เรื่องการล้างทำความสะอาดมือให้กับผู้ปกครองและเด็ก
ส่วนครูและพี่เลี้ยงเด็กโรงเรียนบ้านทุ่งน้อย ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน นำเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลที่ทำความสะอาดมือตามหลักการสุขอนามัย พร้อมตรวจความสะอาดของร่างกายก่อนเข้าห้องเรียน หลังจากที่พบการระบาดของโรคมือเท้าปากในพื้นที่ห่างไกลตามแนวชายแดนไทย-ลาว
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ 6 มาตรการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังป้องกันโรคมือเท้า ปากในสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน ศูนย์เด็กเล็ก และสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยหากพบว่าจังหวัดใดที่ผู้ป่วยมากกว่า 10 คนต่อวัน ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด หรือ วอร์รูม มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน/และตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคนี้ทั่วประเทศแล้ว 12,581 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
http://bit.ly/NDh62o
18 กรกฎาคม 2555