logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

  ปลัด สธ.เผย ระบบการเฝ้าระวังผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรค 19 ชนิด ที่ใช้ในประเทศไทย พบมีความปลอดภัยสูง อาการที่เกิดขึ้นไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของวัคซีนแต่ละชนิด โดยมาตรการเฝ้าระวังของไทย เป็น 1 ใน 4 ประเทศในภูมิภาคเซียโร่ ที่องค์การอนามัยโลกรับรองมาตรฐาน ตลอดปี 2554 ไทยพบมีรายงานอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน 788 ราย ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง
       
       วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่โรงแรม เอส.ดี.อเวนิว กทม. นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัด กระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะกรรมการสอบสวนอาการภายหลังได้รับการสร้าง เสริมภูมิคุ้มกันโรคระดับเขต ประกอบด้วย กุมารแพทย์ พยาธิวิทยาแพทย์ นิติเวช เวชกรรมสังคม เวชกรรมป้องกัน นักวิชาการสาธารณสุข จากโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 เขตทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะการเฝ้าระวังอาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรค เพิ่มความเชื่อมั่น ในคุณภาพความปลอดภัยของวัคซีนแก่ประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้ระบบการป้องกันโรคของไทยเข้มแข็งขึ้น

 นายแพทย์ ไพจิตร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ให้กับประชาชน ตั้งแต่แรกเกิดและตามช่วงอายุ เนื่องจากการให้วัคซีนเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งในการป้องกัน โรคและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ล่าสุด การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 (Influenza H1N1) ที่รุนแรงและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว องค์การอนามัยโลกและประเทศต่างๆ ก็ได้นำวัคซีนมาใช้เพื่อป้องกันการระบาด ปัจจุบันได้พัฒนาจนถือว่ามีความปลอดภัยสูง โดยเด็กแรกเกิดถึงอายุ 12 ปีของไทย จะต้องฉีดวัคซีนพื้นฐาน 10 ชนิดป้องกันโรครวมทั้งหมด 14 ครั้ง เช่นวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โรคคางทูม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน ไม่รวมวัคซีนตามฤดูกาล หรือวัคซีนอื่นเพิ่มเติม
       
       อย่างไรก็ตาม ยังอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนแต่ละชนิดได้ ในการป้องกันปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นประชาชนต่อวัคซีน กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วทุกจังหวัดซึ่งมีประมาณ 1,200 ทีม ติดตามความปลอดภัยวัคซีน และตั้งคณะกรรมการสอบสวนอาการภายหลังได้รับวัคซีนระดับเขตอีก 18 เขต เพื่อกำกับติดตามความปลอดภัยด้านวัคซีน และการให้บริการที่ปลอดภัย ประเมินสาเหตุเบื้องต้นของอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน หรือไม่ ซึ่งระบบของไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ เซียโร่ (SEARO) ซึ่งมี 10 ประเทศ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก
       
       นายแพทย์ ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินการเฝ้าระวังในปี 2554 สำนักระบาดวิทยา ได้รับรายงานอาการภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจาก 72 จังหวัด ทั้งหมด 788 ราย โดยพบมากสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง และ ภาคใต้ จากการสอบสวนผู้รับวัคซีน พบว่า ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 81 มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของวัคซีน อาทิ อาการปวด บวมแดง อาการมักจะดีขึ้น และหายเป็นปกติได้ภายใน 1-3 วัน มีรายงานเสียชีวิต 14 ราย จากการสอบสวนของคณะกรรมการ พบว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีนแต่อย่างใด ส่วนอาการร้ายแรง ได้แก่ อาการชัก การแพ้รุนแรง จะพบได้น้อยมากโดยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดหลังฉีดวัคซีนภายใน 30 นาที หรือได้รับการดูแลรักษาที่ดีอย่างทันท่วงที เมื่อมีอาการเกิดขึ้นโดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของ วัคซีนแต่ละชนิด จึงสามารถกล่าวได้ว่าวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยมีความปลอดภัยสูง
       
       ทางด้านนายแพทย์ ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนัก ระบาดวิทยา กล่าวว่า ระบบการรายงานอาการภายหลังได้รับวัคซีน จะทำให้เรามีข้อมูลพื้นฐานของประชากรไทย ว่า มีการตอบสนองต่อวัคซีนที่ใช้ภายในประเทศอย่างไรบ้าง สามารถเปรียบเทียบเมื่อมีการนำวัคซีนชนิดเดียวกันที่ผลิตใหม่ รุ่นการผลิต หรือบริษัทที่ผลิตแตกต่างกันมาใช้ ทำให้บอกความผิดปกติ ซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาเลือกใช้วัคซีน การพัฒนาระบบการบริหารการให้วัคซีนให้มีความปลอดภัยมีประสิทธิภาพ และพัฒนาการผลิตวัคซีนสำหรับในอนาคต ทั้งนี้ การมีระบบการรายงานและสอบสวนอย่างรวดเร็ว จะสามารถทำความเข้าใจ กับผู้ได้รับวัคซีนและญาติ สื่อมวลชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ดี และรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อวัคซีนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในกรณีเกิดอาการร้ายแรงหรือเสียชีวิต

 

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000078843

28 มิถุนายน 2555

Next post > บอร์ดสปสช. เชื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินเอื้อเอกชน

< Previous post สธ.ผุดหน่วยงานใหม่ ดูแลอาหารปลอดภัยในภาวะฉุกเฉิน

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด