logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

แฉ! แม่ขี้เมา 15% รู้ตัวว่า “ท้อง” ยังดวดเหล้าต่อ

http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9540000099760

      วงเสวนาแฉ!! แม่ดื่มเหล้าขณะตั้งครรภ์สุดอันตราย เด็กเสี่ยงพิการ สมองเล็ก ไอคิวต่ำ “ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา” เผยหญิงขี้เมาที่ท้องกว่า40% ดื่มเหล้าโดยไม่รู้ว่าตัวเองท้อง อึ้ง! 15%ไม่แคร์ยังดื่มต่อ  ซ้ำร้ายซื้อยาแผนโบราณมาขับเลือดเพราะไม่รู้ว่าท้อง เตือนผู้หญิงหยุดดื่มเหล้า วางแผนครอบครัวก่อนมีบุตร  ด้าน “อดีตแม่นักดื่ม” เปิดใจ ลูกต้องผิดปกติเพราะพิษน้ำเมา
       
       วันนี้ (10 ส.ค.) เวลา 13.30 น.  ที่โรงแรมกานต์มณี  สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)  ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “คุณแม่นักดื่ม…ผลกระทบกับลูกที่คาดไม่ถึง” โดย ภญ.อรทัย  วลีวงศ์  นัก วิจัยจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีแม่ที่ตั้งครรภ์หลายคนรู้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ แต่ยังมีแม่อีกหลายคนที่ดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่รู้ว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการตั้งครรภ์  หรือไม่หยุดดื่มแม้รู้ว่าตั้งครรภ์แล้ว ซึ่งจากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำรวจพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของหญิงตั้งครรภ์  ปี 2554 จำนวน 772 ราย พบว่า  30.9% ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นนักดื่มมาก่อน โดยดื่มในช่วง 12 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ 40.6% ของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นนักดื่ม ยังดื่มแอลกอฮอล์ต่อเพราะไม่รู้ว่าตนตั้งครรภ์ในช่วงแรก  และที่น่าห่วง คือ 15.1% ของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นนักดื่มยังคงดื่มแอลกอฮอล์ต่อแม้รู้ว่าตั้งครรภ์  ขณะที่ 12.6% ดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์        
       
       ภญ.อรทัย   กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มอาการผิดปกติของทารกจากการดื่มแอลกอฮอล์ของมารดาขณะตั้งครรภ์ หรือที่เรียกว่า FASD  จะส่งผลกระทบต่อทารกทุกด้าน ทั้งร่างกาย สมอง พฤติกรรมและการเรียนรู้ของทารก มีระดับความรุนแรงตั้งแต่แท้งลูกจนถึงพิการแต่กำเนิด หรือส่งผลต่อพัฒนาการของทารกที่ผิดปกติ เช่น การเรียนรู้ การจดจำ ภาษา การพูด สมาธิสั้น ไอคิวต่ำ ส่วนอาการแสดงทางกาย เช่นน้ำหนักแรกเกิดน้อย สมองมีขนาดเล็กกว่าปกติ รูปหน้าผิดปกติ หัวใจผิดปกติ การเจริญเติบโตของแขนขาผิดปกติ ฯลฯ โดยไม่สามารถรักษาให้หายได้ ส่งผลต่อปัญหาการเลี้ยงดู ด้านพฤติกรรมและการดำเนินชีวิต
       
       “อาจเป็นไปได้ที่แม่หลายคนไม่รู้ว่าเหล้ามีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ หรือบางรายอาจจะทราบ แต่ไม่สามารถเลิกดื่มได้เพราะมีภาวะติดเหล้า  ข้อมูลน่าตกใจพบว่ามีเด็กไทยมากถึง 89,000 คนต่อปี ตกอยู่ในความเสี่ยงของการเกิดอาการ FASD ดังนั้นสาวนักดื่มหากคิดว่ามีโอกาสจะตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ให้งดดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงในช่วงให้นมบุตรห้ามดื่มโดยเด็ดขาด เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถผ่านทางน้ำนมเช่นกัน ขณะที่สามีต้องช่วยเป็นกำลังใจในการเลิกดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจากการสอบถามพบว่าหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ดื่มแอลกอฮอล์กับสามีมากกว่า ดื่มกับเพื่อน นอกจากนี้ หญิงที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ มักจะซื้อยาแผนโบราณมาดื่มเพื่อขับประจำเดือน” ภญ.อรทัยกล่าว            
                             
       พญ.ปาฏิโมกข์  พรหมช่วย  นายแพทย์เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น  กล่าวว่า หากแม่ยังมีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง ตั้งแต่แรกเกิดโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก เด็กต้องการการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด   ส่ง ผลให้เกิดความรักความผูกพันต่อผู้เลี้ยงดู แต่หากแม่มีการดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างสม่ำเสมอ ใกล้ชิด ทำให้เด็กขาดความรักความผูกพัน ขณะเดียวกันแม่ที่ดื่มแอลกอฮอล์จะมีอารมณ์ที่ไม่คงที่สม่ำเสมอ ขึ้นๆ ลงๆ   บางครอบครัวมีการทะเลาะเบาะแว้งใช้ความรุนแรง  ทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึมซับพฤติกรรมรุนแรงได้ง่าย นอกจากนี้จากรายงานต่างประเทศพบว่า กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้สารเสพติดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเด็ก เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจะใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์  2-9 เท่า
       
       ด้าน นางจันทร์จิรา เงินนาค อายุ 39 ปี คุณแม่ของน้องโอเว่น อายุ 3 ขวบ ซึ่งมีปัญหาด้านพัฒนาการผิดปกติพูดไม่ได้ สมาธิสั้น บอกเล่าประสบการณ์ตอนตั้งครรภ์น้องโอเว่นว่า  ช่วงที่เริ่มตั้งครรภ์นั้นตนเองมีปัญหาส่วนตัวหลายด้าน  จนเกิดความเครียดและหาทางระบายด้วยการดื่มเหล้าแทบทุกวัน จนถึงขั้นติดเหล้า ซึ่งตอนนั้นไม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์  จน มารู้ภายหลังว่าตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน แต่ช่วงนั้นก็ยังไม่สามารถเลิกดื่มเหล้าได้ทันทีเพราะมีอาการติดเหล้าและยังเครียดอยู่มาก จนกระทั่งคลอดน้องออกมา น้องดูปกติทุกอย่างเหมือนเด็กทั่วไป แต่เมื่อน้องมีอายุได้ 3-4 เดือนเริ่มพบว่า น้องมีพัฒนาการผิดปกติ สังเกตจากที่น้องไม่มองหน้าหรือสบตา เวลาแม่เรียก จนกระทั่งน้องอายุได้ 1 ขวบอาการผิดปกติเริ่มแสดงชัดเจน จึงได้พาไปพบแพทย์และวินิจฉัยว่า น้องเป็นโรคสมาธิสั้น หรือ ออทิสติก  ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ กรรมพันธุ์และปัจจัยเสี่ยงจากการที่แม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือเสพยาเสพติดขณะตั้งครรภ์
       
       “ที่น้องมีพัฒนาการผิดปกติ เกิดจากที่ตัวเองดื่มเหล้าขณะตั้งท้อง เพราะในประวัติตัวเองไม่เคยมีญาติหรือคนในครอบครัวเคยเป็นมาก่อน  อีกทั้งก่อนหน้านี้ตอนตั้งท้องลูกคนแรกซึ่งเป็นพี่ของน้องโอเวน ตอนนั้นไม่ได้ดื่มเหล้าเลย ลูกคนแรกจึงมีภาวะปกติ  รู้สึกเสียใจมาก หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ดื่มเหล้าอย่างเด็ดขาด  จึง อยากฝากเตือนคุณแม่ทุกคนที่กำลังตั้งครรภ์ ให้เลิกดื่มเหล้าเพราะจะส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรงและคนที่จะต้องเสียใจที่สุด คือตัวของเราเอง” นางจันทร์จิรากล่าว

11 สิงหาคม 2554

Next post > สธ.เปิดสายด่วน 1323 และ 1667 บริการปรึกษา คลายเครียดประชาชนฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

< Previous post กรมควบคุมโรคประกาศร่วมเป็นภาคีเครือข่ายมุ่งสู่คุณภาพการดูแลด้านเอชไอวี

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด