ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
วัคซีนหวัดใหญ่เชื้อเป็น ขึ้นทะเบียนครั้งแรกแล้ว อภ.พร้อมผลิตรับการระบาดใหญ่
http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=39966
ทีมวิจัยองค์การเภสัชกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร มหิดลและเกษตรศาสตร์ โดยการสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสถาบันวิจัยจากรัสเซีย ทำการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นสำเร็จ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.เป็นครั้งแรกในไทย และอภ.พร้อมผลิตสำรองไว้ใช้กรณีเกิดการระบาดใหญ่
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เปิดเผยว่าตามที่องค์การเภสัชกรรมได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก(WHO) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นมาตั้งแต่พ.ศ.2552นั้น ขณะนี้ดำเนินการจนสำเร็จได้รับการยอมรับในคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย และประสิทธิภาพ ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อผลิตไว้ใช้ในกรณีที่มีการระบาดใหญ่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่ 12กรกฏาคม 2554
นพ.วิชัย กล่าวต่อไปว่า “สื่อมวลชนคงจะจำได้ว่าเมื่อเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่2009 ดร.อีรีนา นักวิทยาศาสตร์รัสเซีย ได้นำหัวเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่H1N1 (2009) ชนิดเชื้อเป็นมาให้เรา เมื่อ 16 กรกฎาคม 2552 จากที่เราไม่เคยมีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนในไข่ฟักเลย เราใช้เวลาเพียงสองปี และงบประมาณสนับสนุน 150 ล้านบาท จากองค์การอนามัยโลก สสส.และของอภ.เอง รวมทั้งการสนับสนุนในการดำเนินการจากคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จสามารถพัฒนาจนผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009ชนิดเชื้อเป็น พ่นทางจมูก จนกระทั่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ได้ให้การยอมรับในคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัย และประสิทธิภาพ และรับขึ้นทะเบียน อนุญาตให้ผลิตใช้ได้ในกรณีที่มีการระบาดใหญ่ นับเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่เชื้อเป็นตัวแรกที่มีการขึ้นทะเบียนโดยอย.ในประเทศไทย ที่สำคัญคือมีการพัฒนาศักยภาพของนักวิชาการของอภ. และของสถาบันการศึกษาของไทยด้วย ตอนนี้เราก็ผลิตหัวเชื้อ เข้มข้นเอาไว้แล้ว ในจำนวนที่สามารถนำมาผลิตวัคซีนH1N1ได้กว่าหนึ่งแสนโดส ถ้าจำเป็นก็สามารถผลิตใช้ได้ทันที ถือเป็นการเริ่มต้นการสร้างศักยภาพเพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับประเทศไทย”
ด้านนพ. วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมงานอภ. กำลังพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น สายพันธุ์ไข้หวัดนก H5N2ซึ่งสามารถป้องกันไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 อันเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงและยังมีการระบาดประปรายใน อินโดนีเซีย กัมพูชา และอียิปต์ได้ คาดว่าจะเริ่มศึกษาวิจัยในคนได้ภายในสองเดือน หากสำเร็จก็น่าจะขึ้นทะเบียน ได้ภายในสิ้นปี และก็มีการผลิตหัวเชื้อสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็นด้วย พร้อมๆกันนี้ ก็ทำการพัฒนา วัคซีนไข้หวัดใหญ่เชื้อเป็น สายพันธุ์ที่มีการระบาดประจำปี (seasonal live attenuated infuenza vaccine) ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำการผลิตทดลองในคนในช่วงปลายปี และใช้จริงได้ในปี พ.ศ. 2555
“ที่สำคัญคือ รัฐบาลยังได้ลงทุนอีก 1,411.7ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนชนิดเชื้อตาย ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งจะใช้ผลิตวัคซีนเชื้อเป็นได้ด้วย โรงงานนี้คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายเริ่มต้นปีละสองล้านโด๊ส ออกใช้ในประเทศไทยได้ในปลายปีพ.ศ.255ุ6โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการ จากองค์การอนามัยโลก และการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีจากบริษัท คาเคทสุเกน (Kaketsuken)บริษัทผลิตวัคซีนและชีววัตถุอันดับสองของญี่ปุ่น โดยการสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น
คาดว่าในราวปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยก็จะมีศักยภาพที่จะผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทั้งชนิดเชื้อเป็น และเชื้อตาย ที่เพียงพอจะรองรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ไม่ว่าสายพันธุ์ใดก็ได้ในอนาคต และสามารถจะพัฒนา ขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม จนสามารถผลิตเผื่อให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระดับภูมิภาค” นพ.วิทิต กล่าวสรุป
“ผมอยากจะเรียนว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ นอกจากเกิดจากความพยายามขององค์การเภสัชกรรม และการสนับสนุนขององค์กร หน่วยงานต่างๆดังกล่าวมาแล้ว ยังได้รับการสนันสนุน และคำแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ หน่วยงานวิชาการ/วิจัย หน่วยงานพัฒนาและผลิตวัคซีน หน่วยงาน กำกับดูแลควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และหน่วยงานด้านควบคุมโรค ทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อตอบสนองความจำเป็นในการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน ในภาวะฉุกเฉินที่มีการระบาด ใหญ่ของไข้หวัดใหญ่” นพ. วิชัย กล่าวเพิ่มเติม
8 สิงหาคม 2554