logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

สธ. ร่วม WHO และ TUC เฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก

 
 
          กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข (TUC) จัดประชุมเชิงวิชาการเพื่อสร้างเครือข่ายระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) โดยบูรณาการงานห้องปฏิบัติการกับงานระบาดวิทยา ช่วยให้การสอบสวน/ควบคุมโรค รวมทั้งสามารถหยุดยั้งการระบาดได้อย่างทันท่วงที พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรแก่ห้องปฏิบัติการภาครัฐและเอกชนที่ผ่านการประเมินความสามารถห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ
 
          นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงวิชาการโครงการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ (Sentinel Hospital Influenza Surveillance Project Annual Meeting) ณ ห้องแกรนด์ธราทอง โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานตรวจวิเคราะห์ยืนยันทางห้องปฏิบัติการโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดA (H1N1) และศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงระดับชาติและมีขีดความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค องค์การอนามัยโลก จึงแต่งตั้งเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงตรวจวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (RIRL for SEA Reqion) เมื่อวันที่ 22กรกฎาคม 2553และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 14 แห่งที่สามารถให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการสำหรับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิดและซีโรทัยป์ต่างๆ รวมทั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในคนตลอดมา
 

          ในปี 2553 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริม สนับสนับสนุนการพัฒนาห้องปฏิบัติการชันสูตรสาธารณสุขของโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดทั่วประเทศ รวมทั้งห้องปฏิบัติการภาคเอกชนให้สามารถตรวจวิเคราะห์เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โดยปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และบริษัท กรุงเทพ อาร์ไอเอแล็บ จำกัด
 

          อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยวิทยศาสตร์สาธารณสุข และสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นเจ้าภาพหลักสนับสนุนองค์ความรู้ เทคนิควิชาการ การตรวจเยี่ยมและให้คำปรึกษา เพื่อการเตรียม ความพร้อมในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ การจัดส่งตัวอย่างเพื่อประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์การทดสอบความชำนาญ การจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานตรวจวิเคราะห์เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจประเมินห้องปฏิบัติการ เพื่อการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการที่มีการดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติงานทางห้องปฏิบัติการชันสูตรสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข       

           นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก(WHO) และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข (TUC) จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ในการต่อสู้กับโรคไข้หวัดใหญ่ไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อติดตามฤดูการระบาดและการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยมีเครือข่ายโรงพยาบาลกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดำเนินการคัดเลือกและเก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เพื่อศึกษาติดตามการแพร่ระบาดและการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ทำให้ได้ข้อมูลอุบัติการณ์ของตัวเชื้อตามฤดูกาลและการกระจายของตัวเชื้อตามลักษณะภูมิอากาศของแต่ละภาคการดื้อยาที่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุม ป้องกันโรค รวมทั้งการบริหารวัคซีนของประเทศให้เหมาะสมกับคนไทย

           ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดประชุมเชิงวิชาการดังกล่าวขึ้น ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2553 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 140 คน จากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โรงพยาบาลเครือข่ายและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการบูรณาการ การเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการระบาดวิทยาของโรคไขเหวัดใหญ่ การสร้างระบบเตือนภัยไข้หวัดใหญ่ และมีการประเมินโครงการประเด็นของแนวทางการดำเนินงาน วิธีการเก็บและส่งตัวอย่าง  การเก็บรวบรวมข้อมูลทางระบาดวิทยา การวิเคราะห์แปลผลและเผยแพร่ข้อมูล เพื่อเฝ้าระวังและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขกรณีไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งการถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมาเพื่อการพัฒนาระบบเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ได้ทันต่อสถานการณ์ การระบาดของเชื้อในแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ยังได้จัดพิธีมอบใบประกาศนียบัตรแก่ห้องปฏิบัติการที่ผ่านการประเมินความสามารถห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ กลุ่มแรก จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และบริษัท กรุงเทพ อาร์ไอเอแล็บ จำกัด โดยห้องปฏิบัติการทุกแห่งมีผลการประเมินคุณภาพ การตรวจวิเคราะห์เป็นที่ยอมรับ สอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติงานตรวจวิเคราะห์เชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ทางห้องปฏิบัติการชันสูตรสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข
27 ตุลาคม 2553

Next post > “จุรินทร์”สั่งเพิ่มผลิตยาชุดน้ำท่วมอีก 900,000 ชุด เร่งกระจายลงพื้นที่ถึงมือประชาชนเร็วที่สุด

< Previous post กรมสนับสนุนฯสั่งกองวิศวะฯดูแลเครื่องมือแพทย์ชำรุด

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด