ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
Link : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000133708
สธ. เผยทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดกว่า 17.5 ล้านคน มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยชั่วโมงละ 4 คน นอนรักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้น 3 เท่าตัว ได้จัดรณรงค์ “วันหัวใจโลก” สร้างวัฒนธรรมสุขภาพใหม่ สร้างกระแสปรับพฤติกรรมสุขภาพ ใส่ใจ 3 อ. บอกลา 2 ส.
วันนี้ (23 ก.ย.) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ ร่วมกันแถลงข่าวพร้อมเปิดงาน รณรงค์ “วันหัวใจโลก” ปี 2553 ภายใต้ประเด็น “รักษ์หัวใจ ในที่ทำงาน” หรือสากลใช้คำว่า “I Work with Heart” ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2553
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 17.5 ล้านคน ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2558 การเสียชีวิตจากโรคนี้จะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน สำหรับประเทศไทย พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 1 ใน 3 มาโดยตลอด สำหรับปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 35,050 ราย หรือกล่าวได้ว่ามีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยชั่วโมงละ 4 คน ส่วนผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในรอบ 10 ปี (พ.ศ.2542-2551) เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตที่ขาดความสมดุล สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ขาดการใส่ใจดูแล ควบคุม ป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคอ้วน ภาวะเครียด การไม่ออกกำลังกาย บริโภคอาหารเกินไม่ถูกสัดส่วน สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 80 ของโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกัน โดยการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในแต่ละวันให้ลดปัจจัยเสี่ยง ใส่ใจ 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ บอกลา 2 ส. คือ ไม่สูบบุหรี่ และลดดื่มสุรา
กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเสริมสร้างมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ลดภาระโรค และภัยคุกคาม โดยบูรณาการการดำเนินงานทุกหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ทุกมิติอย่างครบวงจร ทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูความพิการที่เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์ไปสู่ประชาชนให้เกิดความตระหนักและสามารถจัดการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้ โดยการสร้างวัฒนธรรมสุขภาพใหม่ ปรับพฤติกรรมสุขภาพ กินพอดี ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเหล้า บุหรี่
ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีการดำเนินโรคที่ใช้เวลานานกว่าจะแสดงอาการให้เห็น ทำให้ผู้ที่เป็นโรคในระยะเริ่มแรกไม่ทราบว่าเป็นโรคแล้ว ประกอบกับไม่ทราบเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเองเพื่อการป้องกันโรค จึงมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสมและขาดความสมดุล ดังนั้น ประชาชนโดยเฉพาะท่านที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไปควรไปตรวจสุขภาพปีละครั้ง เพื่อจะได้ทราบว่าท่านมีความเสี่ยงใด เช่น น้ำหนักเกิน อ้วน น้ำตาลและไขมันในเลือดสูง จะได้ปรับพฤติกรรมลดความเสี่ยงนั้นลง หรือตรวจพบว่าเป็นโรคแล้วจะได้รีบไปรับการรักษา ไม่ปล่อยให้โรครุนแรงมากขึ้นจนเกิดภาวะแทรกซ้อนกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ
การป้องกัน ควบคุมการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างยั่งยืน ควรให้บุคคล ชุมชน และเครือข่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เน้นการสร้างและพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการดำเนินงานในการป้องกันควบคุมโรค การสื่อสารข้อมูลสุขภาพ และสื่อสารความเสี่ยงที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า สมาพันธ์หัวใจโลกและเครือข่ายทั่วโลก ร่วมถึงประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดรณรงค์วันหัวใจโลกมาอย่างต่อเนื่องในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกันยายนของทุกปี ในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2553 กรมควบคุมโรค จึงได้จัด “โครงการรณรงค์สื่อสารป้องกัน ควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด ปี 2553” ขึ้น รวมถึงได้ดำเนินการรณรงค์วันหัวใจโลก ภายใต้ประเด็น “รักษ์หัวใจ ในที่ทำงาน” หรือสากลใช้คำว่า “I Work with Heart” และจัดกิจกรรมที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 23 กันยายน 2553 นี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. โดยในงานมีการจัดนิทรรศการ เสวนาวิชาการการป้องกัน ควบคุม ดูแลโรคหัวใจและหลอดเลือด จัดการคัดกรองประเมินความเสี่ยงพร้อมให้คำแนะนำเป็นรายบุคคล และจัดบูธให้คำปรึกษาเฉพาะด้าน
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านทางช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต วิทยุ และ โทรทัศน์ ได้จัดส่งประเด็นรณรงค์ พร้อมสนับสนุนสื่อต้นแบบ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวีดิทัศน์สารคดีการป้องกัน ควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้หน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศร่วมรณรงค์ในระดับภูมิภาค จะได้เข้าถึงประชาชนในระดับท้องถิ่นให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนตื่นตัว เกิดความเข้าใจ ตระหนักถึงธรรมชาติและความรุนแรงของโรคดังกล่าว รวมถึงวิธีการปรับพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้อง เหมาะสม ช่วยลดปัญหาจากภาระโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือเมื่อเป็นโรคแล้วก็ยังสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
24 กันยายน 2553