logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

อ้วน สั่นสะเทือนโรค+โลก

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000133406

          ใครเลยจะนึกว่า วันหนึ่ง เมืองไทยของเราจะมีข่าวการทุบคอนโด แล้วใช้รถไฮโดรลิกเคลื่อนย้ายคนอ้วนที่ติดอยู่ในห้องนานกว่า 3 ปี ไปส่งโรงพยาบาล เพราะเรื่องราวทำนองดังกล่าว มันน่าจะเป็นข่าวฮาๆ ที่มาจากต่างประเทศมากกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้ข่าวคราวเรื่องความอ้วนในไทย เห็นจะมีแต่เรื่องของการประกวดธิดาช้าง และข่าวอื่นๆ ที่ออกไปทางเรื่องขำๆ มากกว่า
      
          แต่หลังจากนั้นไม่นานข่าวคราวเรื่องของคนที่ป่วยเป็นโรคอ้วนก็ออกมาให้เห็นในสื่อต่างๆ เป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มขายน้ำหวาน น้ำหนัก 300 กิโล หนุ่มใต้จากนครศรีธรรมราช ฯลฯ ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมานั้น น่าจะทำให้ใครหลายคน ต้องหันกลับมามองอย่างจริงจังแล้วว่า แท้แล้วโรคอ้วนไม่ใช่โรคภัยที่อยู่ไกลตัวเราเลย
      
          และไม่นานมานี้ บ้านเราก็ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบอันเกิดจากความอ้วน ที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย ปรากฏว่า ตัวเลขของเม็ดเงินที่ต้องสูญเสียไปกับโรคอ้วนนั้น สูงถึง 2 – 6 เปอร์เซ็นต์ จากงบประมาณทางด้านสาธารณสุขของประเทศ
      
          6 เปอร์เซ็นต์ อาจจะฟังดูไม่มากเท่าไหร่ แต่ถ้าลองคิดมาเป็นตัวเลขกลมๆ ก็จะสูงถึง 12,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับถึงค่าเสียโอกาสอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องของการสาธารณสุขซึ่งก็คงจะมีจำนวนมากไม่แพ้กัน หรือความอ้วน จะกลายเป็นความเลวร้ายโดยสมบูรณ์แบบไปแล้วจริงๆ
      
       ความสูญเสียจากโรคอ้วน
       
       “จากข้อมูลล่าสุด ทุกวันนี้มีคนไทยที่น้ำหนักเกินมาตรฐานถึง 35 – 40 เปอร์เซ็นต์ และเข้าข่ายโรคอ้วนลงพุงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และความสูญเสียที่เนื่องมาจากโรคอ้วนนั้น ติดอันดับ 1 ใน 3 ของสิ่งที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบุหรี่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคอ้วน และในตอนนี้นั้น เข้าใจว่า เรื่องของโรคอ้วนนั้นได้สร้างความเสียหายมากเป็นอันดับ 1 แซงหน้าบุหรี่ไปแล้ว
      
       นายแพทย์ ฆนัท ครุธกูล จากเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่เข้าขั้นน่าเป็นห่วง
      
       “นอกจากนั้นความอ้วนยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง 1.2 – 1.3 เท่า เป็นเพราะว่าความอ้วนนั้น ทำให้ป่วยมากขึ้น ต้องนอนโรงพยาบาลมากขึ้น และมีโรคภาวะแทรกซ้อน โดยในประเทศสหรัฐอเมริการะบุค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรคอ้วนนั้นมากถึง 2 – 6 เปอร์เซ็นต์จากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสุขภาพทั้งหมด ซึ่งของบ้านเรานั้นก็จะน่าจะใกล้เคียงกัน”
      
       ซึ่งสาเหตุอันดับหนึ่งของโรคอ้วน ที่กำลังระบาดในไทยก็คือการบริโภคที่เกินพอดีนั่นเอง โดยเฉพาะกับเด็กวัยกำลังกินกำลังนอน
      
       นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความเห็นว่า ความอ้วนในเด็กนั้น มีอัตราสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยในเด็กประถมศึกษาพบเด็กที่เป็นโรคอ้วนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือในบางสังกัดอาจสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์
      
       “เด็กบางคนปิดเทอมไป น้ำหนักเพิ่มสี่ห้ากิโลกรัม ต้องมาเข้าโรงพยาบาลเพราะกลางคืนนอนหลับไม่ได้ โรงพยาบาลต้องสูญเสีย 1 เตียงเพื่อให้เด็กน้ำหนักลดลง เวลาจะปรับน้ำหนักให้ลดลงต้องใช้เวลาเป็นเดือน ค่าใช้จ่ายต่อวันบวกกับค่าเสียโอกาสอื่นๆ เยอะมาก ถ้าเป็นโรคเรื้อรังอีกก็ยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก”
      
       อย่างไรก็ตาม นพ.สุริยเดว เตือนว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นล่อแหลมและต้องระมัดระวังในการสื่อสารกับสังคม เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อความอ้วนและคนอ้วน และสวิงกลับเป็นโรคกลัวอ้วนหรือ Anorexia Nervosa ซึ่งเริ่มพบมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน
      
       “ในสหรัฐฯ เวลาเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งเป็นโรคกลัวอ้วน เขาต้องนอนโรงพยาบาลแต่ละทีนานกว่าสองสามเดือนด้วยซ้ำไป เพราะโรคกลัวอ้วนเอง ว่าไปแล้วสร้างความสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจหนักกว่าโรคอ้วนอีกครับ รักษายากกว่า เพราะมันเป็นอาการป่วยทางจิต”
      
       เมื่อมีคนเสียก็ต้องมีคนได้
       
       เมื่อความอ้วนกลายเป็นความเลวร้าย สารพัดผลิตภัณฑ์เพื่อลดความอ้วนจึงโผล่เข้ามาในตลาดชุมยิ่งกว่าดอกเห็ดในหน้าฝน ไม่ว่าจะเป็นยาลดความอ้วน, อาหารเสริม, ฝังเข็มลดความอ้วน, กาแฟลดความอ้วน ฯลฯ ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 30,000 – 50,000 ล้านบาทบาทเลยทีเดียว
      
       ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร. ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ นักกลยุทธ์การตลาดชื่อดัง อธิบายปรากฏการณ์ธุรกิจคนอ้วนบูมว่า เป็นเพราะมีงานวิจัยออกมาพอสมควรทีเดียวที่ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยมียอดคนอ้วนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนักการตลาดเองก็มองเห็นช่องทางสร้างรายได้จากคนกลุ่มนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
       
       “ตลาดคนอ้วนโตขึ้นเพราะมี 2 ปัจจัยสนับสนุน อันดับแรกคือมีงานวิจัยจากกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาบอกว่าคนไทย 1 ใน 3 เป็นคนอ้วน สองคือประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีอัตราคนอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผมคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากวัฒนธรรมบริโภคแบบตะวันตก”
      
       โดยนักการตลาดเองก็แบ่งคนอ้วนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน หนึ่งคือกลุ่มที่อ้วนแล้วมีความสุขกับรูปร่างของตนเอง และสองคือกลุ่มที่ไม่พอใจรูปร่างของตนเอง ผศ.ดร.ธีรพันธ์ แจกแจงให้ฟังถึงกลยุทธ์ของนักการตลาดว่า
      
       “กลุ่มที่หนึ่งคือไม่แฮปปี้กับความอ้วนของตัวเอง แล้วอยากจะลด ธุรกิจที่มาซัพพอร์ตกลุ่มนี้ก็คือเรื่องของสถาบันลดความอ้วน ยาลดความอ้วน เทรนด์นี้กำลังมาแรง กลุ่มนี้นักการตลาดก็จะต้องใช้กลยุทธ์ที่อยู่บนความกลัว เรียกว่า เฟียร์ แอพเพียล (fear appeal) พูดถึงปัญหาทำให้กลัวจนต้องลดความอ้วน เช่น กลัวไม่สวย รูปร่างไม่ดี กลัวแล้วเป็นโรคต่างๆ นานา
      
       “อีกกลุ่มหนึ่งคือคนอ้วนที่พึงพอใจในตัวเอง นักการตลาดก็ไม่ได้ละเลยคนกลุ่มนี้ เขาก็คิดว่าจะมีสินค้าอะไรที่ซัพพอร์ตคนกลุ่มนี้ได้บ้าง ก็คือหมวดเสื้อผ้าหน้าผม ทำให้สวยขึ้น ทำให้ดูดีขึ้น แล้วทำอย่างไรให้อ้วนอย่างแข็งแรง ก็มีสถานออกกำลังกายสำหรับคนอ้วน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ลดน้ำหนัก แต่ให้อ้วนแล้วมีสุขภาพดี แล้วก็เป็นพวกอาหารเสริม คือซัพพอร์ตกันไป”
      
       อ้วน? แล้วไง
      
       ใช่ว่าในโลกนี้จะมีแต่คนที่มองความอ้วนเป็นความเลวร้าย แต่ยังมีคนอ้วนอีกหลายต่อหลายคน ที่ยังมองตนเองในแง่บวก และไม่คิดว่าความอ้วนคือปัญหาของชีวิต
      
       ยุรนันท์ นาคอ่อน ชายหนุ่มผู้มีน้ำหนักตัวถึง 110 กิโลกรัมก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
       
       “ผมว่าคนที่น้ำหนักมากนี่น่าจะมีปัญหาแค่เรื่องเสื้อผ้านะ แล้วก็การขึ้นรถเมล์, รถตู้ลำบากเท่านั้นเอง แต่เรื่องของการทำงานนี่ไม่น่ามีปัญหา มันก็ปกติดี เพราะงานที่คนส่วนใหญ่ทำมันไม่ใช่งานหนักที่ใช้แรงอีกต่อไป ถึงต้องใช้แรงจริงๆ ก็น่าจะมีแรงเยอะกว่าคนผอมแห้งนะ ทุกวันนี้ผมปั่นจักรยานไปกลับจากบ้านและที่ทำงานรวมๆ แล้วก็ 40 กิโลฯ แต่ทั้งนี้ผมไม่ได้อยากผอม ก็ยังกินเยอะเหมือนเดิม แต่ผมมาปั่นจักรยานเพื่อหัวใจแข็งแรงขึ้น เหนื่อยยากขึ้นต่างหาก ดังนั้น เราน่าจะภูมิใจในสิ่งที่เราเป็นอยู่ดีกว่านะ”
      
       ยุรนันท์ เชื่อว่า สิ่งที่เราเป็นอยู่นั้น ทำให้เรามีความสุขได้มากพอๆ กับสิ่งที่ค่านิยมของสังคมกำหนดให้เป็น
      
       ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า แท้แล้วความอ้วน เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้กับตัวเรามากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การตลาด ไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่จะมีแต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแต่เพียงมิติเดียวอีกต่อไป     
 

23 กันยายน 2553

Next post > นักกฎหมาย พบ พ.ร.บ.คุ้มครองฯ มีจุดอ่อนหลายประการ

< Previous post การประชุมผู้เชี่ยวชาญโครงการพัฒนา และประเมินประสิทธิผลมาตราการสื่อสาร เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด