สปสช. จับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-เทศบาล ตั้งกองทุนสุขภาพตั้งแต่ปี49 ให้แต่ละชุมชนร่วมกันวางแผนจัดกิจกรรมป้องกันโรค เวียดนามรุกเรียนรู้ความสำเร็จระบบ สปสช. …
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่โรงแรมเชอราตัน ประเทศเวียดนาม มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมประกันสุขภาพอาเซียน (ASSA) ครั้งที่ 26 โดยมี 19 หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ประกันสังคม บำเหน็จบำนาญและประกันสุขภาพจาก 8 ประเทศเข้าร่วม มีนายเหวียน ซิง ฮุง รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเวียดนาม เป็นประธาน โดย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะประธาน ASSA กล่าวเปิดประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเรื่องหลักประกันด้านสุขภาพและหลักประกันด้านการเงิน ซึ่งจะช่วยให้คนไม่มีงานทำและผู้สูงอายุปลดเกษียณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไทยมีตัวแทนจาก 4 องค์กรเข้าร่วมประชุม ได้แก่ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรมบัญชีกลาง และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอเรื่องระบบประกันสุขภาพตำบลต่อที่ประชุม เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในหลักประกันสุขภาพ โดย สปสช. ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเทศบาล จัดตั้งกองทุนสุขภาพตั้งแต่ปี 2549 ให้แต่ละชุมชนร่วมกันวางแผนจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันโรค เช่น ออกกำลังกาย จับกลุ่มเปลี่ยนพฤติกรรมสำหรับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน และจัดกลุ่มผู้หญิงร่วมกันตรวจมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันตั้งกองทุนดังกล่าวไปแล้วกว่า 5,500 แห่งทั่วประเทศ และจะขยายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่กว่า 7,000 แห่งในปี 2554
นพ.วินัยกล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.สนับสนุน กองทุนสุขภาพตำบลปีละ 1,500 ล้านบาท ในอนาคตจะเพิ่มเป็นปีละ 2,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินที่ สปสช. สนับสนุนกับสุขภาพของประชาชน คงไม่สามารถเทียบเป็นจำนวนเงินได้ กองทุนดังกล่าวเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกว่าจะช่วยส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศได้มาก สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติของประเทศไทย นับว่าได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ทั้งองค์การยูเนสโก องค์อนามัยโลก และธนาคารโลก ในการเป็นผู้นำเรื่องการจัดระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ ตน ยังมีโอกาสหารือเรื่องระบบประกันสุขภาพกับนายลี บัก ฮุง รมช.สาธารณสุขเวียดนาม ซึ่งเวียดนามต้องการสร้างระบบประกันสุขภาพเช่นเดียวกับไทย โดยจะส่งคนมาเรียนรู้ที่ไทย.