ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
Link : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000129912
“จุรินทร์” ยัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วยฯ จ่อคิวที่ประชุมสภา ในอันดับ 19 ไม่ถือว่า ล่าช้า เร่งสั่งการปลัด สธ.เรียกประชุม คกก.เสริมสร้างสมานฉันท์ สัปดาห์หน้า ด้านเครือข่ายผู้เสียหายฯ เดินหน้าทวงถามความคืบหน้าการผลักดัน พ.ร.บ.เผยพอใจในคำตอบของ “จุรินทร์” ด้านเครือข่ายผู้รับบริการสาธารณสุข บุกพบประธานวิปหนุน พ.ร.บ.ส่วนเครือข่ายหมอไม่น้อยหน้ายื่น 2 หมื่นรายชื่อเร่งให้ถอน
วันนี้ (15 ก.ย.) จากกรณีที่เครือข่ายคุ้มครอง ประชาชนด้านสาธารณสุข (คปส.) ออกมาให้ข่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการเข้ารับบริการสาธารณุสข พ.ศ….จะไม่ทันสมัยการประชุมสภาในครั้งนี้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าการขยายการคุ้มครองสิทธิ์ให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในมาตรา 41 จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวบรรจจุอยู่ในวาระเร่งด่วนของการประชุมสภาแล้ว ดังนั้น ตนจึงยังเชื่อว่า สามารถจะเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้ ซึ่งการบรรจุเป็นวาระเร่งด่วนในอันดับที่ 19 ไม่ถือว่าล่าช้า และตนยังเชื่ออยู่ว่า พ.ร.บ.ไม่ล้มอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ได้จัดประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข ในสัปดาห์หน้าเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมให้กับทั้งเครือข่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการสาธารณสุข
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายไม่ทันการประชุมสภาในสมัยนี้ จริงๆ จะมีอะไรมาการันตีได้บ้างว่า จะสามารถนำไปสู่การประชุมสภาในสมัยหน้าได้บ้าง นายจุรินทร์ ตอบว่า ขอให้ได้หารือร่วมกันก่อนแล้วจะให้คำตอบได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า การที่เครือข่ายแพทย์ก็ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ……. เพื่อเสนอต่อรัฐสภา ก็ถือเป็นเรื่องดีในการ
ดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกัน เท่ากับว่า ขณะนี้มีการเสนอ พ.ร.บ.เป็นฉบับที่ 8 เพื่อรอเข้าวาระที่ประชุมสภาเช่นกัน ดังนั้น ก็เห็นชัดเจนว่า ความเคลื่อนไหวในการออกกฎหมายใหม่ มีท่าทีของความเป็นไปได้มากกว่าการเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยการขยายกฎหมายตาม มาตรา 41 พ.ร.บ.ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าทั้งหมดจะแจ้งให้ทราบเมื่อ ปลัด สธ.ได้จัดประชุม คกก.เสริมสร้างความสมานฉันท์ ให้แล้วเสร็จก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกัน นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายฯ ได้เดินทางไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ที่งานการเปิดประชุมสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 3 เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ
โดย นางปรียานันท์ กล่าวว่า ตนอยากมาติดตามความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าว ว่า จะมีการเรียกประชุมเมื่อใด ทั้งนี้ คำตอบที่ได้รับจาก รมว.สธ.ที่ระบุว่า จะมีการประชุม คกก.เสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข ทั้งฝ่ายแพทย์ผู้ให้บริการ และฝ่ายผู้ป่วผู้ที่รับบริการสาธารณสุขพร้อมกันนั้นเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้นสมควรที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน เพราะประชาชนทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่ไเด้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ล้วนแล้วแต่ตั้งความหวังและรอคอยการประกาศใช้ พ.ร.บ.เพื่อที่ความเแนธรรมจะได้เกิดกับสังคม
นางปรียานันท์ กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบฯ เข้าประกบจากฝ่ายแพทย์นั้น ตนมีความเห็นว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่อยากขอร้องให้ฝ่ายแพทย์ยอมมาเจรจาร่วมกันเพื่อหาทางออกของปัญหาให้ได้ และเลิกปลุกระดมสังคมให้มาต่อต้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ทั้ง 7 ฉบับที่รอเข้าวาระการประชุมสภาเสียที อย่างไรก็ตาม หาก สธ.ไม่เร่งดำเนินการเพื่อผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ทาง เครือข่าย จะมีการเคลื่อนไหวอีกครั้งเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยคาดว่า อาจจะรวมตัวกันชุมนุมที่หน้ารัฐสภา
วันเดียวกัน เวลาประมาณ 15.00 น.เครือข่ายผู้รับบริการสาธารณสุข อาทิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ฯลฯ นำโดย น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคจำนวน 30 คน เดินทางไปยังรัฐสภา เพื่อเข้าพบประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ในการ เรียกร้องให้สนับสนุนและเร่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายฯ ขณะที่ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้เวลาราว 10.00 น.ตัวแทนสหพันธ์ฯ พร้อมด้วยตัวแทนสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ/รพท.) และตัวแทนจากวิชาชีพรวมราว 10 คน ได้เข้าพบ นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล เพื่อเสนอรายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ฉบับรัฐบาล รวม 25,007 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับรัฐบาล และพิจารณา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบฯ ฉบับหมอเมธี แทน ซึ่ง นายวิทยา ก็ได้รับปากว่า จะนำเรื่องนี้เข้าหารือต่อคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล
16 กันยายน 2553