logo

รหัสโครงการ

11-3-003-2558 (20)

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

สุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล

นักวิจัยร่วม

-

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

งานวิจัยเสร็จสิ้น - 100%

จำนวนผู้เข้าชม: 13450 คน

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2558 08:02

เกี่ยวกับโครงการ

การสูญเสียการได้ยิน (Hearing impairment) เป็นผลกระทบต่อประสาทสัมผัสที่พบบ่อยที่สุดในประชากรทั่วโลกองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่าในปี 2011 (พ.ศ.2554) มีประชากรมากกว่า 360 ล้านคน หรือร้อยละ 5 ของประชากรทั่วโลกที่มีความพิการด้านการสูญเสียการได้ยิน ประเทศไทยประมาณการว่ามีความชุกของคนพิการที่สูญเสียการได้ยินร้อยละ 4-6 ผลกระทบของการสูญเสียการได้ยินคือ ไม่สามารถตีความหมายจากเสียงพูดได้ ความสามารถในการสื่อสารลดลง พัฒนาการด้านภาษาล่าช้า สูญเสียเศรษฐกิจและการศึกษา มีความแปลกแยกจากสังคม รู้สึกมีตราบาป รู้สึกโดดเดี่ยว หงุดหงิดง่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ การฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยการใช้เครื่องช่วยฟัง เป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้สูญเสียการได้ยินสามารถฟัง สื่อสาร และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตประจำวัน นอกจากนี้เครื่องช่วยฟังสามารถช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินสามารถได้ยินมากขึ้นทั้งในสถานการณ์ที่เงียบสงบและมีเสียงดัง ในประเทศไทยผู้พิการทางการได้ยินสามารถรับบริการเครื่องช่วยฟังได้ฟรีตามเงื่อนไขของระบบประกันสุขภาพที่ได้ลงทะเบียนไว้ แต่อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีปัญหาด้านการเข้าถึงบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง เช่น ผู้พิการทางการได้ยินที่ใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดได้รับเครื่องช่วยฟังคิดเป็นร้อยละ 16 เท่านั้น ปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากระบบบริการ อาทิ ข้อจำกัดด้านบุคลากร เช่นนักแก้ไขการได้ยิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต นักโสตสัมผัสวิทยา ซึ่งเป็นผู้ประเมินในการพิจารณาให้เครื่องช่วยฟัง การประเมินและทดลองใส่เครื่องช่วยฟังแต่ละรายใช้เวลานาน การตอบสนองต่อการฟังเสียงไม่เหมือนกัน สถานพยาบาลที่สามารถให้บริการเครื่องช่วยฟังมีจำกัดเฉพาะในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขึ้นไป ทั้งยังเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เกณฑ์การเบิกจ่ายมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 13,500 บาทต่อราย สูงกว่าอุปกรณ์สำหรับคนพิการอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบปัญหาเกี่ยวกับระบบการบริการหลังการให้เครื่องช่วยฟัง เช่น สถานที่ซ่อมกรณีเครื่องชำรุด การแก้ไขเนื่องจากเครื่องไม่พอดีกับหูต้องใช้เวลานาน เงื่อนไขของระบบประกันสุขภาพที่มีข้อจำกัดไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ หรือปัญหาที่เกิดจากผู้ใช้ เช่น ไม่เข้ารับการติดตาม (follow up) ใช้เครื่องไม่เป็น ใช้แบตเตอรี่ผิดประเภท และสาเหตุอีกประการหนึ่งคือแบตเตอรี่สำหรับเครื่องช่วยฟังที่ค่อนข้างมีราคาแพง และมีอายุการใช้งานที่สั้นทำให้ผู้ใช้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากและไม่สามารถเบิกได้ในระบบหลักประกันสุขภาพทั้งสามสิทธิ์ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจนำมาสู่การไม่ใช้เครื่องช่วยฟังได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสูญเสียงบประมาณมหาศาลเนื่องจากเครื่องช่วยเป็นอุปกรณ์ที่มีราคา การศึกษานี้จึงมุ่งเน้นทำการศึกษาระบบบริการภายหลังจากได้รับเครื่องช่วยฟัง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้เครื่องช่วยฟัง รวมถึงภาระงบประมาณหากภาครัฐต้องสนับสนุนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

เอกสารเพิ่มเติม

โครงร่างวิจัย

กิจกรรมและความเคลื่อนไหว