logo

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
E^2U ฝ่ายวิจัยภายใต้ HITAP สร้างทางเลือก ‘นโยบายสุขภาพ’ บนความสัมพันธ์ ‘สวล.-ศก.’

โลกใบเดิมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อกลางปี 2566 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) สำรวจพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยซีกโลกเหนือร้อนที่สุดในรอบ 170 ปี และหากเทียบเคียงกับ 25 ปีก่อน ขณะนี้น้ำแข็งละลายไวขึ้นมากถึง 6-7 เท่าตัว

อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ประกาศว่า ยุคโลกร้อน (Global warming) ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุค ‘โลกเดือด’ (Global Boiling) แทน และเข็มนาฬิกาใน Carbon Clock ชี้ว่า ‘มนุษย์เหลือเวลาอีกราว 5 ปี’ ที่จะแก้วิกฤตการณ์โลกเดือดเพื่อไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นแตะ 1.5 องศาเซลเซียส มิฉะนั้น โลกจะเข้าสู่จุดพลิกผันด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate tipping points) ที่จะไม่สามารถหวนคืนไปแก้ไขได้ ซึ่งหมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอย่างจะเปลี่ยนไป และโลกใบนี้จะกลายเป็นสิ่งแปลกหน้าที่เราไม่เคยรู้จัก

แม้ว่าทุกวันนี้จะยังเดินไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมจะไม่เหมือนเดิมสักเท่าใดนัก โดยเฉพาะ ‘ปัญหาสุขภาพ’ และ ‘ระบบสุขภาพ’ ที่เปราะบางลง อันเป็นผลพวงจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อครั้งการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อปลายปี 2564 นานาประเทศรวมถึง ‘ประเทศไทย’ ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายสองข้อ คือ สร้างระบบสุขภาพเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของคาร์บอน และสร้างระบบสุขภาพที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงสาธารณสุขได้เห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงได้ริเริ่มนโยบาย Smart Energy climate Action (SECA) เพื่อบรรลุเป้าหมายของอนุสัญญาสหประชาชาติในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แน่นอน หากต้องการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยจำเป็นต้องออกแบบการสร้างระบบสุขภาพที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในระดับนโยบาย ซึ่ง ‘หลักฐานที่เชื่อถือได้’ จะเป็นสิ่งที่สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาล ด้วยเหตุผลนี้ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จึงได้จัดตั้งฝ่ายใหม่ขึ้นมาสานภารกิจนี้ โดยมีชื่อว่าฝ่าย ‘เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม’ (Environmental Economic Unit: E2U) 

Sarin K C หัวหน้าฝ่าย E2U อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาล และต้นทุน-ค่าเสียโอกาสจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งหมายถึง ‘การสูญเสีย’ ทางเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม ในทางกลับกัน กิจกรรมทางสุขภาพของมนุษย์ ก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตและขนส่งยาและเวชภัณฑ์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก การเดินทางไปกลับสถานพยาบาลก็เช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินงานของ E2U จะช่วยเสนอวิธีการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม นำไปสู่การลดอัตราการเสียชีวิต และอัตราการเจ็บป่วยได้ พร้อมกับช่วยให้ระบบสุขภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยใช้ข้อมูลวิชาการเข้ามาช่วยออกแบบและก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนให้มีความพร้อมและรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

Sarin KC ได้ร่วมเป็นวิทยากรในงานประชุม Priorities 2024 ภายใต้หัวข้อ “Greening Our Health: Prioritizing Environmental Sustainability” ซึ่งมุ่งเน้นถึงการรวมการปฏิบัติที่ยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเข้ากับระบบการดูแลสุขภาพเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ฉะนั้น E2U ซึ่งเป็นฝ่ายหนึ่งภายใต้ HITAP จะเข้ามาทำหน้าที่เป็น ‘สะพานเชื่อม’ ระหว่างมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับระบบสุขภาพ โดย E2U จะสนับสนุนให้เกิดการใช้ ‘ข้อมูล’ และ ‘หลักฐานที่ชัดเจน’ และจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างช่องว่างนั้น ผ่านการทำงานร่วมกันและการให้ข้อมูลหลักฐานแก่ผู้กำหนดนโยบายสำหรับภารกิจของ E2U นั้น สอดคล้องกับเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้ได้ภายในปี 2050 และสอดคล้องเป้าหมายจากการประชุม COP26 ที่จะเน้นในสองด้านหลัก คือ

1. ศึกษาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ (Climate resilience)

2. ประเมินผละกระทบจากการปลดปล่อยคาร์บอนจากระบบสุขภาพต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น การให้บริการในโรงพยาบาล การผลิตยา การขนส่งยา (Carbon resilience)

ฉะนั้น สิ่งที่ E2U จะขับเคลื่อนให้เกิด คือการจัดทำ 1. ข้อเสนอแนวทางนโยบายการปรับตัว (Adaptation Policy) ที่จะทำให้ระบบสุขภาพสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมได้ เพราะแม้ว่าจะไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่สามารถทำให้ระบบสุขภาพสามารถปรับตัวเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ 2. ข้อเสนอนโยบายการลดผลกระทบ (Mitigation Policy) โดยจะเสนอแนวทางการแก้ไขที่มีกฎหมายรองรับ เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่

ทีมวิจัยดำเนินงานเก็บข้อมูลต้นทุนการให้บริการ ภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ณ จังหวัดเพชรบุรี

นอกจากนี้ กรอบการทำงานของ E2U ยังมุ่งสู่การศึกษา ‘จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ’ และ ‘งบประมาณที่จะต้องใช้ในการดำเนินงาน’ รวมถึงศึกษาว่าระบบสุขภาพมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ ผ่านการศึกษา ‘วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์หรือการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์’ ทั้งหมด เช่น การพัฒนายา การขนส่งไปยังผู้ป่วย และโรงพยาบาล การให้บริการการรักษา โดยผนวกทั้งสองเรื่องรวมเข้าด้วยกันภายใต้แนวคิดการประเมินผลเทคโนโลยีด้านสุขภาพสีเขียว หรือ ‘Green HTA’ ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่สำหรับการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมประกอบกับการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในระบบสุขภาพอย่างถี่ถ้วน

Sarin K C เล่าอีกว่า ยังมีโครงการที่ได้ดำเนินงานตามกรอบการประเมินการปลดปล่อยคาร์บอนในระบบสุขภาพ คือ ‘การศึกษาว่าระบบสุขภาพของไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากน้อยเพียงใด’ โดยโครงการนี้เป็นโครงการนำร่องจากโรงพยาบาลทุกระดับ ประกอบด้วยระดับปฐมภูมิ ระดับทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิ จำนวน 10 แห่ง เพื่อประเมินการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายหลายประการ รวมถึงการขาดข้อมูลและความรู้ในการเก็บรวบรวมและประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในเชิงจำนวนตัวอย่างโรงพยาบาล ทำให้ค่าการปลดปล่อยคาร์บอนในการศึกษาดังกล่าว ยังไม่สามารถเป็นตัวแทนของการปล่อยคาร์บอนในภาคการสาธารณสุขระดับประเทศได้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีแนวทาง หรือวิธีการที่ชัดเจน สำหรับการประเมินการปล่อยคาร์บอนในระบบสาธารณสุขไทย

ปัจจุบัน E2U ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายใต้นโยบาย SECA และพันธมิตรระหว่างประเทศ นั่นคือ Health Care Without Harm (HCWH) โดยคาดว่าจะสามารถ ‘การสร้างระบบฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงพยาบาลในประเทศไทย’ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงพยาบาลภายใต้สังกัด สธ. จำนวน 903 แห่ง และสนับสนุนให้มีการบันทึกข้อมูลการใช้ทรัพยากรในแต่ละกิจกรรมของโรงพยาบาล โดยโปรแกรมจะแสดงผลเป็นค่าการปลดปล่อยคาร์บอน (kg CO2eq) ในภาพรวมของระบบสาธารณสุขไทย คาดหวังว่าโครงการนำร่องนี้จะสำเร็จตามเป้าหมายและสามารถขยายการศึกษาไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ในอนาคต และสุดท้ายคือโครงการ ‘Green HTA’ ที่ E2U จะพยายามพัฒนาแนวทางในการทำงานด้านนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ E2U วางแผนที่จะศึกษามาตรการต่างๆที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การใช้บริการแพทย์ทางไกลและการลดปริมาณคาร์บอนที่สามารถทำได้โดยไม่ลดคุณภาพของบริการสุขภาพนอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานและแนวทางสำหรับระบบสาธารณสุขไทยเกี่ยวกับการปฏิบัติงานอย่างยั่งยืน การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ HITAP จับมือกับผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ เช่น Health Care Without Harm (HCWH) และ WHO-led Alliance for Transformative Action for Climate and Health (ATACH) เพื่อสร้างแผนกลยุทธ์เพื่อลดผลกระทบของภาคสาธารณสุขต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

อีกทั้ง ยังวางแผนที่จะเสริมสร้างความสามารถให้กับบุคลากรด้านสุขภาพไทยในการ 1) ประเมินและรายงานการปล่อยก๊าซ 2) ระบุและปรับเปลี่ยนหลักการปฏิบัติงานทางคลินิกและการให้บริการด้านสุขภาพเพื่อให้บรรลุผลประโยชน์ร่วม เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดค่าใช้จ่าย และการปรับปรุงสุขภาพของประชาชน จนนำไปสู่การจัดการกับปัญหามลพิษทางอย่างยั่งยืน ย่อมนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

19 กรกฎาคม 2567

Next post > หลักสูตร Data Workshop เปลี่ยนข้อมูลแสนธรรมดา ให้สร้างผลลัพธ์อย่างมหาศาล

< Previous post ลบล้างความเชื่อ ‘พ่อ-แม่’ ฤกษ์คลอดที่ดีที่สุดต่อ ‘สุขภาพลูกน้อย’ คือฤกษ์ ‘คลอดตามธรรมชาติ’

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ