logo

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ข้อเสนอผ่าทางตัน ‘สังคมสูงวัย-เด็กเกิดน้อย’ ปรับกลไกการเงิน-ลดผ่าคลอดไม่จำเป็น

สังคมสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร สัมพันธ์โดยตรงกับทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ ‘เด็กเกิดน้อย’ อันจะนำไปสู่ปัญหาขาดแคลนกำลังคนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ช่วงปลายปี 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ฉายภาพขนาดของปัญหาเอาไว้ว่า หากนับย้อนหลังไปราว 20 ปี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พบว่าจำนวน ‘เด็กและแรงงาน’ ไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับสัดส่วนของ ‘ผู้สูงอายุ’ จะเพิ่มขึ้น และในปี 2564 ถือเป็นครั้งแรกที่มีอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด

 

สภาพัฒน์ฯ ชี้ประเด็นว่า การขาดแคลนวัยแรงงานจะนำไปสู่ความท้าทายทางการคลัง เนื่องจากในอนาคตรัฐจะจัดเก็บภาษีได้น้อยลง โดยหนึ่งในทางออกคือ “ต้องสร้างรากฐานที่ดีตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต” ที่จะมีผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ ‘การคลอด’

การตัดสินใจเลือกที่จะ ‘คลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ’ ถือเป็นของขวัญชิ้นแรกเพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงที่แม่สามารถมอบให้กับลูกได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ และจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยหนุนเสริมให้ลูกเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพไปตลอดช่วงชีวิต

แตกต่างกับการ ‘ผ่าตัดคลอดโดยไม่มีความจำเป็น’ ซึ่งในทางการแพทย์นั้น จะส่งผลเสียต่อทั้งตัวแม่และลูกน้อยในระยะสั้นและระยะยาว ทว่าสถานการณ์ในประเทศไทย กลับมีแม่ที่ตัดสินใจเลือกผ่าตัดคลอดบุตรมากถึง 40% ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอัตราการผ่าตัดคลอดบุตรที่เหมาะสมไว้เพียง 15% เท่านั้น

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากแต่การตัดสินใจเลือก ‘ผ่าตัดคลอดบุตร’ อาจนำมาสู่ความเสี่ยงและผลเสียทางสุขภาพต่อตัวแม่ คืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น การเสียเลือด การติดเชื้อ ภาวะรกเกาะตัวแน่น รวมถึงลดความสำเร็จในการเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่ ส่วนทารกที่เกิดจากการผ่าตัดคลอดบุตร อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งผลกระทบต่อพัฒนาการในการเจริญเติบโต

ในระดับประเทศ การตัดสินใจเลือกผ่าตัดคลอดบุตรที่เพิ่มมากขึ้น แปรผันตรงกับงบประมาณที่ต้องสูญเสียเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเสียโอกาสในการปฏิบัติงานของบุคลากรในห้องผ่าตัด และการใช้ห้องผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินในระบบสุขภาพอีกด้วย

ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับ ‘การคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ’ ที่แม่สามารถฟื้นตัวหลังคลอดได้เร็ว เสียเลือดและเจ็บแผลน้อยกว่า อีกทั้งยังสามารถให้นมลูกได้ทันที รวมถึงลูกได้รับจุลินทรีย์สุขภาพที่ช่วยเสริม ภูมิต้านทานตั้งต้นผ่านช่องคลอด ทำให้ภูมิต้านทานดี ไม่เจ็บป่วยง่าย และค่าใช้จ่ายไม่สูง

ที่สำคัญก็คือ การคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติจะเพิ่มโอกาสให้แม่สามารถกำเนิดบุตรคนต่อๆ ไปได้มากกว่าการผ่าตัดคลอด ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีและสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการมีบุตร แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยของรัฐบาลด้วย

แต่กระนั้นก็ตาม จากการศึกษาและประมวลผลของ WHO กลับพบว่าทั่วโลกมีอัตราการผ่าตัดคลอดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่ดี และในประเทศไทยก็เป็นเช่นนั้น

ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2566 ระบุว่า อัตราการผ่าตัดคลอดในสถานพยาบาลรัฐอยู่ที่ 30 – 50% ขณะที่ข้อมูลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบุว่า มีหญิงไทยรับบริการผ่าคลอดอยู่ที่ 35% ซึ่งทั้ง 2 ส่วนสูงกว่าอัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมที่ WHO กำหนดไว้คือ 15%

ที่ผ่านมาประเทศไทยจึงมีความพยายามทดลองใช้มาตรการในหลายด้าน เพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น แต่ก็ยังไม่บรรลุผล

ล่าสุด คณะนักวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่ได้ทำการศึกษาเรื่อง “ข้อเสนอการปรับเปลี่ยนการเบิกจ่ายเงิน กรณีคลอดบุตรให้แก่โรงพยาบาล เพื่อลดอัตราการผ่าตัดคลอดบุตรที่ไม่จำเป็นและส่งเสริมการมีบุตรในประเทศไทย” เพื่อเสนอทางออกของปัญหาด้วยข้อมูลวิชาการ พร้อมกับสนับสนุนนโยบายการส่งเสริมการมีบุตรในประเทศไทยไปในตัว

สำหรับสาระสำคัญของผลการศึกษาระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาลไม่มีแรงจูงใจในการแก้ไขปัญหาการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น คือ ต้นทุนและอัตราการเบิกจ่ายที่ ‘สูงกว่า’ กว่ากันเกือบ 3 เท่าตัว

กล่าวคือ ต้นทุนการผ่าตัดคลอดเฉลี่ยอยู่ที่ 1.13 หมื่นบาทต่อคนต่อครั้ง ขณะที่ต้นทุนการคลอดทางช่องคลอดเฉลี่ยเพียง 3,970 บาทต่อคนต่อครั้งเท่านั้น ซึ่งเมื่อมีการคำนวณแล้ว หากมีการปรับเปลี่ยนอัตราการเบิกจ่ายค่าผ่าตัดคลอด และคลอดเองตามธรรมชาติ ‘ให้เท่ากัน’ คือ 7,000 บาทต่อคนต่อครั้ง จะช่วยจูงใจให้โรงพยาบาลแก้ไขปัญหาการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นได้

เพราะหากยึดอัตราการเบิกจ่ายในราคานี้ โรงพยาบาลที่สามารถลดการผ่าตัดคลอดลงได้ ‘ต่ำกว่า’  40% ของการคลอดบุตรทั้งหมด ก็จะมีกำไร คือได้ส่วนต่างของงบประมาณเพื่อนำไปใช้ปรับปรุงบริการและเพิ่มจำนวนบุคลากรให้ห้องคลอดได้มากยิ่งขึ้น แต่หากโรงพยาบาลมีอัตราการผ่าตัดคลอด 40% ก็จะได้รับงบประมาณ ‘เท่ากับต้นทุน’ ของการให้บริการ

ตัวอย่างเช่น ถ้าโรงพยาบาลมีการให้บริการคลอดบุตรปีละ 1,000 ราย โดยมีอัตราผ่าตัดคลอดอยู่ที่ 40% ทางโรงพยาบาลก็จะมีต้นทุนรวม (การคลอดทางช่องคลอด + การผ่าตัดคลอด) อยู่ที่ 6,902,000 บาท แต่สามารถเบิกจ่ายได้ 7 ล้านบาท ซึ่งแปลว่าจะได้รับส่วนต่างระหว่างงบประมาณที่เบิกได้เพียง 9.8 หมื่นบาท

แต่ถ้าโรงพยาบาลสามารถลดอัตราการผ่าตัดคลอดลงเหลือเพียง 20% ของการคลอดบุตรทั้งหมด ทางโรงพยาบาลก็จะมีต้นทุนรวม (การคลอดทางช่องคลอด + การผ่าตัดคลอด) อยู่ที่ 5,436,000 บาท นั่นหมายความว่า โรงพยาบาลจะได้รับส่วนต่างระหว่างงบประมาณที่เบิกได้ถึง 1,564,000 บาท

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนอัตราเบิกจ่ายจึงควรเป็นหนึ่งในหลายมาตรการที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดสภาวะแวดล้อมด้านบวกต่อการปฏิบัติงานของสูติแพทย์ที่ต้องการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นในประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารก และยังช่วยส่งเสริมการมีบุตรในประเทศไทยได้อีกด้วย

ทว่า อาจมีข้อยกเว้นกรณีหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงสูง และกรณีผ่าตัดคลอดในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการส่งต่อจากโรงพยาบาลอื่นให้เบิกจ่ายในอัตราเดิม

ข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยชิ้นนี้ จะช่วยให้รัฐบาลมีเครื่องมือในการสร้าง ‘กำลังคน’ ที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนประเทศ เป็นทางออกคู่ขนานควบคู่กับการส่งเสริมการมีบุตร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดเน้นของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ข้อเสียของการผ่าตัดคลอดบุตร

  • ค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากการผ่าคลอด เป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องอาศัยความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์ที่เพิ่มค่าใช้จ่ายสูง
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการตายและภาวะทุพพลภาพต่อมารดา ซึ่งมีอัตราการตายโดยรวมสูงกว่าการทำคลอดทางช่องคลอด
  • มีความเสี่ยงต่อการเสียเลือดมากกว่า
  • มีความเสี่ยงต่อการดมยาสลบมากกว่า
  • ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลนานกว่า
  • ไม่สามารถให้นมบุตรได้ทันทีหลังคลอด ส่งผลต่อระยะเวลาในการเริ่มให้นมบุตรที่ช้าออกไป
  • การนัดหมายมาผ่าตัดเพิ่มโอกาสทารกคลอดก่อนกำหนด และ RDS (Respiratory Distress Syndrome)
  • มีอาการเจ็บปวดทางด้านร่างกาย และมีอาการปวดหลังคลอดนาน
  • มีรอยแผลเป็นที่หน้าท้อง ซึ่งมากกว่าแผลฝีเย็บ
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัดสูงกว่า เช่น ไข้ ติดเชื้อ ลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น
  • การผ่าตัดในท้องต่อไปสูงกว่า และยากกว่า เสี่ยงต่อมดลูกแตกในครรภ์ต่อไป โดยเฉพาะการผ่าท้องคลอดก่อน 2 ครั้ง มีความเสี่ยงต่อการมีมดลูกแตกเป็น 5 เท่าของการผ่าตัดมาเพียงครั้งเดียว
  • เพิ่มภาวะแทรกซ้อนต่อครรภ์ต่อไปหลายประการ เช่น รกเกาะต่ำ รกติด ตกเลือดหลังคลอด
21 สิงหาคม 2567

< Previous post หลักสูตร Data Workshop เปลี่ยนข้อมูลแสนธรรมดา ให้สร้างผลลัพธ์อย่างมหาศาล

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ