logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เลิกเหล้าได้ ไม่ต้องรอเข้าพรรษา naltrexone และ acamprosate ยาเลิกเหล้าที่เราถามหา

naltrexone และ acamprosate ยาเลิกเหล้าที่เราถามหา

ในภาพรวมของสุขภาพโลก ปัญหาการติดสุราเป็นปัญหาใหญ่ที่กระจายไปยังทุกพื้นที่ เป็นเหมือนเงาที่ติดตามตัวคนไปทุกหนทุกแห่ง ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว การสูญเสียทรัพยากรมนุษย์และเงินทองก็เกิดจากสิ่งนี้ ประเทศไทยก็พบกับปัญหานี้เช่นกัน และมีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะคืนชีวิตให้แก่ผู้ที่พังทลายจากการติดสุรา

ในการที่จะช่วยเหลือผู้ติดสุรา การใช้ยาเลิกเหล้าที่มีประสิทธิผลเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ยาเลิกเหล้ามีหลายชนิด แต่จนถึงตอนนี้ ผู้ติดสุราไทยสามารถเข้าถึงได้เพียงชนิดเดียว คือ disulfiram ซึ่งมีผลข้างเคียงมากเมื่อเทียบกับยาเลิกเหล้าชนิดอื่น ได้แก่ naltrexone และ acamprosate ซึ่งมีการใช้ในต่างประเทศมานาน

ในสถิติที่ผ่านมาของไทย ประชากรไทยจำนวนมากต้องต่อสู้กับการติดสุราซึ่งเป็นภาวะที่ทำลายสุขภาพ กัดกร่อนสุขภาวะทั้งร่างกายและจิตใจ และทำลายโครงสร้างของสังคม การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องทำอย่างรอบคอบ และ สร้างสรรค์ และหากได้นำตัวยาทั้ง  2 ชนิด ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก จะทำให้การฟื้นฟูสังคมจากปัญหาการติดสุราก้าวกระโดดและยั่งยืน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยควรได้เข้าถึงยาทั้ง  2 ชนิดนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อสังคมของแอลกอฮอล์

รู้จัก naltrexone และ acamprosate และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

naltrexone และ acamprosate มีประโยชน์อย่างมากผ่านหลักฐานข้อมูลทางคลินิก งานวิจัย และความสำเร็จในการใช้เป็นทางเลือกในการรักษา และมันอาจจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวยา แต่เป็นความหวัง เป็นทางที่ทำให้ผู้ติดสุราพบทางออก ช่วยเสริมพลังให้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ได้

naltrexone และ acamprosate มีการใช้ในวงกว้างทั่วโลกในการบำบัดอาการติดสุรา โดยตัวยา naltrexone มีผลลดความอยากดื่มและความพอใจที่ได้รับจากการดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่ยา acamprosate ออกฤทธิ์กับสารสื่อประสาท แต่ยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่ช่วยให้เลิกเหล้าชัดเจน ยาทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิผลดี ผลข้างเคียงต่ำ ทั้งยังมีหลักฐานชัดเจนว่ามีประสิทธิผลดีในการป้องกันการกลับไปดื่มซ้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในการบำบัดการติดสุราอย่างยั่งยืน เมื่อเทียบกันแล้ว ยา disulfuram เป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูง หากกินยานี้แล้วไปดื่มสุรา จะทำให้เกิดความรู้สึกไม่สุขสบาย เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก จนไม่อยากดื่มสุราอีก แต่กลับพบว่าผู้ติดสุราที่ใช้ยา disulfuram ที่เลิกสุราได้แล้ว มีอัตราการกลับไปดื่มสุราสูง

ด้วยเหตุนี้ ในต่างประเทศที่มีทางเลือกยาเลิกเหล้า เช่น สหรัฐอเมริกา จึงแนะนำให้ใช้ naltrexone และ acamprosate ก่อนในการบำบัดการติดสุรา และใช้ disulfuram เฉพาะในกรณีที่ยาทั้ง 2 ชนิดไม่ได้ผล หรือในผู้ที่ติดสุราระดับปานกลางถึงมากเท่านั้น โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ งานวิจัยโดย HITAP ยังพบว่า naltrexone และ acamprosate คุ้มค่ากว่าการบำบัดทางจิตสังคมเพียงอย่างเดียว และการบำบัดทางจิตสังคมร่วมกับการใช้ disulfuram

ปัญหาในการเข้าถึงยา naltrexone และ acamprosate เกิดจากการที่ยังไม่มีการนำเข้าหรือขึ้นทะเบียนยาทั้ง 2 ชนิดนี้ในประเทศไทย ทั้งที่ในปัจจุบัน ยาทั้ง 2 ชนิดได้รับการบรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว แต่ก็ถือเป็นยากำพร้า คือ มีปัญหาในการจัดหาจัดซื้อหรือมีการใช้น้อย ดังนั้น ควรมีการสื่อสารและส่งเสริมให้บริษัทยาขึ้นทะเบียนและนำเข้ายาทั้ง 2 ชนิด พร้อมกันนั้นเนื่องจากในประเทศไทยทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้ติดสุราและญาติไม่คุ้นเคยกับยาทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการใช้จริง มีปริมาณการใช้สูง นำไปสู่ความสามารถในการต่อรองเพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ยาทั้ง 2 ชนิดได้ในราคาที่เหมาะสม จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการใช้ยาได้ในประเทศไทย และทำให้ผู้ที่ต้องการเข้าสู่การรักษาสามารถเข้าถึงยาเหล่านี้ที่อาจเป็นความหวังใหม่ของผู้ติดสุราได้ง่ายขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.thecoverage.info/news/content/1310

http://www.1413.in.th/contents/view/47

https://www.hitap.net/wp-content/uploads/2022/06/Meeting-summary_EE-medication_Alcohol.pdf

https://www.hitap.net/research/183655

5 ตุลาคม 2566

Next post > ลบล้างความเชื่อ ‘พ่อ-แม่’ ฤกษ์คลอดที่ดีที่สุดต่อ ‘สุขภาพลูกน้อย’ คือฤกษ์ ‘คลอดตามธรรมชาติ’

< Previous post หาหมอที่บ้าน หยุดโรค (โลก) ร้อน ระบบสาธารณสุข การเดินทางไปหาหมอ เรากำลังทำโลกร้อนอยู่หรือเปล่า?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ