15 ปี HITAP 15 การทำงานเด่น (part2) 5 ผลงานการพัฒนาระบบสุขภาพ
วันที่ 20 ตุลาคมถือเป็นวันการดูแลสุขภาพอิงหลักฐานโลก หรือ World evidence-base healthcare day ที่มีขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์กับเรื่องของการดูแลสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของ HITAP ที่สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายด้วยข้อมูลหลักฐานที่เชื่อถือได้เพื่อระบบที่ดีขึ้น HITAP จึงขอใช้โอกาสนี้ฉลองการครบรอบ 15 ปีของการทำงานของ HITAP ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาของระบบสุขภาพ HITAP อยากขอชวนมองย้อนการทำงานที่ผ่านมาผ่านชีรีส์ 15 ปี 15 ผลงานเด่นของที่ HITAP ภูมิใจ
ต่อไปนี้คือ 5 ผลงานของ HITAP ด้านการพัฒนาระบบสุขภาพที่น่าสนใจ ผู้ที่สนใจสามารถอ่าน blog ซีรีส์ตอนแรก “ผลงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อคนไทยทุกคน” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/184945
- บัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อยาจำเป็นให้คนไทยเข้าถึงได้ฟรี ในงบประมาณที่เหมาะสมของประเทศ
HITAP มีส่วนงานสำคัญหนึ่งคือการทำงานร่วมกับคณะกรรมบัญชียาหลักแห่งชาติ ในการพิจารณาคัดเลือกยาใหม่ ๆ เข้าเพื่อในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยคนไทยจะสามารถเข้าถึงยาเหล่านี้ในฐานะยาจำเป็นได้ฟรี ที่ผ่านมา HITAP ช่วยศึกษาเรื่องยาใหม่ ๆ ทั้งในด้านความปลอดภัย ประสิทธิผล ต้นทุนและความเป็นไปได้ในการใช้ยาเหล่านี้ ให้ข้อมูลสำคัญที่สามารถใช้ในการต่อรองราคายาได้ โดยคาดว่าข้อมูลนี้ช่วยให้คณะทำงานต่อรองราคาหารือกับผู้ขายยา และช่วยประหยัดงบประมาณสาธารณสุขในส่วนนี้ไปได้หลายพันล้านบาท และช่วยให้คนไทยเข้าถึงยาที่มีราคาแพง มีความปลอดภัยในการใช้ได้มาก และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV
HITAP มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อ HPV ในราคาที่คุ้มค่า โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นจากการศึกษาประเมินวัคซีนนี้ตั้งแต่ต้องฉีด 3 เข็มที่ราคาสูงกว่า 10,000 บาทต่อคน และพบว่าไม่มีความคุ้มค่า ข้อมูลมีส่วนสนับสนุนการต่อรองราคาให้บริษัทผู้ผลิตลดราคาจนราคาค่าฉีดวัคซีนเหลือเพียง 100 บาทเศษต่อเข็ม และฉีดเพียง 1-2 เข็ม โดยที่ประโยชน์ได้ยังคงเท่าเดิม จนกลายเป็นหนึ่งในวัคซีนฟรีสำหรับนักเรียนหญิงในประเทศไทยทั้งประเทศ
- การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อให้เห็นแนวโน้มการใช้บริการสุขภาพช่วงโควิด-19
HITAP วิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เพื่อหาแนวโน้มการใช้บริการสุขภาพในช่วงที่โควิด-19 ระบาด และค้นหาจุดที่ยังสามารถเติมและพัฒนาได้ในระบบบริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทย โดยทำในหลากหลายประเด็นตั้งแต่ การผ่าคลอด การใช้บริการของผู้ป่วยใน กลุ่มเสี่ยงที่อาจมองไม่เห็นในช่วงการระบาดที่ผ่านมา จนถึงประเด็นด้านสุขภาพจิตของผู้คนในช่วงโควิด-19 และอื่น ๆ อีกมากมาย เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป
- พัฒนาระบบสุขภาพร่วมกับ 30 ประเทศทั่วโลก
หลายประเทศทั่วโลกมีความต้องการที่จะสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage, UHC) ในประเทศ รวมถึงใช้การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (health technology assessment, HTA) ในการสนับสนุนกระบวนการทำงานของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า HITAP ในฐานะหนึ่งในหน่วยวิจัยด้าน HTA จำนวนไม่มากในประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง เราได้แบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ในการทำ HTA เพื่อสนับสนุน UHC สร้างเครือข่ายการวิจัย เสริมศักยภาพด้านการวิจัยในหลายประเทศ อาทิ เคนย่า ภูฐาน และฟิลิปปินส์ ที่ผ่านมามี HITAP ทำงานด้านต่างประเทศมาต่อเนื่องแล้วถึง 10 ปี ในประเทศเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีผลการทำงานน่าสนใจเกิดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายสนับสนุนการใช้ HTA ในการกำหนดนโยบายสุขภาพแล้ว
- Digital health อนาคตของระบบสุขภาพ
เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในแวดวงสุขภาพมากขึ้น HITAP มีส่วนร่วมวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับ digital health มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ระบบการติดตามผู้ป่วยทางไกล (telemedicine) ไปจนถึงการประเมินภาพรวมและผลกระทบทั้งด้านความน่าเชื่อถือ ภาระงาน ประเด็นอ่อนไหวอย่างพรบ. ข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เพื่อสร้างเป็นฐานความรู้สำหรับอนาคตของระบบสุขภาพไทยที่กำลังจะมุ่งไป
ติดตามซีรีส์ 15 ปี 15 ผลงานเด่นเพื่อระบบสุขภาพไทยเพื่อเข้าใจสิ่งที่ผ่านมา และก้าวต่อไปของระบบสุขภาพได้เร็ว ๆ นี้