เจาะลึก 3 เหตุผลหลักที่ควรยกเลิกการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิคัดกรองโควิด-19
การใช้เครื่องวัดอุณหภูมิ (Thermoscan) เพื่อคัดกรองโควิด-19 ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ต้องมีการทบทวนมาตรการที่ดำเนินการเพื่อปรับให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ล่าสุดผลการทบทวนมาตรการคัดกรองดังกล่าวของคณะกรรมการประมวลสถานการณ์โรคโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข (MOPH Intelligence Unit : MIU) พบว่า มาตรการนี้ให้ผลลวง ประสิทธิภาพต่ำและไม่ช่วยป้องกันโควิด-19
วันนี้ HITAP ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของทีม MIU จึงขอชวนทุกคนมาร่วมเจาะลึกผลการทบทวนมาตรการในเชิงวิชาการ เหตุใดสามารถยกเลิกมาตรการดังกล่าว
1. ไม่มีหลักฐานประสิทธิผลในการคัดกรองโควิด-19
เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดหรือแบบสแกน (thermal imaging systems) มีประสิทธิผลในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ต่ำ โดยมีค่าความไว (sensitivity) ตั้งแต่ 0% ถึง 39% ทั้งการใช้เครื่องที่สนามบินหรือที่โรงพยาบาล
นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของเครื่องวัดอุณหภูมิแบบสแกนร่างกายในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ดังนี้
- ผู้ป่วยโควิด-19มากกว่าครึ่งไม่แสดงอาการ (53% [95% CI: 36%-70%])
- ผู้ป่วยสามารถปิดบังอาการไข้ได้ด้วยการรับประทานยาลดไข้ ใส่เสื้อผ้าหนาปกคลุมร่างกายและการใช้เครื่องสำอาง เป็นต้น
ความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิที่วัดได้อาจเกิดจากปัจจัยทางเทคนิค เช่น คุณสมบัติของเครื่องมือ มุมของกล้อง อุณหภูมิห้องคงที่ระหว่าง 18 – 24°C ความชื้นในอากาศคงที่ระหว่าง 20 – 75% เป็นต้น
2. ไม่พบหลักฐานชัดเจนในการป้องกันโรคอื่น ๆ
การคัดกรองด้วยเครื่องวัดอุณหภูมินอกจากประเด็นเพื่อป้องกันโควิด-19 โดยตรงแล้ว ยังมีประเด็นอื่นให้พิจารณา แต่หลักฐานยังคงชี้ว่าให้ยกเลิกการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิ โดยมีประเด็นดังนี้
1. ประเด็นการคัดกรองอุณหภูมิช่วยคัดกรองโรคติดเชื้ออื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มนักเดินทาง – ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนของการคัดกรองอุณหภูมิของนักเดินทางที่ติดเชื้อในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกหรืออีโบล่า ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการคัดกรองต่าง ๆ ที่สนามบินก็เพียงชะลอการแพร่ระบาดของโรคแต่ไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยมากเกินความเป็นจริง ส่งผลให้ละเลยมาตรการอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น เว้นระยะห่าง ล้างมือและสวมใส่หน้ากากอนามัย
2. ประเด็นว่าการคงมาตรการไว้เป็นการส่งสัญญาณป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อต่าง ๆ เดินทางออกจากที่พัก – ผู้อื่นที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงด้วยสาเหตุอื่น เช่น ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ สตรีตั้งครรภ์หรือมีประจำเดือน ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้คนเหล่านี้ต่างมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ อาจทำให้เกิดการตีตราต่อบุคคลเหล่านี้ได้
3. ประเด็นที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ยังแนะนำให้คัดกรองอุณหภูมิในสนามบิน – สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศตระหนักดีว่าไม่มีมาตรการป้องกันใดที่ได้ผลดีที่สุด และต้องมีการทบทวนประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ อยู่เป็นระยะเพื่อดำเนินเฉพาะมาตรการที่มีหลักฐานพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ และควรคำนึงถึงการติดขัด ความล่าช้าและไม่สะดวกของผู้เดินทางเป็นสำคัญด้วย
3 หลายประเทศยกเลิก – ไม่มีคำแนะนำนี้
หลายประเทศยกเลิกคำแนะนำในส่วนของมาตรการคัดกรองด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิแล้ว ดังนี้
- สหราชอาณาจักร มีคำแนะนำสำหรับภาคธุรกิจโดยระบุว่าไม่จำเป็นต้องมีการคัดกรองอุณหภูมิแล้ว
- สิงคโปร์ ยกเลิกการคัดกรองอุณหภูมิในพื้นที่สาธารณะตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม และมีมาตรการตรวจคัดกรองที่สม่ำเสมอ
- สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันไม่มีคำแนะนำเรื่องการวัดอุณหภูมิสำหรับคัดกรองโควิด-19 ทั้งนี้ หน่วยงานท้องถิ่นอาจมีการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐ
- แคนาดา ยกเลิกคำแนะนำเรื่องการคัดกรองอุณหภูมิสำหรับคัดกรองโควิด-19 ไปแล้วแม้จะดำเนินการในช่วงต้นของการแพร่ระบาด ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายในแต่ละรัฐอาจแตกต่างกันไป
อ้างอิง
Khaksari K, Nguyen T, Hill BY, Perrault J, Gorti V, Blick E, et al. Review of the efficacy of infrared thermography for screening infectious diseases with applications to COVID-19. J Med Imaging. 2021;8.
Maung Z, Kristensen M, Hoffman B, Jacobson MA. Temperature Screening of Healthcare Personnel Is Ineffective in Controlling COVID-19. J Occup Environ Med. 2022;64:382–4.
PANĂ, Bogdan C., et al. Real-World Evidence: The Low Validity of Temperature Screening for COVID-19 Triage. Frontiers in public health, 2021, 9: 891.
Nuertey, Benjamin Demah, et al. “Performance of COVID-19 associated symptoms and temperature checking as a screening tool for SARS-CoV-2 infection.” PloS one 16.9 (2021): e0257450.
Ma Q, Liu J, Liu Q, et al. Global percentage of asymptomatic sars-cov-2 infections among the tested population and individuals with confirmed covid-19 diagnosis: a systematic review and meta-analysis. JAMA Netw Open. 2021;4(12):e2137257.
Lahiri BB, Bagavathiappan S, Jayakumar T, Philip J. Medical applications of infrared thermography: A review. Infrared Phys Technol. 2012;55:221–35.
Foster, Josh, Alex Bruce Lloyd, and George Havenith. “Non-contact infrared assessment of human body temperature: The journal Temperature toolbox.” Temperature 8.4 (2021): 306-319.
Normile, Dennis. “Why airport screening won’t stop the spread of coronavirus.” Science (2020).
Bitar, Dounia, Aicha Goubar, and Jean-Claude Desenclos. “International travels and fever screening during epidemics: a literature review on the effectiveness and potential use of non-contact infrared thermometers.” Eurosurveillance 14.6 (2009): 19115.
Richard, M. “Biosecurity for air transport a roadmap for restarting aviation v. 2 [cited 2020 Jul 8].”
https://www.moh.gov.sg/news-highlights/details/preparing-for-our-transition-towards-covid-resilience (Aug 2021)
https://www.komchadluek.net/news/518625