logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
4,000 ปี ไข้มาลาเรีย จากภัยพิบัติ สู่ เป้าหมายกลายเป็นศูนย์จากประเทศไทย

ไข้มาลาเรียอาจเป็นชื่อที่ฟังดูคุ้นหูแต่ก็ดูเหมือนไกลตัวใครหลายคน โดยเฉพาะผู้คนในสังคมเมือง เนื่องจากโรคนี้มีการระบาดในแถบชายแดนเสียเป็นส่วนใหญ่ และมักระบาดในกลุ่มคนจน

มากไปกว่านั้น ในปี 2567 ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยยังตั้งเป้าหมายกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศผ่านยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560 – 2569 ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากวัน 25 เมษายนของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นวันมาลาเรียโลก (World Malaria Day) HITAP จึงขอชวนทุกท่านมาย้อนดูประวัติศาสตร์อันยาวนานของโรคไข้มาลาเรีย จากวันที่โรคนี้เคยเป็นภัยพิบัติ สู่เป้าหมายที่จะถูกกำจัดให้เหลือศูนย์จากประเทศไทย

 

ประวัติ 4,000 ปีก่อน

ไข้มาลาเรียมีหลายชื่อเรียกตามลักษณะอาการหรือฤดูกาลเกิดโรค เช่น ไข้จับสั่น, ไข้ป่า, ไข้ดง, ไข้ร้อนเย็น, ไข้ดอกสักและไข้ป้าง ชื่อไข้เหล่านี้รวมแล้วคือไข้มาลาเรีย อาการที่เป็นลักษณะเด่นคืออาการสั่น ร้อนเย็นในตัว หากไม่ได้รับการรักษาบางสายพันธุ์ก็ถึงชีวิตได้

สาเหตุของโรคนี้คือปรสิตมาลาเรีย ที่เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางน้ำลายของยุงก้นปล่องที่เป็นภาหะ ปรสิตเหล่านี้มีอยู่ 5 สปีชีส์ ได้แก่ P. falciparum, P. malariae, P. ovale, P. vivax และ P. knowlesi ซึ่งแต่ละสปีชีส์ก็ทำให้เกิดอาการรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป ปรสิตชนิดนี้มีอยู่ในธรรมชาติมายาวนานนับหลายหมื่นปีแล้ว โดยพบว่ามีมากขึ้นพร้อมกับการพัฒนาทางการเกษตรของมนุษย์ในช่วงหมื่นปีก่อนเท่านั้น

ไข้มาลาเรียถือเป็นโรคติดต่อสำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ บันทึกเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ที่แสดงถึงลักษณะของไข้มาลาเรียนั้นพบที่ประเทศจีน ตั้งแต่ 2,100 ปีก่อนพุทธกาล หรือก็คือราว 4,000 กว่าปีก่อนนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีบางหลักฐานพบว่ามาลาเรียอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จักวรรดิโรมันล่มสลายอีกด้วย

มาลาเรียมีการแพร่ระบาดมากในพื้นที่ชื้นมีน้ำนิ่งเหมาะกับการขยายพันธุ์ของยุง โรคนี้กลายเป็นภัยสุขภาพครั้งใหญ่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีรายงานว่าทหารสหรัฐอเมริกาติดเชื้อกว่า 500,000 นาย และมีทหารหลายหมื่นนายเสียชีวิตจากโรคนี้

มนุษยชาติต้องใช้เวลาหลายต่อหลายปีกว่าจะเริ่มต่อสู้กับโรคนี้ได้ เริ่มตั้งแต่ค้นพบว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากปรสิตในปี พ.ศ. 2423 กระทั่งปี พ.ศ. 2437 เซอร์โรนัลด์ รอส แพทย์ชาวสก็อตเจ้าของรางวัลโนเบลก็พิสูจน์ได้ว่า ยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรคนี้มาสู่มนุษย์ จากนั้นจึงค่อย ๆ มีการคิดค้นพัฒนายารักษา และยาฆ่าแมลงเพื่อต่อสู้กับมาลาเรีย

ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีการบันทึกถึงโรคนี้ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2446 จากรายงานประจำของแพทย์สุขาภิบาล รศ. 122 โดยนายแพทย์แคมเบล ไฮเอต ได้รายงานถึงคนไข้มาลาเรียรายหนึ่งในพื้นที่มวกเหล็กซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ แพทย์คนเดิมได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับยุง และได้เสนอให้กำจัดยุงในกรุงเทพฯ ด้วยการใช้น้ำมันใส่ในแอ่งน้ำเพื่อฆ่าลูกน้ำพร้อมกับทำลายแหล่งน้ำขังไม่ให้ยุงวางไข่

กระทั่งปลายปี พ.ศ. 2469 สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องทูตอิตาลีชวนสยามเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสำนักระหว่างประเทศสำหรับการว่าด้วยเรื่องไข้มาลาเรีย (International Malariaologic Institute) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นที่กรุงโรม ส่งผลให้รัฐบาลมีนโยบายจัดการปัญหายุง จากนั้นในหลายรัฐบาลต่อ ๆ มา ไทยยังคงมีนโยบายควบคุมโรคนี้เนื่องจากเป็นสาเหตุให้คนเสียชีวิตมากถึงปีละ 30,000 – 40,000 คนด้วยกัน

 

2567 หมดไปจากประเทศ เป็นไปได้หรือไม่?

แรกเริ่มไข้มาลาเรียมีพบมากในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่การควบคุมโรคโดยลดปัจจัยต่างๆ ทำให้ไม่พบการระบาดในพื้นที่เดิมอีกแล้ว ปัจจุบันนี้มาลาเรียมีการระบาดอยู่ในพื้นที่เขตร้อนและอบอุ่น ได้แก่ แถบกว้างรอบเส้นศูนย์สูตรของโลก การต่อสู้กับโรคมาลาเรียถือเป็นวาระสำคัญในแวดวงสาธารณสุขโลก การทำงานอย่างต่อเนื่องร่วมกันของหลายองค์กรทั้งในระดับประเทศและนานาชาติช่วยลดการเสียชีวิตลงได้อย่างมาก องค์การอนามัยโลกรายงานถึงอัตราการตายที่ลดลงของมาลาเรียในปี พ.ศ. 2553 โดยลดลงถึง 1 ใน 3 จากปี พ.ศ. 2543

ในส่วนของประเทศไทยปัจจุบันพบการระบาดอยู่ในพื้นที่แถบชายแดนเท่านั้น และมีเป้าหมายตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560-2569 เป็นเป้าหมายระยะยาวคือการกำจัดไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศในปี พ.ศ. 2567

คำถามคือจากโรคระบาดร้ายในอดีต ถึงตอนนี้เป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำจัดให้หมดไปจากประเทศ

HITAP ได้มีการศึกษาเพื่อประเมินการทำงานดังกล่าวโดยพบว่า หลายหน่วยงานมีการดำเนินงานหลายอย่างเพื่อจัดการกับปัญหานี้ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำหน้าที่พ่นสารเคมี รณรงค์และส่งเสริมการใช้มุ้งชุบสารเคมี รวมถึงกำจัดวัชพืชและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงพาหะนำโรค ในด้านของภาคประชาชน (Civil Society Organization – CSO) มีการทำงานชัดเจนในระดับหนึ่งในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวหรือชนกลุ่มน้อย ขณะที่คณะกรรมการที่ทำงานในด้านสุขภาพในระดับจังหวัด อำเภอและตำบล มีส่วนเกี่ยวกับหน่วยงานระดับปฏิบัติการในการขับเคลื่อนการทำงาน ในส่วนของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในกระทรวงสาธารณสุข และสังกัดอื่น ๆ จะมีบทบาทในการประสานงานด้านนโยบาย สร้างความร่วมมือรวมถึงกำกับติดตามการทำงาน

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังพบความท้าทายในหลายประเด็น เช่น การสร้างความร่วมมือในระดับประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน การเปลี่ยนผ่านจากการกำจัดโรคสู่การป้องกันไม่ให้โรคนี้กลับมา การจัดการข้อมูลมาลาเรียออนไลน์แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์

ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายให้จึงมีข้อแนะนำหลายด้าน ตัวอย่างเช่น ให้มีการสร้างเครือข่ายการทำงานทั้งในระดับประเทศและนานาชาติเพื่อสนับสนุนการทำงานในระบบสาธารณสุข, สร้างความร่วมมือในการกำจัดโรคร่วมกันอย่างมียุทธศาสตร์และสนับสนุนให้เกิดการใช้ข้อมูลมาลาเรียออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น

 

การต่อสู้อันยาวนานของมนุษย์กับโรคร้ายในกรณีของโรคไข้มาลาเรียถึงตอนนี้สถานการณ์หลายอย่างดีขึ้นแล้ว มีการพัฒนาการควบคุมโรครวมถึงยารักษา หลายพื้นที่ของโลกสามารถลดการระบาดและกำจัดออกไปได้ แต่บางพื้นที่เช่นในทวีปแอฟริกาก็ยังคงมีปัญหาหนัก และหากวันใดก็ตามที่ไม่มีปัจจัยควบคุมโรคดังกล่าว โรคไข้มาลาเรียนี้ก็สามารถที่จะกลับมาแพร่ระบาดได้เช่นกัน งานด้านการควบคุมโรคจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายและทำอย่างต่อเนื่อง การตระหนักถึงความสำคัญของการต่อสู้อันยาวนานกับโรคนี้ ถือเป็นภาพสะท้อนหนึ่งที่บอกให้รู้ว่า วันหนึ่งโรคที่ร้ายแรงก็สามารถถูกกำจัดออกไปจากประเทศได้

 

ติดตามอ่านรายงานวิจัยฉบับสมบุรณ์ การประเมินยุทธศาสตร์การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย ระดับประเทศ และระดับนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนงานกําจัดโรคไข้มาลาเรีย (ยุทธศาสตร์ที่ 3) ภายใต้ยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560-2569 ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/183244

22 เมษายน 2565

Next post > บริจาคอวัยวะเพื่อต่อชีวิต การให้ที่ไม่สิ้นสุด

< Previous post 10 สัญญาณเตือนครรภ์เป็นพิษ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ