logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
บริจาคอวัยวะเพื่อต่อชีวิต การให้ที่ไม่สิ้นสุด

เมื่อพูดถึงการบริจาคอวัยวะ คนไทยหลายคนอาจยังมีความเชื่อว่าถ้าบริจาคอวัยวะแล้วชาติหน้าจะเกิดมามีอวัยวะไม่ครบ แต่หากเรามองข้ามผ่านความเชื่อดังกล่าวและดูข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นประโยชน์ของการบริจาคอวัยวะแล้วจะพบว่า การบริจาคอวัยวะโดยผู้บริจาคเพียงหนึ่งราย สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้สูงสุดถึง รวมถึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีสุขภาพกายที่ดีและอายุยืนยาวขึ้นได้

ผลจากการศึกษาโดย Saint Louis University School of Medicine สหรัฐอเมริกา พบว่า การบริจาคอวัยวะจะช่วยเพิ่มอายุให้ผู้ป่วยได้ประมาณ 30.8 ปี และสามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยประมาณ 2.9 คนโดยเฉลี่ย อีกทั้งการใช้อวัยวะทั้งหมดจากผู้บริจาคเพียงหนึ่งรายจะช่วยยืดอายุผู้ป่วยได้ถึง 55.8 ปีและสามารถช่วยผู้รับบริจาคได้ถึง 6 คนโดยประมาณ

เรามาดูกันว่าความหมายของการบริจาคอวัยวะคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร อวัยวะและเนื้อเยื่อที่สามารถปลูกถ่ายได้ รวมถึงขั้นตอนในการบริจาคอวัยวะมีอะไรบ้าง

 

การบริจาคอวัยวะคืออะไร

การบริจาคอวัยวะ คือการมอบอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยที่อวัยวะนั้น ๆ เสื่อมสภาพ การปลูกถ่ายอวัยวะจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อผู้บริจาคเสียชีวิตจากภาวะสมองตายเท่านั้น (ยกเว้น ไต 1 ข้าง ตับ ไขกระดูก ฯ ที่สามารถบริจาคได้ตอนยังมีชีวิตอยู่) โดยภาวะนี้เป็นภาวะที่ผู้บริจาคไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าใด ๆ แล้ว แต่หากอวัยวะสำคัญยังมีสภาพดี อวัยวะเหล่านั้นจะสามารถนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วยคนอื่น ๆ ต่อไปได้

 

อวัยวะและเนื้อเยื่อที่สามารถนำไปปลูกถ่ายได้มีอะไรบ้าง?

อวัยวะที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ ไต 2 ข้าง ปอด 2 ข้าง หัวใจ ตับ ตับอ่อน สำไส้ และหูชั้นกลาง

เนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ ลิ้นหัวใจ หลอดเลือด ผิวหนัง กระดูก เส้นเอ็น กระจกตา ไขกระดูก และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

สถานการณ์การปลูกถ่ายอวัยวะของประเทศไทยในปัจจุบัน

ประเทศไทยยังคงขาดแคลนอวัยวะอย่างมาก จากข้อมูลสถิติการรับบริจาคอวัยวะโดยสภากาชาดไทยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ป่วยลงทะเบียนรอรับอวัยวะบริจาคเกือบ 6 พันราย ขณะที่มีผู้บริจาคอวัยวะไปแล้วไม่ถึง 60 ราย อีกทั้งการเกิดภาวะวิกฤติแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ยังส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ อันรวมถึงการบริจาคและการปลูกถ่ายอวัยวะด้วย ทำให้มีผู้บริจาคอวัยวะลดลง ในขณะที่แนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอวัยวะที่รอการปลูกถ่ายมากที่สุดคือ ไต หัวใจ หัวใจ-ปอด ปอด ตับ ตับอ่อน ตับ-ไต ตับอ่อน-ไต และหลายอวัยวะ (ตับ ตับอ่อน กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก) ตามลำดับ

 

อยากบริจาคอวัยวะต้องทำอย่างไร?

ผู้มีความประสงค์บริจาคอวัยวะสามารถแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ทั่วประเทศ โดยติดต่อที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เหล่ากาชาดจังหวัดทุกแห่ง โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโทรศัพท์ติดต่อที่เบอร์ 1666 หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://www.organdonate.in.th/

คุณสมบัติโดยทั่วไปของผู้บริจาคอวัยวะ ได้แก่ อายุไม่เกิน 65 ปี เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย ปราศจากโรคติดเชื้อและโรคมะเร็ง  ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง โรคตับ และไม่ติดสุรา อวัยวะที่จะบริจาคต้องทำงานได้ดี ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ไวรัสเอดส์ ฯลฯ

 

รู้หรือไม่?

ประชาชนชาวไทยที่มีสิทธิบัตรทอง มีความคุ้มครองการปลูกถ่ายอวัยวะ 5 รายการ ดังนี้

1. การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ

2. การปลูกถ่ายตับในเด็ก กรณีท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด

3. การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและโรคอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา

4. การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา

5. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต

โดยผู้บริจาคต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 60 ปี มีร่างกายแข็งแรง และอวัยวะปลูกถ่ายทำงานได้ดี สามารถแสดงความจำนงขอบริจาคอวัยวะผ่านการยื่นคำร้องขอทำบัตรประชาชนได้ที่ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-791-7620

 

อ้างอิง

https://www.thairath.co.th/scoop/1308041

https://www.pennmedicine.org/updates/blogs/transplant-update/2022/march/6-quick-facts-about-organ-donation

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16095511/

https://my.clevelandclinic.org/health/articles/11750-organ-donation-and-transplantation

https://www.organdonate.in.th/

https://www.organdonate.in.th/assets/files/odc-news.pdf

https://www.thecoverage.info/index.php?/news/content/282

22 เมษายน 2565

Next post > เจาะลึกโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก ผ่านบทบาทการป้องกันและรักษา “เด็กเกิดใหม่น้อยลงจึงควรเป็นเด็กที่มีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญแก่สังคม” รศ. นพ.นิธิวัชร์ วัฒนวิจารณ์

< Previous post 4,000 ปี ไข้มาลาเรีย จากภัยพิบัติ สู่ เป้าหมายกลายเป็นศูนย์จากประเทศไทย

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ