logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
วัคซีนพื้นฐานที่คนแต่ละช่วงอายุควรฉีดมีอะไรบ้าง?

เป็นเวลากว่าสองปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโรคติดเชื้อที่มีความสามารถในการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วอย่างโควิด-19 อันเป็นเหตุให้นักวิทยาศาสตร์ต้องเร่งดำเนินการคิดค้นและผลิตวัคซีนที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ รวมถึงช่วยปกป้องร่างกายจากอาการเจ็บป่วยสาหัสให้มีประสิทธิผลมากที่สุด ทว่า นอกจากวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับทุกคนทั่วโลกในขณะนี้แล้ว มีโรคติดเชื้ออื่น ๆ อะไรอีกบ้างที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน?   

HITAP อยากชวนทุกคนมาท่องโลกวัคซีนพื้นฐานที่ใช้สำหรับการป้องกันโรคติดเชื้อที่ควรได้รับในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ เพื่อกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ก่อนจะไปเรียนรู้ว่าวัคซีนพื้นฐานแต่ละชนิดมีอะไรบ้าง เรามาทำความรู้จักกับวัคซีนกันก่อนดีกว่าว่า วัคซีนคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรกับร่างกายเรา 

วัคซีนเป็นชีววัตถุหรือสารชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ และวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 

1. ท็อกซอยด์ (toxoid) ใช้ป้องกันโรคที่เกิดจากพิษของแบคทีเรีย เช่น วัคซีนคอตีบ วัคซีนบาดทะยัก เป็นต้น 

2. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1 วัคซีนที่ทำจากแบคที่เรียหรือไวรัสทั้งตัวที่ทำให้ตายแล้ว เช่น วัคซีนไอกรนชนิดทั้งเซลล์ วัคชีนอหิวาตกโรคชนิดฉีด วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนโควิด-19 เป็นต้น 2.2 วัคซีนที่ทำจากบางส่วนของแบคทีเรียหรือไวรัสที่เกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกัน (protein subunit vaccine) เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคชีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ วัคซีนไทฟอยด์ชนิดฉีด เป็นต้น 

3. วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) เช่น วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนวัณโรค วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น 

4. วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (messenger Ribonucleic Acid: mRNA) เป็นการนำชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนของเชื้อโรคนั้น ๆ มาทำการสังเคราะห์และฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อจำลองการได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายโดยไม่ได้ติดเชื้อโดยตรง จากนั้นภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายจะถูกกระตุ้นให้พร้อมต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นได้ เช่น วัคซีนโควิด-19 เป็นต้น

5. วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (recombinant viral vector vaccine) เป็นการนำเชื้อไวรัสโรคอื่นหรือชนิดอื่น (เช่น อะดีโนไวรัส) มาดัดแปลงพันธุกรรมให้อ่อนฤทธิ์และไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก และใช้เป็นพาหะเพื่อพาสารพันธุกรรมของไวรัสของโรคนั้นเข้าไปในร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนชนิดนี้เข้าไป ไวรัสพาหะจะเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันได้รับการกระตุ้น วัคซีนชนิดนี้ที่มีการใช้งาน ณ ปัจจุบันมีเพียงวัคซีนโควิด-19

โรคติดเชื้อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยจะมีอะไรบ้าง รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแนะนำชนิดและช่วงวัยที่ควรได้รับวัคซีนไว้อย่างไรบ้าง เรามาศึกษาไปพร้อม ๆ กันได้ที่นี่เลย

 

วัคซีนจำเป็นสำหรับเด็ก

อายุ: แรกเกิด

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ:

1. วัคซีนวัณโรคหรือวัคซีนบีซีจี (BCG) เป็นวัคซีนที่ถูกกำหนดให้ฉีดในเด็กแรกเกิดทุกคนก่อนออกจากโรงพยาบาลเนื่องจากอัตราการเกิดวัณโรคในประเทศไทยสูง และให้ฉีดในทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีได้ โดยฉีดเพียงครั้งเดียว หากไม่ได้รับวัคชีนตอนแรกเกิด สามารถให้ได้ทันทีทุกอายุ

2. วัคซีนตับอักเสบบี ครั้งที่ 1 (HB1) เด็กแรกเกิดทุกคนควรได้รับวัคซีนนี้เพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิดซึ่งมีโอกาสเป็นพาหะได้สูง จึงควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีครั้งแรกโดยเร็วที่สุดหรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด

 

อายุ: 1 เดือน

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ: วัคซีนตับอักเสบบี ครั้งที่ 2* (HB2)

*เฉพาะรายที่เด็กคลอดจากมารดาที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี

 

อายุ: 2 เดือน

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ:

1. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ ตับอักเสบบี ฮิบ ครั้งที่ 1 (DTwP-HB-Hib1)

2. วัคซีนโปลิโอชนิดกิน ครั้งที่ 1 (OPV1) ป้องกันโรคไข้ไขสันหลังอักเสบ

3. วัคซีนโรต้า ครั้งที่ 1 (Rota1) ป้องกันโรคอุจจาระร่วงรุนแรง

วัคซีนเสริมหรือทดแทน:

1. วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์* ตับอักเสบบี โปลิโอชนิดฉีด ฮิบ ครั้งที่ 1 (DTaP-HB-IPV-Hib1)

*สามารถใช้วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ (DTaP) แทนชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) ได้ทุกครั้ง หากใช้ชนิดไร้เซลล์ในครั้งแรกแล้วควรใช้ชนิดเดียวกันทั้งสามครั้งเมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน และหากไม่สามารถหาชนิดเดียวกันได้ ให้ใช้ชนิดใดแทนก็ได้

2. วัคซีนนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต ครั้งที่ 1 (PCV1) ป้องกันโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae (นิวโมคอคคัส) สาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเกิดโรคปอดอักเสบและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อตำแหน่งอื่นได้

3. วัคซีนพิษสุนัขบ้า (Rabies) ก่อนการสัมผัสโรค สามารถให้ได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป จำนวน 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 7 วัน

 

อายุ: 4 เดือน

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ:

1. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ ตับอักเสบบี ฮิบ ครั้งที่ 2 (DTwP-HB-Hib2)

2. วัคซีนโปลิโอชนิดกิน ครั้งที่ 2 + โปลิโอชนิดฉีด 1 เข็ม (OPV2 + IPV)

3. วัคซีนโรต้า ครั้งที่ 2 (Rota2) ป้องกันโรคอุจจาระร่วงรุนแรง

วัคซีนเสริมหรือทดแทน:

1. วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ ตับอักเสบบี โปลิโอชนิดฉีด ฮิบ ครั้งที่ 2 (DTaP-HB-IPV-Hib2)

2. วัคซีนนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต ครั้งที่ 2 (PCV2)

 

อายุ: 6 เดือน

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ:

1. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ ตับอักเสบบี ฮิบ ครั้งที่ 3 (DTwP-HB-Hib3)

2. วัคซีนโปลิโอชนิดกิน ครั้งที่ 3 (OPV3)

3. วัคซีนโรต้า ครั้งที่ 3 (Rota3) ป้องกันโรคอุจจาระร่วงรุนแรง

4. วัคซีนไข้หวัดใหญ่* ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1 เดือน

*พิจารณาให้ฉีดในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และเด็กที่มีความเสี่ยงโรครุนแรง เช่น โรคปอดเรื้อรัง (รวมหอบหืด) โรคหัวใจ โรคอ้วนที่มี BMI > 35 ภูมิคุ้นกันบกพร่อง หญิงตั้งครรภ์ละโรคเรื้อรังอื่น ๆ เป็นต้น โดยสามารถฉีดได้ตลอดปี ปีละหนึ่งครั้ง และแนะนำให้ฉีดก่อนเข้าฤดูฝน

วัคซีนเสริมหรือทดแทน:

1. วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ ตับอักเสบบี โปลิโอชนิดฉีด ฮิบ ครั้งที่ 3 (DTaP-HB-IPV-Hib3)

2. วัคซีนนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต ครั้งที่ 3 (PCV3)

3. วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (Inactivated JE) โดยให้วัคซีนครั้งที่ 1 และ 2 ระยะห่างกัน 4 สัปดาห์

 

อายุ: 9 เดือน

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ:

1. วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ครั้งที่ 1* (MMR1)

*หากไม่ได้ฉีดเมื่ออายุ 9 เดือน ให้รีบติดตามฉีดโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ในพื้นที่ที่มีรายงานโรคหัดจำนวนน้อย อาจพิจารณาให้ฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 12 เดือนได้

2. วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อมีชีวิต (Live JE1) ครั้งที่ 1

 

อายุ: 1 ปี

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ: วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (Inactivated JE) ครั้งที่ 3

วัคซีนเสริมหรือทดแทน:

1. วัคซีนตับอักเสบเอ (HAV) ชนิดเชื้อไม่มีชีวิต ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 6 – 12 เดือน

2. วัคซีนอีสุกอีใส* (VZV1) หรือวัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน-อีสุกอีใส (MMRV1) ครั้งที่ 1

*ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และแนะนำให้ฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 12 – 18 เดือน

 

อายุ: 1 ปี 6 ดือน

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ:

1. วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) กระตุ้นครั้งที่ 1

2. วัคซีนโปลิโอชนิดกิน (OPV) กระตุ้นครั้งที่ 1

3. วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ครั้งที่ 2 (MMR2)

วัคซีนเสริมหรือทดแทน:

1. วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ โปลิโอชนิดฉีด ฮิบ (DTaP-IPV-Hib4) กระตุ้นครั้งที่ 1

2. วัคซีนตับอักเสบเอ (HAV) ชนิดเชื้อมีชีวิต ฉีดครั้งเดียวเมื่ออายุ 18 เดือนขึ้นไป และใช้แทนวัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิตได้ ทั้งนี้ เด็กที่จะเดินทางหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคตับอักเสบเอ สามารถให้วัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิตได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน แต่ไม่นับเข็มที่ฉีดก่อนอายุ 1 ปีและต้องฉีดใหม่หลังอายุ 1 ปีตามคำแนะนำ

3. วัคซีนอีสุกอีใส (VZV2) หรือวัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน-อีสุกอีใส (MMRV2) ครั้งที่ 2

 

อายุ: 2 ปี

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ: วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อมีชีวิต (Live JE2) ครั้งที่ 2

 

อายุ: 4 – 6 ปี

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ:

1. วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) กระตุ้นครั้งที่ 2

2. วัคซีนโปลิโอชนิดกิน (OPV) กระตุ้นครั้งที่ 2

วัคซีนเสริมหรือทดแทน:

วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ และโปลิโอชนิดฉีด (DTaP-IPV หรือ Tdap-IPV) กระตุ้นครั้งที่ 2

 

อายุ: 11 ปี

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ:

วัคซีนเอชพีวี* (HPV) แนะนำให้ฉีดในหญิงและชาย เพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในเด็กหญิง และป้องกันหูดบริเวณอวัยวะเพศในเด็กชาย สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีและเน้นให้ฉีดในช่วงอายุ 11 – 12 ปี จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 6 – 12 เดือน

*มีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ 2, 4 และ 9 สายพันธุ์ หากต้องการป้องกันหูดหงอนไก่ด้วยต้องใช้วัคซีนชนิด 4 หรือ 9 สายพันธุ์

วัคซีนเสริมหรือทดแทน: วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (Tdap หรือ TdaP ต่อไป Td หรือ Tdap) ทุก 10 ปี

 

อายุ: 12 ปี

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ: วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (dT)

 

 

วัคซีนแนะนำสำหรับวัยรุ่น – วัยทำงาน – วัยสูงอายุ

วัคซีนจำเป็นที่ควรได้รับ 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine)  

แนะนำให้ฉีดกระตุ้นเป็นประจำทุกปีเพราะภูมิคุ้มกันจะค่อย ๆ ลดลงภายใน 1 ปีหลังได้รับวัคซีน การได้รับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันซ้ำเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายสามารถป้องกันโรคได้ดีขึ้น และเนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งสายพันธุ์ A และ B มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจึงทำให้มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นทุกปี โดยในประเทศไทยมักมีการระบาดช่วงฤดูฝน เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม 

 

วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็น (Live Attenuated Japanese Encephalitis vaccine: LAJE) 

โรคไข้สมองอักเสบเจอีมียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ก่อให้เกิดอาการทางระบบประสาทและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ คนไทยส่วนใหญ่มักจะได้รับวัคซีนชนิดนี้ตั้งแต่ยังเด็ก แต่อาจต้องฉีดกระตุ้นจำนวน 1 เข็ม ทุก ๆ 4 – 5 ปี เพื่อคงระดับภูมิคุ้มกันให้สูงพอป้องกันโรคได้ 

 

วัคซีนเอชพีวี (HPV vaccine)  

เพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงและหูดหงอนไก่ในผู้ชาย มีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ 2, 4 และ 9 สายพันธุ์ สามารถฉีดในหญิงและชายได้ตั้งแต่อายุ 9 – 45 ปี จำนวน 3 เข็ม เข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 1 – 2 เดือน และเข็มสุดท้ายห่างจากเข็มแรก 6 เดือน ส่วนในวัยรุ่นที่แข็งแรงดี หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี ให้ฉีดจำนวน 2 เข็มได้ โดยเข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 6 – 12 เดือน ประสิทธิภาพของวัคซีนเอชพีวีจะสูงหากฉีดในผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่เคยติดเชื้อมาก่อน หากเคยมีการติดเชื้อหรือเคยเป็นโรคจากการติดเชื้อเอชพีวีก็สามารถเข้ารับวัคซีนได้เพราะเป็นการป้องกันการติดเชื้อใหม่และการเกิดโรคซ้ำ 

 

วัคซีนคอตีบบาดทะยัก (diphtheria tetanus vaccine: dT) 

แนะนำให้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันจำนวน 1 เข็ม ทุก 10 ปี เมื่ออายุลงท้ายด้วยเลขศูนย์ (0) ในหญิงที่มีแผนจะตั้งครรภ์รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีโอกาสใกล้ชิดทารกอายุต่ำกว่า 12 เดือน ควรเข้ารับวัคซีน 1 ครั้งเพื่อป้องกันโรคไอกรนจากทารก ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนควรฉีดเมื่ออายุครรภ์ครบ 20 สัปดาห์แล้วเพื่อป้องกันทารกจากโรคคอตีบ ไอกรน รวมถึงผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 65 ปีที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนนี้ ควรฉีดวัคซีนรวมเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคดังกล่าวด้วย 

 

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบให้ก่อนสัมผัสโรค (Rabies vaccine for pre-exposure prophylaxis: Rabies prEP) 

การรับวัคซีนป้องกันแบบก่อนการสัมผัสโรคสามารถช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคในกรณีที่เกิดการสัมผัสโรคโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ เช่น สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกับโรคพิษสุนัขบ้า นักสัตววิทยา เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ป่า ฯ ถึงแม้จะได้รับวัคซีนก่อนสัมผัสโรค หากถูกสัตว์กัดจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาภายหลังสัมผัสโรค โดยจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นซึ่งจำนวนน้อยครั้งกว่าและไม่จำเป็นต้องรับเซรุ่ม การฉีดวัคซีนที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันคือการฉีดแบบเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็มห่างกัน 7 วัน หรือ ฉีดเข้าผิวหนังจำนวน 3 เข็ม เข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 7 วัน และเข็มสุดท้ายในวันที่ 21  

 

วัคซีนงูสวัด (Shingles vaccine) 

แนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคงูสวัด โดยฉีด 2 ครั้งห่างกัน 4 – 8 สัปดาห์ ผู้ที่สัมผัสโรคควรเข้ารับวัคซีนภายใน 72 ชั่วโมงหลังสัมผัสโรค หากเกิน 5 วันจะไม่สามารถป้องกันโรคแต่ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ผู้มีแผนจะตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน สำหรับผู้ป่วยอายุ 50 – 59 ปีที่ประสงค์จะรับวัคซีนควรปรึกษาแพทย์เนื่องจากวัคซีนจะสามารถป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิผลสูงสุดในช่วง 5 ปีแรกโดยฉีดเพียงครั้งเดียวไม่ต้องกระตุ้นซ้ำ 

 

วัคซีนปอดอักเสบรุนแรง ชนิด 13 สายพันธุ์ (Pneumococcal Conjugate vaccine: PCV13)  

แนะนำให้ฉีดในผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 1 เข็ม เพื่อป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและระบบทางเดินหายใจ รวมถึงผู้ที่มีอายุ 2 – 64 ปีบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดโรค เช่น ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ และอาจฉีดกระตุ้นหลังฉีดครั้งแรก 3 – 5 ปี  

 

วัคซีนปอดอักเสบแบบรุนแรง ชนิด 23 สายพันธุ์ (Pneumococcal Polysaccharide vaccine: PPSV23) 

แนะนำให้ฉีดในผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 1 เข็ม หลังได้รับวัคซีน PCV13 อย่างน้อย 1 ปี เพื่อป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้ครบและนานอย่างน้อย 5 ปี ทั้งนี้ระยะเวลาและจำนวนครั้งของการได้รับวัคซีนขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีนอีกครั้ง 

 

วัคซีนเสริมหรือ ทดแทน หรือสำหรับผู้ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือเชื้อมาก่อน:  

วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (Tdap หรือ TdaP) สามารถใช้ทดแทนวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (dT) 1 ครั้ง เมื่ออายุเท่าไหร่ก็ได้ 

 

วัคซีนรวมโรคหัดคางทูมหัดเยอรมัน (Measles Mumps and Rubella vaccine: MMR vaccine) 

ในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่ทราบประวัติ แนะนำให้ฉีดวัคซีนรวมอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเฉพาะหญิงวัยเจริญเจริญพันธุ์ และหากมีแผนจะตั้งครรภ์ แนะนำให้ฉีดก่อนตั้งครรภ์ 1 เดือนหรือหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 3 เดือนหลังฉีดวัคซีน สำหรับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนนี้ครบ 2 เข็มแล้วไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกเพราะมีระดับภูมิคุ้มกันเพียงพอในการป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต 

 

วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี* (Hepatitis B vaccine) 

แนะนำให้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งหมด 3 เข็ม ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1 เดือน และครั้งสุดท้ายห่างจากครั้งแรก 6 เดือน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนนี้ รวมถึงผู้ที่เคยติดเชื้อและหายจากโรคตับอักเสบแล้วเพราะอาจเป็นพาหะของโรคและแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นต่อไปได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ จากแม่สู่ลูกขณะคลอด การให้เลือด รวมทั้งผู้ที่ยังมีเชื้ออยู่ในร่างกายเพราะมีความเสี่ยงเป็นตับอักเสบเรื้อรังและมะเร็งตับได้ในอนาคต 

 

วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ* (Hepatitis A vaccine) 

แนะนำให้ฉีดทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือนในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง มีอาชีพประกอบอาหาร หรือผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือด เนื่องจากโรคนี้ติดต่อได้จากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อ  

 

วัคซีนอีสุกอีใส* (Varicella vaccine) 

แนะนำให้ฉีดในผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ให้ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ผู้มีแผนจะตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์หลังฉีดวัคซีนเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือเป็นโรคเอดส์ (AIDS) รวมถึงโรคที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน 

*ถ้าตรวจภูมิคุ้มกันและไม่พบ 

10 มีนาคม 2565

Next post > เมื่อหายป่วยจากโควิด-19 ยังมีอาการหลงเหลือ (Long COVID) นาน 1 - 3 เดือนที่ควรระวัง

< Previous post ชวนดูระบบหยุดความรุนแรงในครอบครัว ต่างประเทศหยุดอย่างไร?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ