logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
#รู้จักโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก IEM โรคหายากในทารกและเด็กเล็กที่อาจอยู่ใกล้ตัวคุณ

หากวันหนึ่งลูกของคุณ หรือทารกที่คุณรู้จักเกิดป่วย มีอาการเบื่อนม อาเจียน ซึม คงดูเป็นอาการป่วยปกติทั่วไปของทารก และคงไม่มีใครคิดว่าท้ายที่สุดอาการเหล่านั้นอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคที่นำไปสู่ความพิการ ภาวะปัญญาอ่อนจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งเกิดจากโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก (inborn errors of metabolism) หรือเรียกตามตัวย่อภาษาอังกฤษว่าโรค IEM

ถึงแม้โรค IEM จะเป็นโรคหายากแต่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของครอบครัวที่เผชิญกับโรคนี้มากมายด้วยหลายเหตุผล ทั้งอาการที่ไม่จำเพาะคล้ายโรคอื่นที่พบบ่อยกว่า ประกอบกับการที่เป็นโรคหายากทำให้หมอไม่ได้นึกถึง นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องได้รับการตรวจพิเศษถึงจะวินิจฉัยโรคนี้ได้ ทำให้หลายครั้งได้รับการวินิจฉัยล่าช้า ท้ายที่สุดเมื่ออาการรุนแรงขึ้น ชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวจะเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันย้อนคืน วันนี้ HITAP ขอชวนทุกคนมารู้โรค IEM นี้ให้มากขึ้น เพราะเพียงทารกที่เป็นโรคได้รับการตรวจกรองแต่แรกเกิดและวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อนมีอาการรุนแรง เขาก็สามารถเติบโตโดยมีพัฒนาการที่ปกติได้

 

อาการคล้ายโรคทั่วไป แต่ถึงชีวิต

โรค IEM เป็นโรคหายาก เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่กำหนดการสร้างเอนไซม์ซึ่งส่งผลต่อการย่อยสลายสารตั้งต้นหรือไม่สามารถสังเคราะห์พลังงานและสิ่งที่จำเป็นให้กับเซลล์ ความผิดปกตินี้ทำให้เกิดการคั่งของสารที่ผิดปกติและเป็นพิษนำไปสู่อาการของโรค โดยอาการมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากสารที่ผิดปกติ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดผลกระทบที่สมอง ทำให้มีภาวะสมองบวม การทำงานของสมองผิดปกติ จนกระทั่งสมองพิการและเสียชีวิตในที่สุดโรคนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มเกิดอาการตั้งแต่วัยทารกแต่ก็อาจเกิดอาการภายหลังได้แล้วแต่ความรุนแรงของโรค

สิ่งที่ทำให้วินิจฉัยโรคนี้ได้ยากก็คือ อาการที่ไม่จำเพาะได้แก่ ซึม ไม่ดูดนม อาเจียน ชัก หอบ ซึ่งคล้ายโรคที่พบบ่อยในทารก เช่น โรคติดเชื้อ ซ้ำร้ายด้วยความเป็นโรคหายากแพทย์ก็มักจะนึกถึงเป็นลำดับหลัง ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องหรือล่าช้าจนอาการหนัก มีภาวะสมองบวม โคม่า การทำงานของอวัยวะล้มเหลว และท้ายที่สุดก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีนั่นเอง

 

มีทารกเกิดใหม่อย่างน้อย 70 คนต่อปีป่วยเป็นโรคนี้

 

จากโครงการนำร่องการตรวจคัดกรองโรค IEM สารโมเลกุลเล็กของโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 – 2563 ที่ทำการตรวจทารกแรกเกิดในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 184,788 คน พบว่าอุบัติการณ์ของโรคอยู่ที่ 1 ต่อ 8,400 ดังนั้นจะมีทารกเกิดใหม่ในประเทศไทยป่วยเป็นโรคนี้อย่างน้อย 70 คนต่อปี หรืออาจจะมากกว่านั้น

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และไม่สะท้อนถึงอุบัติการณ์ของโรคในประเทศไทย เนื่องจากมีสมมติฐานว่าอุบัติการณ์ของโรค IEM ในต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือน่าจะสูงกว่าในเขตกรุงเทพมหานคร และจากการคาดการณ์พบว่ามีผู้ป่วยเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ (จากผู้ป่วยทั้งหมด) เท่านั้นที่เข้าถึงการรักษา อีก 87 เปอร์เซ็นต์ยังเข้าไม่ถึงการรักษาเนื่องจากไม่ได้รับการวินิจฉัย การตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดสำหรับโรคนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้จากการศึกษาของ HITAP พบว่าการรักษาทารกที่เป็นโรคนี้ในระยะที่ยังไม่มีอาการหรืออาการยังไม่มากมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ประหยัดต้นทุนในการดูแลรักษา เมื่อเทียบกับการรักษาในระยะที่อาการของโรคเป็นมากแล้ว

 

ตรวจได้เร็ว รักษาได้ทัน ลดความพิการและการเสียชีวิตในทารก

ปัจจุบันการตรวจกรองโรค IEM ในทารกแรกเกิดอย่างแม่นยำสามารถทำได้โดยใช้เทคโนโลยี Tandem Mass Spectrometry (TMS) หรือ MS/MS ซึ่งในประเทศไทยได้มีการพิจารณาบรรจุการตรวจกรองทารกแรกเกิดดังกล่าวเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในปี 2565 นี้แล้ว โดยกำหนดให้ขยายการตรวจคัดกรองนี้ในทารกแรกเกิด (Expanded Newborn Screening) เพื่อให้ทารกที่เป็นโรคตรวจพบได้เร็วก่อนแสดงอาการหรืออาการไม่มาก และได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว อันเป็นการลดความพิการและการเสียชีวิตในทารก และลดภาระของครอบครัวที่ต้องดูแลเด็กที่พิการในกรณีวินิจฉัยรักษาล่าช้า ซึ่งการรักษาโรค IEM ที่ตรวจกรองในทารกแรกเกิดก็อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์โรคหายากของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่ปี 2563 ดังนั้นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการตรวจกรองโรค IEM ในทารกแรกเกิดจึงเป็นการทำให้สิทธิประโยชน์มีความสมบูรณ์ครอบคลุมถึงการป้องกัน

อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาไปทีละขั้นตอนก่อนครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมี 2หน่วยงานที่สามารถให้บริการการตรวจกรองทารแรกเกิดด้วย TMS ในประเทศไทยคือ ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกและตรวจกรองทารกแรกเกิด โรงพยาบาลศิริราช และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับชุดสิทธิประโยชน์ การตรวจคัดกรองด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry (TMS) หรือเรียกว่า MS/MS อ่านได้ที่นี่ https://www.hitap.net/182688 และอ่านข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “รู้เร็ว รักษาไว ทางออกใหม่ในการค้นหาผู้ป่วย โรคพันธุกรรมเมตาบอลิกตั้งแต่แรกเกิด ด้วยเทคโนโลยี Tandem mass spectrometry (MS/MS)” อ่านได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/180836

28 กุมภาพันธ์ 2565

Next post > ชวนดูระบบหยุดความรุนแรงในครอบครัว ต่างประเทศหยุดอย่างไร?

< Previous post 5 หัวข้อปัญหาน่าสนใจในการพิจารณาชุดสิทธิประโยชน์ 2565

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ