logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รู้เท่าทัน ป้องกัน ลดเสี่ยงได้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases: STDs) คือกลุ่มโรคที่ติดต่อจากการติดเชื้อจากคนที่เป็นโรคหรือคนที่ติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทางปาก ทางทวารหนัก หรือบางกรณีมีการถ่ายทอดสู่ทารกขณะอยู่ในครรภ์ เป็นต้น ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อยมากจึงมีโอกาสที่จะไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อและเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้กับคู่นอนต่อไป

ด้านสถานการณ์ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในประเทศไทยมีแนวโน้มกลับมาเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขอีกครั้ง จากรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน (อายุ 15 – 24 ปี) ที่มีอัตราป่วยสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ดังนั้น การเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการป้องกันตั้งแต่เริ่มต้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งหากคุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ได้

เรามาศึกษาไปพร้อมกันว่าโรคต่าง ๆ ในกลุ่มนี้มีอะไรบ้าง อาการเบื้องต้นเป็นอย่างไร มีข้อแนะนำในการรักษาแบบไหน และสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีใดบ้าง เพื่อปกป้องตัวคุณเองและคู่นอนของคุณจากการติดเชื้อ

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด ได้แก่

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถรักษาให้หายแต่เป็นซ้ำได้หากได้รับเชื้อมาใหม่ ส่วนมากจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เช่น

โรคซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) สามารถติดต่อได้ 2 ทางคือ 1) จากมารดาสู่ทารก โดยมารดาที่มีเชื้อซิฟิลิสสามารถส่งเชื้อผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์และทำให้ทารกติดเชื้อหรือพิการตั้งแต่กำเนิด บางรายอาจคลอดก่อนกำหนด เกิดภาวะแท้ง หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ 2) การมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางช่องคลอด ทวารหนัก ช่องปาก ทั้งนี้ บางกรณีอาจได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสโดยตรง เช่น ท่อปัสสาวะ เยื่อบุตา รอยถลอกหรือบาดแผลที่ผิวหนัง โดยเมื่อได้รับเชื้อแล้วจะกระจายไปตามกระแสโลหิตและทำให้เกิดพยาธิสภาพได้เกือบทุกอวัยวะ

อาการของผู้ที่มีเชื้อซิฟิลิสแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกจะมีแผลที่อวัยวะเพศเป็นขอบแข็ง ไม่เจ็บ เรียกว่าแผลริมแข็ง หากไม่ได้รักษาแผลจะหายเองได้ใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่โรคจะดำเนินต่อไปคือมีผื่นขึ้นตามลำตัว ฝ่ามือฝ่าเท้า อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ ปวดศีรษะ ผมร่วง หากปล่อยไว้ไม่รักษา โรคจะเข้าสู่ระยะสงบคือไม่มีอาการใด ๆ และจะทราบได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น เมื่อเชื้อแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ สมอง น้ำไขสันหลัง อาจทำให้เกิดอาการหลอดเลือดหัวใจอักเสบ ตาบอด หูหนวก สมองพิการ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันการได้รับเชื้อดังกล่าวสามารถทำได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลซิฟิลิสของคู่นอน เข้ารับการตรวจการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ หรือไปพบแพทย์เมื่อมีความกังวลหรือสงสัยว่าตนเองติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และสตรีตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อลดผลกระทบและความรุนแรงของโรค

โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae)  เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถรักษาได้และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ มักแสดงอาการภายในประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ หรือบางรายอาจปรากฏอาการเมื่อผ่านไปหลายเดือน ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาช้า อาการของโรคหนองในแท้จะแตกต่างกันไปตามเพศ ดังนี้

ผู้ชายที่ติดเชื้อจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองข้นสีเหลืองหรือเขียวไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ โดยอาจเกิดหลังมีเพศสัมพันธ์ เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศอักเสบ ต่อมลูกหมากอักเสบ ท่ออสุจิตีบตัน และเพิ่มโอกาสในการเป็นหมันในอนาคต

อาการในผู้หญิงอาจไม่มีหรือมีน้อย เช่น ตกขาวผิดปกติ มีลักษณะเป็นน้ำหรือเส้นบาง ๆ สีออกเขียวหรือเหลือง รู้สึกเจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ หากไม่ได้รับการรักษาโรคจะลุกลามและอาจก่อให้เกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อรังไข่ตีบตัน เสี่ยงต่อการเกิดภาวะมีบุตรยาก ท้องนอกมดลูก รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์

การป้องกันการติดเชื้อโรคหนองในแท้สามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคหนองในหรือคู่นอนที่มีความเสี่ยง ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้เป็นประจำทุกปี

โรคหนองในเทียม (Chlamydia) เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียคลามีเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) จากการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ติดเชื้อ อาการของโรคหนองในเทียมบางรายอาจไม่ปรากฏชัดเจน ส่วนบางรายจะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อแล้วในระยะเวลา 1 – 3 สัปดาห์ และอาการจะแตกต่างกันตามเพศ ดังนี้

อาการในผู้ชาย มักพบว่ามีอาการปัสสาวะแสบขัด มีมูกใสหรือขุ่นไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ เกิดการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ บางรายอาจไม่มีอาการซึ่งหากไม่ได้รักษา โรคอาจลุกลามและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในลักษณะเดียวกับโรคหนองในแท้ เช่น โรคไขข้ออักเสบ โรคตาอักเสบ โรคทวารหนักอักเสบ เป็นต้น

อาการในผู้หญิง ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการตะคริวหรือรู้สึกเจ็บใต้ท้องน้อย ประจำเดือนเปลี่ยนแปลง ตกขาวผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น รู้สึกเจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ เลือดออกหรือรู้สึกเจ็บระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่มีอาการเหล่านี้หรือมีความกังวลว่าตนเองติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองและบำบัดรักษาหากติดเชื้อ เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ การตั้งครรภ์นอกมดลูก การเป็นหมันเนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับท่อรังไข่ ภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น

ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease: PID) คือ ภาวะที่มีการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงส่วนบน ได้แก่ มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และเยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อ ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 25 ปี มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การสวนล้างช่องคลอด เพิ่งใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด และการมีคู่นอนหลายคน

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ ส่วนผู้ที่มีอาการมักพบว่ามีการตกขาวผิดปกติหรือมีลักษณะเหมือนหนอง ปวดท้องน้อย มีไข้ รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกผิดปกติ ในผู้ที่เคยเป็นโรคหนองในแท้ หนองในเทียม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นมาก่อนจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ทั้งนี้ ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่เคยมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อนก็ตาม

หากพบว่ามีอาการที่ผิดปกติหรือตรวจพบเชื้อดังกล่าว ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว และควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น อีกทั้งควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มเติมด้วย เช่น เอชไอวี (HIV) หนองในแท้ และหนองในเทียม

 

โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถรักษาให้หายแต่เกิดซ้ำได้แม้ไม่ได้รับเชื้อเพิ่ม ได้แก่

โรคเริม (Herpes) เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus: HSV) ส่วนใหญ่แสดงอาการที่อวัยวะเพศ หรืออาจเกิดบนผิวหนังบริเวณอื่นของร่างกาย เช่น ตุ่มน้ำใสขึ้นที่ริมฝีปาก ในช่องปาก ร่วมกับอาการปวด แสบ และคัน สาเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนักโดยไม่ป้องกัน การใช้ปากในการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเม็ดตุ่มใสที่ปาก และการสัมผัสอวัยวะเพศกับผู้ที่ติดเชื้อโรคเริม โดยเมื่อมีการติดเชื้อเริมแล้วเชื้อจะหลบอยู่ในร่างกายและสามารถทำให้โรคกำเริบได้เมื่อร่างกายอ่อนแอ

การดูแลรักษาโรคเริมสามารถทำได้โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขอนามัยและหลีกเลี่ยงการเกาบริเวณที่เกิดอาการเพื่อป้องกันการติดเชื้อในเนื้อเยื่อ และทานยาบรรเทาปวด หากมีตุ่มพองลุกลามมาก ไข้สูงและไม่ลดภายใน 1 – 3 วัน เริ่มมีอาการทางดวงตา เช่น เจ็บหรือเคืองตา ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

เชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papilloma virus: HPV) เป็นเชื้อที่ได้รับมาจากการสัมผัสโดยตรงผ่านการมีเพศสัมพันธ์ สามารถแสดงอาการหลังติดเชื้อได้ 2 ลักษณะคือ 1) โรคหูดหงอนไก่ จะมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อนูน เรียบหรือขรุขระเล็กน้อยบริเวณอวัยเพศและทวารหนัก 2) อาการของโรคมะเร็งบริเวณอวัยวะเพศได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ และมะเร็งอวัยวะเพศชาย

เนื่องจากยังไม่มียาที่จะใช้กำจัดไวรัสนี้ได้ การป้องกันจึงจำเป็นอย่างยิ่งและสามารถทำได้หลายวิธีคือ การตรวจ PAP Test หรือ HPV Test เมื่อพบความผิดปกติในระยะต้น การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (HPV vaccine) สำหรับคนที่มีอายุ 9 – 45 ปี โดยเฉพาะก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกจะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการลดพฤติกรรมความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ เช่น หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

โรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการตับอักเสบเรื้อรังและมีสาเหตุการแพร่เชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสเลือด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี โดยการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบสามารถติดต่อได้จากกลุ่มผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่ในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการและมีโอกาสในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ เรียกว่า ‘พาหะ’ ซึ่งมักเป็นได้กับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเท่านั้น สามารถแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือเลือด เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เจ้าหน้าที่พยาบาลถูกเข็มฉีดยาที่มีเชื้อไวรัสตำมือ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ที่ติดยาเสพติด การสัก การให้เลือด หรือแม่สู่ลูก เป็นต้น

ไวรัสตับอักเสบบีเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ที่ได้รับเชื้อในช่วง 2 – 3 เดือนแรกที่มีการฟักตัวของเชื้อจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ตาเหลือง ฯ และจะหายเองได้ภายใน 2 – 3 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่อาการยังคงอยู่นานโดยที่ร่างกายไม่สามรถกำจัดเชื้อได้ ผู้ป่วยอาจมีโอกาสเป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังและมีภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวเพราะเชื้อไวรัสดังกล่าวจะเข้าไปทำลายเซลล์ตับทีละน้อยจนเกิดภาวะตับแข็งและอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งตับได้

ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีส่วนมากไม่แสดงอาการ หรือมักมีอาการเรื้อรัง เช่น รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ปวดท้อง มีไข้ น้ำหนักลด อารมณ์แปรปรวน ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นคัน เป็นต้น และเนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการผิดปกติทำให้ไม่ทราบว่าตนเองกำลังติดเชื้อ จะทราบก็ต่อเมื่ออาการปรากฏในช่วงที่ตับได้รับความเสียหายมากแล้ว โดยหากปล่อยไว้ไม่รับการรักษาอาจส่งผลให้เกิดโรคตับแข็งได้

การตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบโดยทั่วไปแพทย์จะทำการซักประวัติอาการ ประวัติการฉีดวัคซีน ตรวจการทำงานของตับ ภาวะแข็งตัวของเลือด การตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยาที่บ่งบอกการติดเชื้อหรือเคยติดเชื้อทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาไวรัสตับอักเสบชนิดต่าง ๆ รวมถึงตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสตับอักเสบเพราะอาจมีเชื้อในกระแสเลือดและสามารถแพร่สู่ผู้อื่นได้ ในผู้ป่วยที่เป็นพาหะสามารถให้ทานยาต้านไวรัสตับอักเสบเพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคต สำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ปัจจุบันสามารถให้วัคซีนในทารกหลังคลอดเพื่อป้องกันกันติดเชื้อเนื่องจากโอกาสในการติดเชื้อสูงมาก

โรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome: AIDS) คือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) ที่สามารถพบได้ในของเหลว เช่น เลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด น้ำนมของผู้ที่ติดเชื้อ ช่องทางการติดต่อที่สำคัญ ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีโดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ การสัมผัสเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อผ่านผิวหนังที่มีแผลเปิดหรือถลอก การรับเชื้อจากมารดาที่ติดเชื้อทั้งขณะตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และการให้นมทารก โดยเชื้อเอชไอวีจะทำให้ภูมิคุ้มกันของเม็ดเลือดขาวในร่างกายลดลง เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อและเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ จำนวนเม็ดเลือดขาวและประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคจะเสื่อมถอย ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้ออื่นและเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น วัณโรคและปอดบวม เป็นต้น

โดยเฉลี่ยแล้วระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันเม็ดเลือดขาวในร่างกายจะลดลงหลังได้รับเชื้อเอชไอวีคือประมาณ 8 – 10 ปี ซึ่งในระยะต้นภายหลังได้รับเชื้อช่วง 2 – 12 สัปดาห์แรก ผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏ หรือบางรายมีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้ทั่วไป ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์แล้วหายไปได้เอง จึงอาจทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะต้น และถึงแม้ว่าการติดเชื้อในระยะนี้จะไม่มีอาการและยังไม่ถือเป็นโรคเอดส์ แต่เชื้อเอชไอวีจะเจริญเติบโตไปเรื่อย ๆ และทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคจนมีจำนวนลดลง ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ในที่สุด เมื่อโรคดำเนินไปถึงระยะสุดท้ายที่ระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่แล้วจึงจะเรียกว่าเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ อาการหลักในระยะนี้คือ มีไข้เรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ไอเรื้อรังหรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอดหรืออาการปอดอักเสบ ท้องเสียเรื้อรังจากเชื้อราหรือโปรโตซัว น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้ง มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ พฤติกรรมเปลี่ยนจากเดิมเนื่องจากความผิดปกติของสมอง รวมถึงมีอาการของโรคมะเร็งแทรกซ้อน เช่น มะเร็งผนังหลอดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น

การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบันมีความก้าวหน้าและสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงหากตรวจพบเชื้อตั้งแต่ระยะต้น ๆ ก็สามารถให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อในร่างกาย และป้องกันไม่ให้โรคดำเนินไปสู่ระยะเอดส์ได้ กรณีที่ผู้ป่วยเข้าสู่ระยะโรคเอดส์แล้ว จะมีการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในการรักษาโดยผู้ป่วยต้องทานยาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เนื่องจากยังไม่มียาที่สามารถกำจัดไวรัสนี้และรักษาให้หายขาดจากโรคได้

สำหรับการป้องกันทารกจากการติดเชื้อเอชไอวี คู่สมรสที่วางแผนจะมีลูกหรือเมื่อเริ่มไปฝากครรภ์ ควรตรวจคัดกรองเอชไอวีและโรคติดต่อต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ร่วมด้วย หากพบการติดเชื้อในสตรีที่ตั้งครรภ์ให้รีบรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส งดการให้นมทารกและให้ทารกทานยาต้านไวรัสอย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังคลอดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ส่วนการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีทางเพศสัมพันธ์สามารถทำได้โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

หากมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อเอชไอวีหรือเคยมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาเพร็พ (PrEP) ที่ใช้ในการต้านไวรัส ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยทานก่อนมีโอกาสสัมผัสเชื้อ เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย เปลี่ยนคู่นอนหลายคน เป็นต้น หรือเข้ารับยาเป็ป (PEP) ยาต้านเชื้อเอชไอวีแบบฉุกเฉิน ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสภายใน 72 ชั่วโมง โดยชุดบริการยาเป็ปได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปี 2565 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการรักษาที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยมอบบริการครอบคลุมประชาชนชาวไทยทุกคน ไม่จำกัดจำนวนครั้งและไม่มีค่าใช้จ่าย

 

โรคที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถเป็นได้ เช่น

ภาวะเชื้อราช่องคลอด (Bacterial Vaginosis: BV) ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และสามารถรักษาให้หายได้ มีสาเหตุมาจากความไม่สมดุลของแบคทีเรียภายในช่องคลอด ทำให้ช่องคลอดมีอาการอักเสบ คัน และตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือบางรายอาจไม่ปรากฏอาการ ผู้หญิงในทุกช่วงวัยมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้และมักพบมากในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ช่วงอายุระหว่าง 15 – 49 ปี รวมถึงอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยอื่น เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การสวนล้างช่องคลอด การใส่ห่วงคุมกำเนิดในสตรีที่มีประจำเดือนกะปริดกะปรอย เป็นต้น

ถึงแม้ว่าภาวะเชื้อราช่องคลอดจะไม่ใช่โรคที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่เมื่อเป็นแล้วควรได้รับการรักษา เพราะอาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นในระยะยาว เช่น ภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน การติดเชื้อของรอยเย็บหลังผ่าตัดมดลูก หากตั้งครรภ์อาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ เป็นต้น

โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่ชื่อว่า Trichomonas vaginalis มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ ทำให้หลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังติดเชื้อและมีโอกาสแพร่เชื้อไปสู่คู่นอนของตนเองได้

พยาธิในช่องคลอดจะก่อให้เกิดอาการตกขาวมากผิดปกติ เป็นฟองและอาจส่งกลิ่นเหม็น บริเวณอวัยวะเพศระคายเคืองหรือแสบ มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด ปวดปัสสาวะบ่อย มีอาการปวดขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ หากปล่อยไว้โดยไม่เข้ารับการรักษา อาจก่อให้เกิดอาการท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก และการมีบุตรยากในอนาคต

เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ จึงสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงในการรับเชื้อได้ด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนหลายคน รวมถึงหมั่นสังเกตอาการหรือความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

ถึงแม้ว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วจะสามารถรักษาให้หายได้ แต่บางโรคก็อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น การตอบสนองต่อโรคเพื่อแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การมีองค์ความรู้อย่างรอบด้านและเท่าทันกับบริบท รวมถึงการตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรค จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดความเสี่ยงที่จะได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

 

อ้างอิง

https://www.cdc.gov/std/default.htm

https://www.cdc.gov/std/general/default.htm

https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=30

https://www.pidst.or.th/A732.html

https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1006020200507053840.pdf

https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=147

https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=883

https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue039/health-station

18 กุมภาพันธ์ 2565

Next post > ยารักษาโควิด-19 WHO แนะนำอะไร ? ใช้ในกลุ่มใดบ้าง (22 เมษายน 2565)

< Previous post ส่องงานวิจัยไทย – เทศ เสียงร้องของเหยื่อความรุนแรง ยังมี “ช่องว่าง” ใดที่ไปไม่ถึงการช่วยเหลือ ?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ