logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ส่องงานวิจัยไทย – เทศ เสียงร้องของเหยื่อความรุนแรง ยังมี “ช่องว่าง” ใดที่ไปไม่ถึงการช่วยเหลือ ?

เสียงร้องขอความช่วยเหลือจากเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวอาจอยู่ใกล้เราทุกคน แต่กลับไปไม่ถึงความช่วยเหลือ เมื่อเร็ว ๆ นี้งานวิจัยจากประเทศนอร์เวย์พบว่าเหตุรุนแรงครอบครัวในช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 เพิ่มขึ้นกว่า 54 % อะไรคือ “ช่องว่าง” ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือ ? HITAP วิจัยเพื่อค้นหาช่องว่างดังกล่าว โดยข้อค้นพบจากการทบทวนการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศพบจุดร่วมหลายอย่างดังต่อไปนี้

 

วิจัยไทยพบ คนทำงานช่วยเหลือ “ขาดมาตรการป้องกัน ติดตาม ขาดทักษะ” ผู้ประสบเหตุ “ไม่เอาเรื่อง กลัวอิทธิพล อับอาย ขาดข้อมูล”

จากการทบทวนวรรณกรรมในประเทศไทย พบงานวิจัย 5 ชิ้นตั้งแต่ปี 2559 – 2564 และการบรรยายวิชาการ 2 หัวข้อ โดยมีรูปแบบการศึกษาที่หลากหลายทั้งเชิงพรรณนา เก็บข้อมูลวิเคราะห์เชิงปริมาณและการวิเคราะห์เอกสาร

ผลสรุปจากการทบทวนงานทั้งหมดพบว่า ปัญหาและอุปสรรคการเข้าถึงบริการสำหรับผู้ถูกกระทำความรุนแรงมาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนของผู้ให้บริการช่วยเหลือ และส่วนของผู้รับการช่วยเหลือ

ในส่วนของผู้ให้บริการช่วยเหลือ พบว่าส่วนใหญ่มีเพียงบริการภายในโรงพยาบาล ยังขาดรูปแบบการทำงานเชิงป้องกันและขาดการติดตามฟื้นฟูนอกหน่วยงานหรือชุมชน มีภาระงานมากเกินไป การทำงานรวมถึงการประสานงานมีความล่าช้า รวมถึงกระบวนการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตยังมีปัญหา และทัศนคติยังไม่เปิดกว้างและเป็นกลางอย่างเพียงพอกับปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งนี้ส่งผลให้ยังไม่มีระบบให้ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นมิตร เป็นธรรมและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีความซับซ้อนและผลกระทบหลายด้าน ผู้ให้บริการช่วยเหลือจึงต้องมีเทคนิคทักษะเฉพาะทาง แต่หน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือยังขาดการจัดการความรู้ด้านนี้

ในส่วนของผู้รับการช่วยเหลือ พบปัญหาผู้ถูกกระทำรวมถึงผู้พบเห็นเหตุรุนแรงเลือกที่จะไม่ดำเนินการใด ๆ อันมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ช่องทางการร้องเรียนต้องใช้บริการใกล้ที่อยู่อาศัยซึ่งทำให้รู้สึกอับอายได้ การขาดความรู้เกี่ยวกับกฎหมายหรือสิทธิ ตัวผู้ประสบเหตุหวาดกลัวอิทธิพลของผู้กระทำ นอกจากยังมีความเชื่อและทัศนคติที่ทำให้ไม่กล้าเอาเรื่อง มีความเชื่อว่าความรุนแรงเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด ความรุนแรงในชีวิตคู่เป็นเรื่องส่วนตัว รู้สึกอับอายจากการถูกกระทำ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งสองส่วนมีหลายส่วนที่เชื่อมโยงถึงกัน เช่น ทัศนคติความเชื่อของผู้รับการช่วยเหลือส่งผลให้ผู้ให้บริการช่วยเหลือได้ยากขึ้นจากการให้ปากคำที่ไม่เพียงพอ ขณะที่ผู้ให้บริการที่มีทัศนคติที่ไม่ดีก็ส่งผลให้ผู้รับการช่วยเหลือรู้สึกอับอายด้วย

 

วิจัยต่างประเทศชี้ “งบ บุคลากรไม่เพียงพอ ทัศนคติยังมีปัญหา ขาดการส่งต่อความช่วยเหลือ ยังขาดความไว้ใจและมีการตีตราในสังคม”

ในงานวิจัยของ HITAP มีการทบทวนวรรณกรรมในต่างประเทศเพื่อนำมาวิเคราะห์พบงานวิจัยทั้งสิ้น 3 ชิ้นตั้งแต่ปี 2015 – 2020 โดยมีรูปแบบการศึกษาทั้งการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ การสัมภาษณ์เชิงลึกและการเก็บข้อมูลแบบกลุ่ม

ผลการทบทวนวรรณกรรมในต่างประเทศพบว่า ผู้ให้บริการช่วยเหลือในประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำมีข้อจำกัดด้านการจัดสรรงบประมาณ นโยบายของภาครัฐไม่มีความชัดเจนส่งผลให้งบประมาณ ทรัพยากรบุคคลรวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ขั้นพื้นฐานไม่เพียงพอ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังคงทัศนคติในเชิงลบและขาดความเข้าใจในการดูแลทั้งทางกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำความรุนแรง หน่วยบริการเข้าไม่ถึงบางพื้นที่ เช่น เขตพื้นที่ชนบท

ในส่วนของผู้รับบริการช่วยเหลือนั้นพบปัญหาการเข้าไม่ถึงทรัพยากร ความยากจน ขาดการขนส่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นอกจากนี้ยังขาดความไว้วางใจต่อการเข้ารับบริการ และยังต้องเผชิญกับการตีตรา ความละอายในสังคมเช่นกัน

 

สรุปรวมผลการทบทวนวรรณกรรมทั้งในและต่างประเทศจึงพบว่าอุปสรรคในการเข้าถึงบริการที่มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกัน ประเด็นเหล่านี้ทีมวิจัยจะใช้เป็นข้อมูลเพื่อดำเนินการวิจัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อค้นหาหนทางแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายต่อไป

ติดตามงานวิจัยการพัฒนาข้อเสนอแนะระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ถูกกระทำความรุนแรงเพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะปิด “ช่องว่าง” ของปัญหาเหล่านั้นได้ที่ HITAP เร็ว ๆ นี้

 

อ้างอิง

Intimate partner violence during COVID-19 lockdown in Norway: the increase of police reports [LINK]

การศึกษารูปแบบการบริการเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงและการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การศึกษาย้อนหลัง 10 ปี ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลขอนแก่น โดย เยาวเรศ คำมะนาด, และจรรยาภรณ์ รัตนโกศล(2564) อ่านได้ที่นี่ [LINK]

การป้องกันความรุนแรงจากคู่ในสตรี Prevention of Intimate Partner Violence Against Women โดย นารีรัตน์ บุญเนตร และคณะ, (2561) อ่านได้ที่นี่ [LINK]

ความรุนแรงในครอบครัวในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันตก [บทความ] โดย ปพนธีร์ ธีระพันธ์ (2559) อ่านได้ที่นี่ [LINK]

โครงการเสนอแนะ “การออกแบบระบบบริการและภาพลักษณ์ของศูนย์พึ่งได้และชันสูตร โรงพยาบาลตำรวจ(OSCC) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในให้การบริการ โดย ศุภกานต์ ไชยนวล (2562) อ่านได้ที่นี่ [LINK]

การรับรู้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ในครอบครัวของภรรยาที่สามีติดสุรา Perception of the Right in Protection of Domestic Violence Victims Responded by the Wives of Alcohol Dependence Husbands โดย สุกรรณ์ยา งามชัด, กฤตยา แสวงเจริญ (2560) [LINK]

การบรรยาย “ทำอย่างไรเมื่อผู้หญิงเลือกยุติ แต่อายุครรภ์เกิน” โดย โครงการสายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 และเครือข่ายส่งต่อบริการ (2560)

การบรรยาย “การดำเนินงานศูนย์พึ่งได้ OSCC ของกระทรวงสาธารณสุข” โดย สำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (2558)

The implementation and effectiveness of the one stop centre model for intimate partner and sexual violence in low- and middle-income countries: a systematic review of barriers and enablers, Olson et al, 2019 [LINK]

Socioeconomic inequalities in victims of intimate partner violence in Europe: Diogo Costa, Costa et al, 2017 [LINK]

Treatment Barriers to Social and Health Care Services from the Standpoint of Female Substance Users in Finland [LINK]

14 กุมภาพันธ์ 2565

Next post > โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รู้เท่าทัน ป้องกัน ลดเสี่ยงได้

< Previous post เปิดงานวิจัยกักตัวแพทย์กี่วันดี หลากข้อค้นพบ “วันกักตัวที่เหมาะสม – ความเครียด - ชุด PPE ขาดแคลน” ควรปรับปรุงอย่างไร ?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ