เปิดงานวิจัยกักตัวแพทย์กี่วันดี หลากข้อค้นพบ “วันกักตัวที่เหมาะสม – ความเครียด – ชุด PPE ขาดแคลน” ควรปรับปรุงอย่างไร ?
ระยะเวลากักตัว 14 วันเป็นการคาดการณ์จากระยะฟักตัวของโรค คือ ระยะเวลานับจากเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้วฟักตัวจนเราป่วย ซึ่ง 14 วันเป็นระยะเวลาที่เผื่อไว้เพื่อความปลอดภัย ไม่มีใครรู้ว่าโรคใช้เวลาฟักตัวจริงๆ กี่วัน ถ้าอย่างนั้นการกักตัว 14 วันเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมแล้วหรือไม่? ถ้าลดระยะเวลาลงจะยังปลอดภัยอยู่หรือเปล่า?
HITAP ชวนเปิดงานวิจัย “การศึกษาเพื่อพัฒนามาตรการกักตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19” เพื่อหาเวลากักตัวที่เหมาะสมของบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงสัมผัสโรค รวมถึงข้อค้นพบที่น่าสนใจอื่นท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
แพทย์เสี่ยงสูงควรกักตัวเป็นกี่วันถึงเหมาะสม
การศึกษานี้เก็บข้อมูลในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 หรือก็คือช่วงการระบาดในเคสมหาชัยถึงก่อนการมาถึงของสายพันธุ์เดลต้า มีอาสาสมัครเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เสี่ยงทั้งสิ้น 153 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ในแผนกฉุกเฉินและแผนกผู้ป่วยวิกฤต ทีมวิจัยใช้วิธีติดตามข่าวคลัสเตอร์ในสถานพยาบาลและประสานงานอย่างรวดเร็วเพื่อเก็บตัวอย่างนำมาวิจัย โดยมีการตรวจในวันที่ 5 10 และ 14 ของการกักตัว
ผลการเก็บข้อมูลพบว่า จากบุคลากร 153 รายมีบุคลากรตรวจพบเชื้อ 2 รายในวันที่ 5 และพบเชื้อ 1 รายในวันที่ 10 ทั้งนี้ บุคลากรทั้ง 3 รายได้รับวัคซีนเป็นซิโนแวค 2 เข็มซึ่งมีระดับภูมิคุ้มกันระดับนึง[1]และไม่ได้มีการสวมใส่อุปกรณ์ PPE (Personal Protective Equipment) แบบครบชุดขณะปฏิบัติงานเนื่องจากอุปกรณ์ไม่เพียงพอ
ผลจากการวิจัยพบว่า แม้จะรับวัคซีนแล้วก็ยังควรเฝ้าระวังการติดเชื้อในช่วง 5 – 10 วันแรก ขณะที่ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การสวมใส่ชุด PPE รวมถึงชนิดของวัคซีน
ท้ายที่สุด งานวิจัยนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปของระยะเวลากักตัวที่เหมาะสมได้ เนื่องจากในกลุ่มตัวอย่างมีผู้ติดเชื้อน้อยเกินไปเทียบกับงานวิจัยอื่น ๆ อีกทั้งยังมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มีการฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์และคนทั่วไปเพิ่มขึ้น สถานพยาบาลปรับให้มีการกักตัวที่ 5 – 7 วันรวมกับการตรวจแบบ nasopharyngeal swab เพื่อตรวจหาเชื้อ ทว่าผลการศึกษายังคงแสดงให้เห็นว่า บุคลากรที่ฉีดวัคซีนแล้วยังคงพบการติดเชื้อได้ จึงควรมีการตรวจระดับแอนติบอดีในบุคลากรทางการแพทย์อาจมีประโยชน์ต่อการวางแผนฉีดวัคซีนในอนาคต
ความเครียดจากการกักตัวทำให้คุณภาพชีวิตลดลงในช่วง 5 วันแรก และเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น
งานวิจัยนี้ยังมีข้อค้นพบด้วยว่า บุคลากรที่อยู่ในช่วงการเฝ้าระวัง 14 วัน มีคุณภาพชีวิต (วัดจาก EQ-5D-5L[2]) ต่ำลง ซึ่งส่วนมากเกิดจากความวิตกกังวลและความซึมเศร้าจากการต้องปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตอยู่คนเดียวในพื้นที่จำกัด
อย่างไรก็ตาม ในการวิจัยที่ตรวจ RT-PCR วันที่ 5 10 และ 14 พบว่า เมื่อบุคลากรการกักตัวถึงวันที่ 5 ซึ่งเป็นวันที่ได้รับการตรวจครั้งแรก คุณภาพชีวิตโดยเฉลี่ยจะดีขึ้น สาเหตุมาจากในช่วง 5 วันแรกมีความกังวลถึงการติดเชื้อ เมื่อทราบผลจึงทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
นอกจากนี้ ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด กลุ่มที่ได้สวมใส่เครื่องป้องกัน PPE มีค่าคุณภาพชีวิตหลังวันที่ 5 ที่ดีขึ้นกว่ากลุ่มอื่นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ มีสถานพยาบาลแห่งหนึ่งที่มีมาตรการกักตัวนานถึง 28 วันซึ่งทำให้เกิดความเครียดสะสมได้
บุคลากรทางการแพทย์มีอุปกรณ์ PPE แบบครบชุดเพียงที่ร้อยละ 5 เท่านั้น
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น งานวิจัยนี้มีการเก็บข้อมูลช่วงการระบาดในเคสมหาชัยถึงก่อนการมาถึงของสายพันธุ์เดลต้า ผลการเก็บข้อมูลพบว่า มีบุคลากรทั้ง 3 รายที่พบว่าติดเชื้อนั้นไม่ได้มีการสวมใส่อุปกรณ์ PPE แบบครบชุดขณะปฏิบัติงาน
ในการวิจัยพบว่า พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลและนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในแผนกฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด (รวมถึงห้องคลอด) และแผนกผู้ป่วยในมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อมากที่สุดในหมู่บุคลากรด่านหน้า
และการศึกษานี้พบว่า อุปกรณ์ PPE ครบชุด ไม่ได้ถูกจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกรายที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลโดยมีบุคลากรทางการแพทย์ร้อยละ 5 เท่านั้นที่ได้สวมใส่อุปกรณ์ PPE ครบชุด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์ของชุด PPE บางชิ้น เช่น หน้ากากชนิด N95 และ ชุดคลุม การจัดสรรอุปกรณ์ PPE ครบชุด เป็นการจัดสรรให้แก่บุคลากรด่านหน้าที่ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยโควิด-19 เท่านั้น
ข้อค้นพบนี้อาจช่วยผลักดันนโยบายในการจัดสรรทรัพยากรจำเป็น เช่น PPE แบบครบชุดให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในช่วงที่มีการระบาดในทุกแผนก นอกเหนือจากวอร์ดผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย นอกจากนี้ บุคลากรที่มีอายุมากมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อมากขึ้นจากเพื่อนร่วมงานหรือครอบครัวเมื่อเปรียบเทียบกับการสัมผัสจากการดูแลผู้ป่วย ดังนั้น ควรมีการเน้นย้ำถึงมาตรการการรักษาระยะห่าง (social distancing) ระหว่างกลุ่มบุคลากรที่ปฏิบัติงานมากขึ้น เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าบุคลากรที่สัมผัสเชื้อนั้นมาจากการพบปะและรวมกลุ่มกันระหว่างเพื่อนร่วมงานส่วนหนึ่ง
ผลการวิจัยพบว่า ในส่วนของการสนับสนุนบุคลากรด้านการแพทย์ ควรมีการจัดชุดป้องกัน PEE ให้เพียงพอ ทั่วถึงและเป็นธรรม พัฒนาระบบการทำงาน เช่น จัดให้มีเวรทำงานแยกเป็นกลุ่มโดยแต่ละกลุ่มไม่มีโอกาสสัมผัสกัน สนับสนุนด้านปัญหาสุขภาพจิตและมีเงินชดเชย สิ่งเหล่านี้จะช่วยทั้งลดความเสี่ยงการติดเชื้อและยังช่วยให้เกิดกำลังใจในการทำงานอีกด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากบุคลากรที่ฉีดวัคซีนแล้วยังคงพบการติดเชื้อได้ งานวิจัยจึงเสนอให้ควรมีการตรวจระดับแอนติบอดีในบุคลากรทางการแพทย์อาจมีประโยชน์ต่อการวางแผนฉีดวัคซีนในอนาคต
ติดตามรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้เร็วๆ นี้ได้ที่ https://www.hitap.net/research/178217
[1] หมายเหตุ : ข้อมูลระดับแอนติบอดีจากวัคซีนในงานวิจัยนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อประเมินประสิทธิผลของวัคซีน
[2] EQ-5D-5L เครื่องมือประเมินคุณภาพชีวิตโดยครอบคลุมมิติ 5 ด้าน ได่แก่ การเคลื่อนไหว การดูแลตัวเอง การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ความเจ็บปวและการไม่สุขสบาย