logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
สิทธิประโยชน์ใหม่ปี 2565 งานวิจัยมีส่วนช่วยอย่างไรบ้าง?

โลกที่ว่าเปลี่ยนเร็วแล้ว โรคภัยไข้เจ็บอาจเปลี่ยนเร็วกว่า เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ งานวิจัยมีส่วนช่วยอย่างไรบ้างเบื้องหลังสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้? HITAP ขอพาทุกท่านเปิดตัวอย่างสิทธิประโยชน์ของปี 2022 นี้เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลนโยบายสุขภาพและระบบสุขภาพ รวมถึงมองเห็นความเปลี่ยนแปลง ที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น

 

1) การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry ในเด็กแรกเกิด

โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก (inherited metabolic disorders หรือ inborn errors of metabolism : IBEM) เป็นโรคทางพันธุกรรมหายากที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เด็กที่ป่วยโรคนี้เข้าถึงการรักษาได้ยากเนื่องจากโรคนี้เป็นที่รู้จักน้อยมาก มักจะรู้จักในกลุ่มแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น ซ้ำร้ายอาการของโรคยังเหมือนอาการทั่วไปคือไม่กินนม ร้องไห้ เบื่ออาหารซึ่งเป็นอาการป่วยทั่ว ๆ ไป ทำให้กว่าจะค้นพบว่าเด็กป่วยโรคนี้ อาการทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับสารบางชนิดได้ก็ทำให้เกิดการคั่งของสารในร่างกายจนเกิดอาการรุนแรงขึ้นแล้ว อาการรุนแรงจะเกิดตามบริเวณที่สารเข้าคั่ง เช่น หากสารคั่งในสมองอาจจะพิการทางสมอง หรือคั่งในระบบประสาทก็อาจพิการแขนหรือขาได้ ที่ผ่านมามีเด็กที่ป่วยและได้รับการรักษาช้าซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อครอบครัว การคัดกรองด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry (TMS) หรือเรียกว่า MS/MS โดยใช้การเจาะเลือดจากส้นเท้าทารกหยดลงกระดาษกรอง เป็นการตรวจความเข้มข้นของสารต่าง ๆ ในเลือด มีความไวและความจำเพาะสูงและเป็นการตรวจเดียวที่สามารถหาโรคพันธุกรรมนี้ได้ เครื่องตรวจนี้มีราคาสูงและมีเพียง 2 เครื่องเท่านั้นในประเทศไทย การตรวจนี้จะช่วยให้เด็กได้รับการรักษาจะยังคงสามารถมีชีวิตได้อย่างปกติโดยงดเว้นอาหารบางชนิด นอกจากนี้เครื่องนี้ยังสามารถตรวจพบโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ ได้มากกว่า 40 โรค

งานวิจัยช่วยให้ข้อมูลว่าการตรวจคัดกรองนี้แสดงให้เห็นว่าการตรวจคัดกรองนี้ช่วยประหยัดงบประมาณในส่วนของค่ารักษาพยาบาลหากเด็กป่วยโรคนี้แสดงอาการแล้ว และยังเป็นการตรวจเดียวที่ช่วยให้เด็กเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงมีมติเห็นชอบสิทธิประโยชน์นี้ให้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2565

อ่านข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “รู้เร็ว รักษาไว ทางออกใหม่ในการค้นหาผู้ป่วย โรคพันธุกรรมเมตาบอลิกตั้งแต่แรกเกิด ด้วยเทคโนโลยี Tandem mass spectrometry (MS/MS)” เพิ่มเติมได้ที่นี่  https://www.hitap.net/documents/180836

 

2) การคัดกรองรอยโรคเสี่ยงและมะเร็งช่องปาก (CA Oral Screening) ในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป

การเกิดมะเร็งช่องปากมีมากขึ้นในสังคมไทย ข้อมูลปี พ.ศ. 2550 – 2552 พบว่ามะเร็งช่องปากเกิดในคนไทยมากเป็นอันดับ 6 และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักพบแพทย์ในระยะลุกลามยากต่อการรักษา ที่ผ่านมาในปี พ.ศ. 2559 มีงานวิจัยประเมินการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งช่องปาก ซึ่งมีรายละเอียดการคัดกรองหลายขั้นตอน งานวิจัยครั้งนั้นพบว่าการคัดกรองไม่คุ้มค่า จึงมีข้อเสนอแนะให้ปรับขั้นตอนการคัดกรองเพื่อให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ายิ่งขึ้น ต่อมาจึงมีการวิจัยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2564 พบว่าการคัดกรองนี้มีความคุ้มค่าในบริบทของสังคมไทยแล้ว[1] นอกจากนี้หากเทียบกับกรณีไม่มีการคัดกรองยังพบว่า หากไม่มีการคัดกรองจะทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาได้ช้า มีอัตรารอดชีวิตลดลงและกลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะ 3 – 4 ได้ซึ่งจะมีต้นทุนค่ารักษาเพิ่มขึ้น งานวิจัยจึงเสนอให้เพิ่มการคัดกรองนี้ในชุดสิทธิประโยชน์

อ่านข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “นโยบายคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก เพิ่มการเข้าถึง ลดตาย ลดค่ารักษา ราคาคุ้มค่าในบริบทของสังคมไทย” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/181023

และ “จัดโปรแกรมคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปากในประเทศไทยอย่างไรให้คุ้มค่า” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/166999

 

3) การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ไม่มีฟันทั้งปาก

นับจากปี 2546 ที่บอร์ดสปสช. กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมทำให้คนไทยมีสิทธิเข้าถึงบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพและมาตรฐาน หลายปีต่อมาสุขภาวะในช่องปากของคนไทยดีขึ้น ทว่ายังพบปัญหาการสูญเสียฟันทั้งปากกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างหนัก ในปี พ.ศ. 2551 สปสช. จึงได้บรรจุฟันเทียมแบบสวมเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ ถึงอย่างนั้นก็ยังผู้สูญเสียฟันบางรายไม่สามารถใส่ฟันเทียมได้เนื่องจากปัญหาฟันเทียมทั้งปากหลวมจนเกิดบาดเจ็บ แม้งานวิจัยประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์จะบอกว่าการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมคุ้มค่า แต่ยังพบว่า ณ เวลานั้นหน่วยบริการ เทคโนโลยีและทันตแพทย์ยังไม่เพียงพอ

ในปี พ.ศ. 2562 ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทยได้เสนอให้บรรจุบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ เนื่องจากการใส่รากฟันเทียมเป็นบริการที่จำเป็นในผู้ป่วยบางราย ประกอบกับเทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปและมีความพร้อมในการบริการมากขึ้น ด้านสปสช. ก็เล็งเห็นความสำคัญจึงได้รับข้อเสนอเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และมอบหมายให้ HITAP ประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพและผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์ในการให้บริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมในผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปากในประเทศไทย ท้ายที่สุดในปี พ.ศ. 2565 นี้เอง เมื่อข้อมูลเพียงพอสปสช. จึงพิจารณาให้สิทธิประโยชน์รากฟันเทียมเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในที่สุด อ่านรายละเอียดงานวิจัยได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/177332

 

นอกจาก 3 สิทธิประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในปี พ.ศ. 2565 นี้ ยังมีชุดสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรองคู่หญิงตั้งครรภ์ ในการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย ซึ่งงานวิจัยนโยบายสุขภาพเคยได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไว้ https://www.hitap.net/documents/177332 แต่ละปีงานวิจัยถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

 

อ้างอิง

https://www.dailynews.co.th/news/625420/

[1] เกณฑ์ความคุ้มค่าของประเทศไทย คือการพิจารณาให้ใช้ต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มต่อหน่วยประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้น 1 หน่วย ในที่นื้คือ 1 ปีสุขภาวะโดยเกณฑ์ความคุ้มค่าของมาตรการด้านสุขภาพ หรือก็คือใช้อัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (incremental cost – effectiveness ratio หรือ ICER) น้อยกว่า 160,000 บาท / ปีสุขภาวะ

7 มกราคม 2565

Next post > เปิดงานวิจัยกักตัวแพทย์กี่วันดี หลากข้อค้นพบ “วันกักตัวที่เหมาะสม – ความเครียด - ชุด PPE ขาดแคลน” ควรปรับปรุงอย่างไร ?

< Previous post ปีใหม่2022 vs โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โลกมีวิธีรับมืออย่างไร ?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ