ปีใหม่2022 vs โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โลกมีวิธีรับมืออย่างไร ?
ปีใหม่ 2022 ใกล้มาถึง การรับมือโควิด-19 หลังการระบาดยาวนานกว่า 2 ปีมีแนวโน้มเปลี่ยนไป จากคลัสเตอร์ครั้งใหญ่ต้องไล่ปิดเมือง สู่เมืองที่ยังคงเปิดอย่างระมัดระวังท่ามกลางการระบาด โลกเรียนรู้เพื่อจะอยู่กับโควิด-19 อย่างรวดเร็ว ต้องเร็วเพื่อให้เท่าทันสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้น ต่อไปนี้คือ 4 ข้อสังเกตจากความเคลื่อนไหวด้านนโยบายการรับมือโควิด-19 ที่เปลี่ยนไปจากหน่วยงานด้านสุขภาพในหลายประเทศทั่วโลก
หลังการมาถึงของวัคซีน หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น คลายการปิดเมืองลง โดยจะปิดเมืองเฉพาะเมื่อเกิดกรณีการระบาดดังที่เกิดกับสายพันธุ์เดลต้าในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2564
ในส่วนของการระบาดของโอไมครอนนี้ หลายประเทศยังคงมาตรการที่เข้มงวด เน้นการเฝ้าระวังและความเข้มงวดของการตรวจคัดกรอง แต่ยังไม่ใช้มาตรการปิดเมืองโดยยังคงรอดูผลการศึกษาที่เพิ่มขึ้นเพื่อตัดสินใจ ตัวอย่างมาตรการที่บางประเทศให้รับมือ อาทิ การเลื่อนหรือยกเลิกกิจกรรมรวมตัวเท่าที่จำเป็น เช่น อังกฤษเลื่อนการแข่งขันฟุตบอลเฉพาะบางแมตช์ที่เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มนักกีฬาจนไม่สามารถแข่งขันได้ ขณะที่บางแมตช์การแข่งขันแม้จะพบเคสในกลุ่มผู้เล่นก็ยังให้ดำเนินการแข่งขันตามกำหนดเดิม ขณะที่สหรัฐอเมริกาแถลงเตือนประชาชนแต่ยังไม่ให้ตื่นตระหนกหรือใช้มาตรการปิดเมืองแต่อย่างใด
นอกจากนี้ มาตรการกักตัว 14 วันได้ถูกยกเลิกแล้วในหลายประเทศ และแทนที่ด้วยมาตรการอื่น เช่น ใบรับรองการฉีดวัคซีนหรือผลการตรวจ ATK หรือ RT-PCR ที่ตรวจภายในเวลาที่กำหนด หรือการกักตัวแบบมีเงื่อนไข เช่น หากไม่เคยรับวัคซีนจะต้องกักตัว 10 วันเพื่อตรวจโควิด-19 โดยจะมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยเดิมทีใช้ระบบ test & go ที่ใช้ผลตรวจเป็นลบไม่เกิน 72 ชม. แต่หลังจากการเข้ามาของโอไมครอนก็มีแผนจะปรับให้กลับมากักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศเป็นเวลา 7 – 10 วัน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศแอฟริกายังคงถูกจำกัดการเดินทางไปยังต่างประเทศโดยยกเว้นให้เฉพาะมีเหตุจำเป็นทางธุรกิจและการทูตเท่านั้น โดยจะต้องทำตามเงื่อนไข เช่น มีผลตรวจเป็นลบและกักตัวครบ 14 วัน
วัคซีนกลายมาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการควบคุมโควิด-19 แม้แรกเริ่มจะมาพร้อมความกังวลจากการพัฒนาวัคซีนที่รวดเร็ว แต่สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงทำให้หลายประเทศเลือกใช้วัคซีนเพื่อควบคุมโรค สิ่งที่ตามมาคือผลการศึกษาจากข้อมูลการติดตามการใช้วัคซีนมีมากเพียงพอให้เกิดการใช้วัคซีนที่เพิ่มขึ้น
โดยที่ผ่านมามีการให้วัคซีนเริ่มจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มวัยทำงานที่ต้องพบปะผู้คนและมีการขยายกลุ่มรับวัคซีนโดยให้ในกลุ่มเด็ก 18 ปีขึ้นไป ก่อนปรับให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มเด็กที่อายุน้อยลง จากข้อแนะนำขององก์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ทำให้หลายประเทศอนุมัติให้มีการใช้วัคซีนในเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปแล้ว เช่น เยอรมัน สเปน ฝรั่งเศส ฮังการีรวมถึงไทยและกรมควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ก็อนุมัติแล้วเช่นกัน โดยบางประเทศอย่างสวิสเซอร์แลนด์มีแผนที่จะฉีดในเด็ก 5 ปีในช่วงเดือนมกราคมแล้ว
ขณะที่ฮ่องกงและจีนเป็น 2 ประเทศที่ขยายการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 3 ปีแล้ว การให้วัคซีนในเด็กแม้จะมีความเสี่ยงแต่กลับเป็นสิ่งที่หลายประเทศเลือกเพื่อใช้ควบคุมโรคหลังจากที่มีตัวเลขการติดเชื้อในกลุ่มเด็กพุ่งสูงขึ้น
วัคซีนเข็มกระตุ้นหรือ Booster Dose มีข้อกังวลจากหลายฝ่ายเนื่องจากเป็นการใช้งานนอกเหนือจากแนวทางที่มีการเก็บข้อมูลพัฒนาวัคซีน แต่ผลการฉีดที่ช่วยให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้นก็ทำให้หลายประเทศเลือกให้วัคซีนเข็มกระตุ้น และมีแนวโน้มที่จะให้ในวงกว้างขึ้นจากการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ เช่น อังกฤษแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 18 ปีและเพิ่มให้ฉีดในเด็กอายุ 16 ปีภายใน 1 อาทิตย์เท่านั้น ซึ่งเป็นนโยบายที่เพิ่มขึ้นทันทีหลังการระบาดของสายพันธุ์ใหม่
ในส่วนของประเทศไทยนั้นศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ตั้งเป้าเข็มกระตุ้น 23 ล้านโดส ภายในเดือนมีนาคม 2565 และมีแผนการฉีดวัคซีนถึงเข็มที่ 4 ในปีหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม ทางด้าน WHO แม้จะไม่คัดค้านวัคซีนเข็มกระตุ้นแต่ก็แสดงความกังวลในแง่ของความเท่าเทียมโดยมองว่า หลายประเทศที่เลือกฉีดเข็มกระตุ้นอาจทำให้อีกหลายประเทศยากจนเข้าไม่ถึงวัคซีนได้
หลังจากที่หลายประเทศมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น การผ่อนคลายมาตรการสวมหน้ากาก – ล้างมือ – เว้นระยะห่างคือสิ่งที่ตามมา อิสราเอลเป็นประเทศหนึ่งที่ประกาศให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะทั้งในและนอกอาคารในช่วงเดือนเมษายน ทว่าหลังการระบาดเพิ่มขึ้น มาตรการสวมหน้ากากก็กลับมาประกาศใช้อีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน ในส่วนของประเทศอื่นๆ ก็ยังคงข้อแนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะในร่ม ทางด้านของ WHO ยังคงแนะนำให้มาตรการใส่หน้ากาก – ล้างมือ – เว้นระยะห่างเพื่อรับมือกับโควิด-19 ต่อไป
ในส่วนของการตรวจ antigen test kit (ATK) หลายประเทศใช้ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงเพื่อช่วยควบคุมโรคโดยมักเป็นข้อแนะนำในกิจกรรมที่มีผู้คนรวมตัวกัน เช่น การกลับมาทำงานที่สำนักงาน การเปิดภาคเรียน การท่องเที่ยวเป็นกลุ่ม ขณะที่กิจกรรมที่รวมคนหมู่มาก เช่น คอนเสิร์ต งานอีเวนท์ต่าง ๆ การแข่งกีฬา จะมีการใช้การตรวจแบบ RT-PCR เข้ามาช่วยให้มีความแม่นยำมากขึ้น
แนวทางรับมือของแต่ละประเทศเพื่อเข้าสู่ปีใหม่สู้กับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เหล่านี้จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลมากมายในการพิจารณาตัดสินใจ รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลเทียบผลจากมาตรการควบคุมโรคที่ได้ กับผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่ต้องแบกรับอย่างสมเหตุสมผล เพื่อท้ายที่สุดจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัยจากโควิด-19 ไปพร้อมกัน
อ้างอิง
https://www.tnnthailand.com/news/covid19/91549/
https://www.thansettakij.com/general-news/488236
https://www.springnews.co.th/news/814299
https://www.sanook.com/sport/1328956/
https://thematter.co/brief/161620/161620
https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/covid-19/769803/
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6792400
https://www.bbc.com/thai/thailand-59739573
https://www.bangkokbiznews.com/social/978253
https://abcnews.go.com/Health/wireStory/spain-urges-child-vaccinations-boosters-christmas-81776042
https://www.france24.com/en/live-news/20211215-europe-ramps-up-covid-vaccine-drive-for-children
https://edition.cnn.com/2021/11/02/health/covid-19-vaccine-children-acip/index.html
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/booster-shot.html
https://news.thaipbs.or.th/content/310665
https://news.thaipbs.or.th/content/310675
https://www.tnnthailand.com/news/covid19/99232/
https://workpointtoday.com/who-omicron-spread/
https://www.youtube.com/watch?v=gQNuV0Ozfj4
https://www.bbc.com/news/world-middle-east-57594155
https://thestandard.co/cdc-let-coronavirus-vaccinated-citizen-do-swap-test/
https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/advice-for-public
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/community/schools-childcare/what-you-should-know.html