logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
[Trainee BLOG] ร่างกายของเราในบัญชียาหลักแห่งชาติ

เรื่องโดย นศภ.ณัชชากัญญ์ เกิดชัยวิวัฒน์ นักศึกษาฝึกงานคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“บัญชียาหลักแห่งชาติคืออะไร” เป็นคำถามที่ได้รับตอนเข้ามาฝึกงานที่ HITAP

คำตอบสรุปง่าย ๆ อาจเป็นเพียง บัญชียาหลักแห่งชาติ คือ รายการยาที่ประชาชนได้รับสิทธิประกันสุขภาพของภาครัฐ โดยภาครัฐจะเป็นสนับสนุนค่ายา ประชาชนจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง แต่การฝึกงานที่นี่ทำให้สามารถบอกอะไรได้มากกว่านั้น

“บัญชียาหลักแห่งชาติ” เป็นสิ่งที่ทุกคนที่เรียนคณะเภสัชศาสตร์ต้องเคยได้ยิน อย่างน้อยที่สุด คือ ตอนเรียนวิชาคณะ เช่น วิชาจ่ายยา วิชากฎหมาย หรือแม้กระทั่งตอนอ่านหนังสือเตรียมสอบใบประกอบวิชาชีพ และแน่นอนว่าทุกคนที่เรียนคณะนี้ น่าจะรู้จักกับความหมายของบัญชียาในแต่ละบัญชีย่อย แต่หากถามว่าเพราะเหตุใดยานี้ถึงได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือกระบวนการในการคัดเลือกยาแต่ละชนิดต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และพิจารณาจากเกณฑ์ใดบ้าง อาจจะไม่สามารถให้คำตอบได้

เมื่อมาฝึกงานที่ HITAP จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมในกระบวนการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ทราบว่าจะต้องมีการทำงานร่วมกันในแต่ละคณะทำงาน และเป็นการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ ไม่เพียงแต่เภสัชกรเท่านั้น แต่จะรวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน จะต้องไม่มีส่วนได้เสียกับการคัดเลือกหรือไม่คัดเลือกยานั้น โดยในกระบวนการเพื่อพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบไปด้วย 3 กลุ่มคนทำงานหลัก ๆ ได้แก่ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานโดยคณะทำงานแบ่งเป็นหลายกลุ่ม อาทิ คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คณะทำงานประสานผลการพิจารณายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยาที่มีมากถึง 20 สาขาด้วยกัน กลุ่มคนทำงานเหล่านี้จะต้องมีการทำงานร่วมกัน

จากการเข้าร่วมประชุม ทำให้ได้เห็นกระบวนการคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจะเริ่มจากคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญมีมติให้เสนอยาใหม่ เพื่อพิจารณาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เรื่องจะถูกส่งต่อไปที่คณะทำงานประสานผล และคณะอนุกรรมการ ตามลำดับ หากรายการยานั้นมีมติให้ไปศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เรื่องจะถูกส่งต่อไปคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งหากได้ข้อสรุป จะนำมาพิจารณาในคณะทำงานประสานผลอีกครั้ง

จุดเด่นที่สังเกตได้จากการประชุมที่ได้เข้าร่วม คือ การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้อภิปรายความคิดเห็น มีการชี้แจงให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสีย โดยอ้างอิงตามหลักฐานทางวิชาการและประสบการณ์จากการทำงาน โดยมีประธานของทั้ง 3 คณะที่ร่วมประชุม ได้แก่ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานประสานผล และคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ดำเนินการประชุม และเป็นผู้สรุปมติของรายการยาแต่ละรายการ เพื่อทำให้แน่ใจว่าผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน ซึ่งการพิจารณารายการยาแต่ละรายการ ต้องทำการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดของการประชุมข้างต้น เนื่องจากจะจัดประชุมได้เพียงเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น อีกทั้งรายการยาที่ต้องพิจารณามีจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถพิจารณารายการยาตามที่กำหนดได้อย่างครบถ้วน และต้องยกรายการยาที่เหลือไปในการประชุมครั้งถัดไป

ในท้ายที่สุดแล้วบัญชียาหลักแห่งชาติคืออะไร ?

หากมองจากกระบวนการทั้งหมด บัญชียาหลักแห่งชาติก็คือร่างกายของคนเรา หากจะมีสุขภาพดีระบบภายในต้องทำงานร่วมกัน กระบวนการคัดเลือกบัญชียาก็คือการทำงานของร่างกาย คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเปรียบเสมือนระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายที่จะนำเสนอรายการยา และทำงานร่วมกับคณะทำงานประสานผล และคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ขณะที่คณะอนุกรรมการรวมถึง เปรียบเสมือนสมอง ซึ่งมีหน้าที่ในการคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจว่าจะคัดเลือกรายการยานั้นเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติหรือไม่ จะเห็นได้ว่าทุกระบบของร่างกายต่างมีความสำคัญ มีหน้าที่แตกต่างกัน และจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกันของกลุ่มคนทำงานทั้งหมดนี้ เพื่อทำให้บัญชียาหลักแห่งชาติ มีรายการยาที่จำเป็นและครบถ้วน และเกิดประโยชน์เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดีให้ได้มากที่สุด

4 ตุลาคม 2564

Next post > [Trainee BLOG] นักศึกษาเภสัชเข้ามาแล้วได้ทำอะไรบ้าง ?

< Previous post เปิดงานวิจัยประเมินวัคซีนโควิด-19 “วัคซีนดีที่สุดเป็นอย่างไร ใครได้ก่อนช่วยควบคุมโรคได้”

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ