logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เปิดงานวิจัยประเมินวัคซีนโควิด-19 “วัคซีนดีที่สุดเป็นอย่างไร ใครได้ก่อนช่วยควบคุมโรคได้”

วัคซีนโควิด-19 มาถึงแล้ว สิ่งสำคัญในตอนนี้คือจะจัดการอย่างไรให้วัคซีนเกิดประโยชน์สูงสุด ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เริ่มระบาด HITAP ได้เริ่มทำงานวิจัย ใช้ข้อมูลการระบาดระลอกแรกในประเทศไทยช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 เพื่อค้นหาคำตอบของคำถามสำคัญนี้ ผ่านงานวิจัยเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขในชื่อ โครงการประเมินผลกระทบและความคุ้มค่าของวัคซีนโควิดที่พึงประสงค์เพื่อใช้ในการพัฒนาและคัดเลือกวัคซีนสำหรับใช้ในประเทศไทย”

วัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับควบคุมโรคเป็นอย่างไร ? วัคซีนโควิด-19 ควรให้กับใครก่อน ? ข้อค้นพบอื่น ๆ มีอะไรบ้าง ? ต่อไปนี้คือคำตอบจากงานวิจัยดังกล่าว

ประเทศไทยรวมถึงโลกจะต้องอยู่กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปอีกนาน อย่างที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของโรคระบาดครั้งใหญ่ ดังนั้นข้อมูลต่อไปนี้จึงเป็นข้อมูลเพื่อความเข้าใจในระยะยาวต่อไป

 

วัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับควบคุมโรคเป็นอย่างไร ?

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าวัคซีนแต่ละตัวให้ผลได้แตกต่างกันโดยมีคุณสมบัติหลัก ๆ 3 อย่างได้แก่ 1 ลดการติดเชื้อ 2 ลดการแพร่เชื้อ 3 ลดความรุนแรงของอาการเมื่อป่วย แน่นอนว่าวัคซีนที่ดีที่สุดย่อมเป็นวัคซีนที่มีคุณสมบัติครบทุกประการข้างต้น จุดที่จำเป็นต้องตัดสินใจคือหากวัคซีนมีคุณสมบัติไม่ครบ 3 ประการนี้ ประเทศไทยควรจัดสรรวัคซีนที่มีอย่างไร

แบบจำลองการระบาดช่วยคาดการณ์คำตอบเพื่อช่วยในการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ โดยนักวิจัยได้นำข้อมูลการระบาดในบริบทของสังคมไทยในช่วงการระบาดระลอกแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2563 เป็นข้อมูลพื้นฐาน และนำเอาคุณสมบัติของวัคซีนแบบต่าง ๆ มาคำนวณเพื่อสร้างกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อ

ใช่แล้ว มันคือกราฟลักษณะเดียวกับที่ใช้อธิบายว่าการเว้นระยะห่างช่วยดึงกราฟผู้ติดเชื้อได้อย่างไร และหากไม่ช่วยกันกราฟจะพุ่งขึ้นอย่างไรนั่นแหละ

แบบจำลองนี้พบว่า คุณสมบัติของวัคซีนที่ช่วยลดการติดเชื้อและการเสียชีวิตได้คือ ลดการติดเชื้อ หรือ ลดการแพร่เชื้อ ซึ่งสามารถชะลอผู้ป่วยช่วยดึงกราฟลงไปได้อย่างเห็นผล ขณะที่วัคซีนที่มีคุณสมบัติลดความรุนแรงของอาการเมื่อป่วยแทบไม่ช่วยดึงกราฟลงเลย

ส่วนสำคัญต่อมาของวัคซีนคือ ประสิทธิภาพของวัคซีน ที่ผ่านมาทุกคนมักจะได้ยินข่าว วัคซีน A มีประสิทธิภาพ 90 เปอร์เซ็นต์ วัคซีน B มีประสิทธิภาพ 95 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่า ประสิทธิภาพสูงกว่าย่อมดีกว่า แต่ในด้านของการควบคุมโรคนั้นกลับต่างออกไปเพราะมีอีกปัจจัยที่หลายคนอาจไม่รู้ และยังไม่มีการนำเสนอข่าวผลวิจัยมากนัก เพราะถึงตอนนี้การศึกษาวัคซีนโควิด-19 ทุกตัวในโลกยังไม่สามารถบอกได้ นั่นก็คือ ระยะเวลาที่วัคซีนให้ผลคุ้มครอง (duration of protection)

WHO ได้ระบุถึงคุณสมบัติวัคซีนโควิด-19 ที่ถือว่าผ่านเกณฑ์คือ วัคซีนควรมีประสิทธิผล 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปและมีระยะเวลาที่วัคซีนให้ผลคุ้มครอง 6 เดือนขึ้นไป

นั่นคือเกณฑ์ขั้นต่ำ แล้วในบริบทการระบาดของสังคมไทยละ ประสิทธิผลและระยะเวลาที่วัคซีนให้ผลคุ้มครองที่ต่าง ๆ กันไปนั้นจะส่งผลอย่างไร ?

แบบจำลองการระบาดเดิมนำข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนและระยะเวลาที่วัคซีนให้ผลคุ้มครองที่ต่างกันเข้ามาคำนวณหาคำตอบพบว่า ระยะเวลาที่วัคซีนให้ผลคุ้มครองสำคัญกว่าประสิทธิภาพสำหรับการควบคุมโรค โดยกราฟแสดงให้เห็นว่า หากเปรียบเทียบระหว่างวัคซีนสมมติ 2 ชนิด วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 70 เปอร์เซ็นต์และมีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปีช่วยลดผู้ติดเชื้อได้มากกว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 90 เปอร์เซ็นต์และมีระยะเวลาคุ้มครองครึ่งปี

ข้อแนะนำจากงานวิจัยจึงสรุปได้ว่า วัคซีนโควิด-19 หากต้องเลือกควรพิจารณาวัคซีนที่มีคุณสมบัติลดการติดเชื้อ หรือลดการแพร่เชื้อเมื่อป่วย โดยควรพิจารณาระยะเวลาที่วัคซีนให้ผลคุ้มครองที่ยาวนานกว่าจะมีผลกับการควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพกว่า

 

วัคซีนโควิด-19 ควรให้กับใครก่อน ?

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น วัคซีนโควิด-19 สามารถนำมาใช้ควบคุมโรค (ควบคู่กับมาตรการอื่น ๆ ) คำถามสำคัญถัดจากวัคซีนอะไรดีที่สุดก็คือ หากมีวัคซีนแล้วควรให้วัคซีนกับคนกลุ่มไหนจึงจะช่วยควบคุมโรคได้มากที่สุด ?

ข้อมูลจากการวิจัยนโยบายสุขภาพของ HITAP มีกระบวนการที่เรียกกันว่า “การประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” อยู่ด้วย ข้อแนะนำจึงไม่ได้มาจากตัวเลขเท่านั้น แต่มาจากการพิจารณาอย่างรอบด้านของตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอันได้แก่ ตัวแทนจากบุคลากรด้านสาธารณสุข ตัวแทนภาคประชาชน สื่อมวลชน ตัวแทนจากภาคธุรกิจ โดยพิจารณาประกอบกับข้อมูลทางด้านเศรษฐศาสตร์

ผลจากกระบวนการวิจัยข้างต้นจึงได้พิจารณาแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่ 1 บุคลากรทางการแพทย์ 2 กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ 3 กลุ่มวัยทำงาน (อายุ 20 – 39 ปี) 4 กลุ่มผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65ปี) โดย 2 กลุ่มแรกที่แนะนำให้รับวัคซีนคือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวด้วยเหตุผลด้านจริยธรรมจากความเห็นของตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม

ส่วนอีก 2 กลุ่มนั้นมีการนำข้อมูลมาคำนวณในแบบจำลองการระบาดเพื่อหาคำตอบว่า กลุ่มไหนได้รับวัคซีนแล้วจะสามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

WHO แนะนำให้มีการจัดลำดับความสำคัญในการให้วัคซีนตามการแพร่ระบาดของโรค[1] ทั้งนี้ ประเทศในภูมิภาคยุโรปตัดสินใจฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง สอดคล้องกับรูปแบบการระบาดในภูมิภาคที่พบว่ามีการระบาดเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุมากที่สุดและมีอัตราการเสียชีวิตในมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศไทยมีสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ต่างออกไป

ข้อมูลการระบาดในไทย พบว่าการระบาดเกิดขึ้นในกลุ่มวัยทำงานสูงที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นในการระบาดระลอกแรกเมื่อช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 เมื่อคำนวณการให้วัคซีนที่มีผลต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากรเพื่อทดลองสมมติฐานก็พบว่า การให้วัคซีนในกลุ่มคนวัยทำงานช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อและการเสียชีวิตได้มีประสิทธิภาพที่สุด

ข้อกังวลหนึ่งคือ การให้วัคซีนกับกลุ่มคนวัยทำงานนั้นเป็นการละทิ้งกลุ่มอื่นอย่างกลุ่มผู้สูงอายุหรือไม่ ?

ข้อมูลจากแบบจำลองแสดงให้เห็นว่า การให้วัคซีนกับกลุ่มคนวัยทำงานมีส่วนช่วยลดการติดเชื้อและการเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุด้วย เพราะโดยปกติแล้ววัคซีนไม่ได้ให้ผลสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังสามารถติดเชื้อได้ ผู้สูงอายุจึงสามารถรับเชื้อจากกลุ่มวัยทำงานที่มีความเสี่ยงสูงนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังได้ทดลองใช้แบบจำลองคำนวณข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนร่วมกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ด้วย พบว่า แม้จะมีวัคซีนแล้วการเว้นระยะห่างยังจำเป็นต้องทำควบคู่กัน โดยแบบจำลองได้ให้ข้อมูลว่า การให้วัคซีนและคงการเว้นระยะห่างทางสังคมมีส่วนช่วยลดการเสียชีวิตได้ถึง 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับไม่มีการเว้นระยะห่างในระยะเวลา 1 ปี

อีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนกังวลคือ ทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่?

การควบคุมโรคระบาดมีแนวคิดที่เรียกกันว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) โดยมีการศึกษาพบว่าสำหรับโควิด-19 ในระดับการระบาดปกตินั้น หากคนในสังคมมีภูมิคุ้มกันพร้อมกันราวร้อยละ 60 จะสามารถควบคุมโรคระบาดไว้ได้ ดังนั้นจึงสามารถพิจารณาฉีดวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอสำหรับควบคุมโรคได้

 

วัคซีนโควิด-19 ถือเป็นความหวังในการควบคุมโรค แต่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ทุกคนในสังคมยังคงต้องช่วยกันรับมือกับการแพร่ระบาดอีกหลายระลอกที่สามารถเกิดขึ้นได้ งานวิจัยยังคงมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอน แต่ก็เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบาย

ถึงตรงนี้ทุกคนคงมองเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยประเภทนี้ ถึงตอนนี้ HITAP กำลังจะจัดการอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และสาธารณสุข ครั้งที่ 16 รายละเอียดการอบรมเพิ่มเติมคลิก https://www.hitap.net/181196

ผู้ที่สนใจอ่านรายละเอียดงานวิจัย โครงการประเมินผลกระทบและความคุ้มค่าของวัคซีนโควิดที่พึงประสงค์เพื่อใช้ในการพัฒนาและคัดเลือกวัคซีนสำหรับใช้ในประเทศไทย เพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/177622

[1] https://www.who.int/publications/m/item/who-sage-roadmap-for-prioritizing-uses-of-covid-19-vaccines-in-the-context-of-limited-supply

10 กันยายน 2564

Next post > [Trainee BLOG] ร่างกายของเราในบัญชียาหลักแห่งชาติ

< Previous post ฝ่าโควิด-19 ผ่าน “พฤติกรรมเปลี่ยนสุขภาพ” รู้จักอนาคตของการดูแลสุขภาพผ่านงานวิจัย

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ