logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“ชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ 2564” จากงานวิจัยสู่นโยบายสุขภาพ

ความเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยิ่งเวลาผ่านไป การรักษาใหม่ ๆ ยิ่งมีมากขึ้น เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการรักษาที่ดีขึ้น จึงต้องมีการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ทุกปี และสิทธิประโยชน์ใหม่ในปี 2564 ก็เช่นกัน ต่อไปนี้คือสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจซึ่งงานวิจัยมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

1 เครื่อง ECMO ช่วยชีวิตฉุกเฉิน ราคาแพงแต่จำเป็น

Extracorporeal Membrane Oxygenator หรือเรียกสั้น ๆ ว่าเครื่องเอคโม (ECMO) เป็นเครื่องมือแพทย์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการพยุงการทำงานของปอดหรือหัวใจหากเกิดภาวะล้มเหลวทั้งกรณีปกติและเฉียบพลัน ใช้ร่วมกับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจหรือปอด รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับระบบหายใจ โดยเครื่องเอคโมนี้จะเข้าไปนำเลือดผู้ป่วยออกมาฟอกแล้วส่งกลับเข้าร่างกาย เสมือนทำงานแทนหัวใจและปอด แน่นอนว่า เครื่องมือแพทย์ที่สามารถทำงานเสมือนหัวใจและปอดได้ต้องมีราคาที่สูงมาก และก็มีความจำเป็นเพื่อใช้ช่วยชีวิตอีกด้วย จึงเกิดคำถามสำคัญว่าควรบรรจุเทคโนโลยีนี้ในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่ อย่างไร

HITAP ทำงานวิจัยที่ชื่อ รายงานผลการประเมินแบบรวดเร็ว โครงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการใช้ ECMO มีจุดเด่นคือตอบคำถามอย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาทำงานเพียง 6 สัปดาห์ ผ่านการทบทวนวรรณกรรมแบบเร่งกระบวนการ (rapid review) วิเคราะห์ฐานข้อมูล สำรวจข้อมูลบริษัทเอกชน และประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

งานวิจัยพบว่า เครื่องเอคโมช่วยให้อัตราการรอดชีวิตสูงกว่าไม่ได้ใช้ โดยการที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้สั่งใช้เครื่องและการที่ให้มีการคัดเลือกผู้ป่วย มีส่วนช่วยให้อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น ในต่างประเทศมีการกำหนดข้อบ่งชี้ชัดเจนในการใช้เครื่องเอคโมเพราะมีราคาสูง ขณะที่ในประเทศไทยการจัดทำแนวทางของตัวเองโดยสมาคมศัลยแพทย์ทรงอกแห่งประเทศไทย สถานการณ์ปัจจุบันพบว่าบริการนี้มีในทุกเขตสุขภาพแต่ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ จึงมีข้อเสนอแนะนำให้บริการนี้เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ และพัฒนาขีดความสามารถในการติดตามและประเมินผลโดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลระดับประเทศ

ล่าสุดเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการพิจารณาเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว

2 การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิด

การได้ยินถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการพูดและพัฒนาการด้านภาษาโดยเฉพาะในช่วงอายุ 3 ปีแรกของชีวิต เด็กที่มีความผิดปกติด้านการได้ยินจะสูญเสียโอกาสมากมายในชีวิต ซึ่ง 60 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนนี้เป็นความผิดปกติที่ป้องกันได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยก็มีนโยบายการคัดกรองการได้ยินในเด็กมาตั้งแต่ปี 2533 แต่ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งด้านทรัพยากรทางการแพทย์ในแต่ละพื้นที่ ความตระหนักถึงความสำคัญของการคัดกรอง รวมถึงระบบการติดตามผล

ล่าสุดคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีการพิจารณาให้มีการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดกลุ่มเสี่ยงแล้ว โดยกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 30,434 คนต่อปี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 12.33 ล้านบาท

งานวิจัยของ HITAP ช่วยให้ข้อมูลเพื่อพิจารณาขยายการคัดกรองให้ครอบคลุมในเด็กแรกเกิดทุกคน โดยทำการศึกษาข้อมูลระบบการให้บริการทั้งต้นแบบและระบบที่มีความเป็นไปได้ในแต่ละพื้นที่ และให้ข้อมูลต้นทุนการให้บริการ รวมถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เพื่อช่วยให้เกิดการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างรอบด้านต่อไป

3 อุปกรณ์ประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี

สืบเนื่องจากการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง หากพบเด็กที่มีปัญหาการได้ยิน ขั้นต่อมาคือการรักษา ซึ่งการผ่าตัดประสาทหูเทียม (cochlear implantation) รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีความจำเป็น สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของเด็กดีขึ้นจนเหมือนเด็กปกติ

งานวิจัยของ HITAP เรื่องการประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย ช่วยให้ข้อมูลเรื่องความเป็นไปได้ในการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์นี้อย่างรอบด้านตั้งแต่ในด้านนโยบาย ด้านบุคลากรทางการแพทย์ และด้านคนไข้ที่รับบริการ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ทั้งนี้ ล่าสุดบอร์ดสปสช. มีมติเห็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์รายการอุปกรณ์ประสาทหูเทียมชนิด Rechargeable สำหรับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่มีระดับการได้ยิน 90 dB ขึ้นไป และไม่เคยฝึกภาษามือในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยคาดว่ามีกลุ่มเป้าหมายราว 33 คนต่อปี ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างต่อรองราคาค่าประสาทหูเทียมให้ต่ำกว่าชุดละ 6 แสนบาท

 

ผู้ที่สนใจงานวิจัยรายงานผลการประเมินแบบรวดเร็ว โครงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการใช้ Extracorporeal Membrane Oxygenator (ECMO) สามารถอ่านได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/180328, การศึกษาการขยายบริการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดในประเทศไทย : ความเป็นไปได้ ต้นทุน และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ติดตามได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/179958 และโครงการประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย สามารถอ่านได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/176324

 

อ้างอิง https://gnews.apps.go.th/news?news=74281

23 กรกฎาคม 2564

Next post > ฝ่าโควิด-19 ผ่าน “พฤติกรรมเปลี่ยนสุขภาพ” รู้จักอนาคตของการดูแลสุขภาพผ่านงานวิจัย

< Previous post การอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางสาธารณสุข ครั้งที่ 16 (ปิดรับสมัครแล้ว)

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ