logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
รู้จัก HTA เปิดมุมมองการรักษา ต่อยอดงานวิจัยสู่นโยบายสุขภาพ

เรื่องโดย ศ.พญ.ชิงชิง ฟูเจริญ ศาสตราจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การเลือกวิธีการรักษาที่ดีและเข้าถึงได้คือหัวใจสำคัญของการช่วยเหลือผู้ป่วย แม้ในบทบาทของแพทย์ “การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology Assessment – HTA)” เป็นสิ่งที่อาจไม่คุ้นเคยและคล้ายจะไกลตัว แต่เมื่อได้ลองสัมผัสในการอบรมเรื่อง HTA กับ HITAP ศ.พญ.ชิงชิง ฟูเจริญ ก็พบว่าศาสตร์นี้น่าสนใจกว่าที่คิด รวมถึงมีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในฐานะแพทย์

การอบรมดังกล่าวครอบคลุมเนื้อหาอะไรบ้าง และ HTA ช่วยได้อย่างไร ? พญ.ชิงชิง ได้กรุณาแบ่งปันประสบการณ์ ดังนี้

 

เมื่อไม่นานมานี้ หมอได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเบื้องต้น (Introduction to Health Technology Assessment) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1) Saw Swee Hock School of Public Health, National University of Singapore (NUS) 2) Research Center for Health Policy and Economics, Hitotsubashi University และ3) โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ Health Intervention and Technology Assessment Program (HITAP)

การอบรมนี้เหมาะสำหรับบุคคลที่ไม่เคยมีพื้นฐานหรือความรู้ในงานวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาก่อน ซึ่งหมอเองก็มีความสนใจที่จะเรียนรู้การทำวิจัยในด้านนี้ จึงได้ตอบรับการเข้าร่วมอบรม

ในระหว่างการอบรม วิทยากรทุกท่านมีความใส่ใจผู้เข้าร่วมอบรมเป็นอย่างดี แม้ว่าการอบรมจะจัดเป็นแบบออนไลน์ก็ตาม อีกทั้งยังมีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมถามตอบได้ตลอดเวลา โดยผู้เข้าร่วมการอบรมได้เรียนรู้ถึงประโยชน์ของการวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผล (Cost Effectiveness Analysis: CEA) และการวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ (Cost Utility Analysis: CUA) ความรู้พื้นฐานในการศึกษา วิธีการค้นหาและรวบรวมข้อมูลที่จะมาทำการศึกษา การประเมินคุณภาพของข้อมูลว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ รวมทั้งยังได้เรียนรู้หลักการคำนวณเพื่อประเมินประสิทธิผล

การอบรมครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะอธิบายถึงขั้นตอนในการศึกษาด้านการวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลและการวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ แต่ผู้เข้าร่วมยังได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง โดยวิทยากรจะแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นกลุ่มย่อย ทำให้ทุกคนมีโอกาสได้ซักถามและประเมินตัวเองว่าสิ่งที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงนั้นถูกต้องหรือไม่ และที่สำคัญผู้เข้าร่วมยังได้ฝึกวางแผนออกแบบการศึกษาเอง ซึ่งการฝึกออกแบบการศึกษานี้เป็นการลงมือปฏิบัติที่ช่วยให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาด้านนี้มากขึ้น

จุดเด่นของการอบรมนี้คือเนื้อหาการอบรมที่ครอบคลุมทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับ HTA ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานทางทฤษฎี ความสำคัญของ HTA แนวทางการดำเนินการวิจัย HTA และการลงมือปฏิบัติ ภายหลังจากการอบรมแล้วสามารถวางแผนการทำวิจัยด้าน HTA ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

ก่อนได้เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ หมอขอสารภาพว่าไม่มีความเข้าใจและไม่เห็นความสำคัญใน HTA แต่หลังจากอบรมก็ทำให้เข้าใจความสำคัญและคุณค่าของ HTA เพิ่มขึ้นมาก ว่าศาสตร์ความรู้ด้านนี้มีความจำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาทั้งในเวชปฏิบัติและมีผลต่อด้านนโยบายทางสาธารณสุข ทำให้เปิดกว้างทางมุมมองและความคิด และมีแรงจูงใจที่อยากทำงานวิจัยเกี่ยวกับ HTA เพิ่มขึ้น

หลังจากการอบรมครั้งนี้ทำให้หมอเห็นว่า ถึงแม้การศึกษาด้านการวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผล (Cost Effectiveness Analysis: CEA) และการวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ (Cost Utility Analysis: CUA) จะเป็นเรื่องใหม่และเข้าใจยากสำหรับแพทย์ เนื่องจากการศึกษาลักษณะนี้ไม่ใช่ศาสตร์ทางแพทย์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนการศึกษาหรืองานวิจัยในรูปแบบอื่น แต่ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้ได้มีส่วนช่วยให้หมอเข้าใจการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและสร้างแรงจูงใจในการทำงานวิจัยด้านนี้มากยิ่งขึ้น

สุดท้ายนี้หมอต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ยศ ตีระวัฒนานนท์ และ HITAP ที่ได้มอบโอกาสดี ๆ ให้หมอได้เข้าร่วมอบรมครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

23 มิถุนายน 2564

Next post > ตอบแบบสอบถามง่าย ๆ ได้ลุ้นรางวัลด้วย!

< Previous post เราควรจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยอย่างไร

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ