logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เราควรจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยอย่างไร

HITAP ทำการศึกษาเพื่อคาดการณ์และค้นหาว่าในสถานการณ์การระบาดของโรคในระดับต่างๆ รัฐบาลควรจัดสรรวัคซีนอย่างไร

ขณะนี้รัฐบาลไทยสั่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 65 ล้านโดส โดยหวังให้เป็นวัคซีนหลักของประเทศ แต่แผนนี้กำลังเกิดปัญหาเพราะเริ่มมีข้อมูลยืนยันมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดเลือดแข็งตัวและเกล็ดเลือดต่ำ (Vaccine-Induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia, VITT) ไปอุดตันอวัยวะสำคัญของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ การที่วัคซีนไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันในกลุ่มผู้สูงอายุไม่ดีเท่าคนหนุ่มสาว จึงทำให้ผู้สูงอายุมีความปลอดภัยมากกว่าเมื่อฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้นหากมีทางเลือกให้คนหนุ่มสาวได้รับวัคซีนซิโนแวคจึงน่าจะมีความปลอดภัยมากกว่า

อย่างไรก็ตาม จำนวนวัคซีนซิโนแวคที่ประเทศไทยสั่งซื้อมีจำกัดเพียงไม่กี่ล้านโดส รัฐบาลไทยจึงยังจำเป็นต้องพิจารณาฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้คนอายุน้อยกลุ่มนี้ จึงเกิดคำถามว่ารัฐบาลควรพิจารณาให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้รับวัคซีนและสังคมโดยรวม กล่าวคือเพื่อให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้มากกว่าความเสี่ยงจากอาการข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้

โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้ข้อมูลระบาดวิทยารวมถึงข้อมูลเรื่องประสิทธิผลและอาการข้างเคียงจากวัคซีนในปัจจุบัน ในกลุ่มคนอายุ 20-60 ปี มาคำนวณเพื่อคาดการณ์และค้นหาว่าในสถานการณ์การระบาดต่าง ๆ กัน รัฐบาลควรจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างไร โดยเทียบกับกรณีที่สามารถจัดหาซิโนแวคได้เพิ่ม และกรณีที่ไม่มีวัคซีนทดแทนที่เพียงพอ

ในกรณีที่มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้เลือกใช้เพียงชนิดเดียว ผลจากการให้แอสตร้าเซนเนก้าในกลุ่มคนอายุ 20-60 ปีทุกคน (ทั้งหมด 32 ล้านคน) ในสถานการณ์การระบาดปัจจุบัน (ผู้ป่วยใหม่ประมาณ 2,000 คนต่อวัน) อาจจะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยหนัก ICU และอาจลดการเสียชีวิตได้ ตาม Scenario A คือ การให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประชากรทุกคนที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี จะเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย สามารถช่วยชีวิตคนได้เพิ่ม 329 คน (491-162 คน) เมื่อเทียบกับการไม่ให้วัคซีนเลย

อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่าในสถานการณ์การระบาดปัจจุบัน การให้วัคซีนซิโนแวคในกลุ่มคนอายุ 20-40 ปี ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะในคนกลุ่มนี้ภูมิคุ้มกันยังทำงานดี มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหลอดเลือดอุดตันมากกว่าคนอายุมาก แม้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะลดจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ดีกว่าซิโนแวค แต่ประโยชน์ที่ได้ยังน้อยกว่าการเสียชีวิตจากผลข้างเคียง

ในกลุ่มคนอายุ 40-60 ปี หากรัฐพิจารณาให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงจากผลข้างเคียง แต่ประโยชน์ที่ได้จะมากกว่าการเสียชีวิตจากผลข้างเคียง และมากกว่าการให้วัคซีนซิโนแวค ตาม Scenario B

ในกรณีที่รัฐบาลสามารถหาวัคซีนซิโนแวคทดแทนได้อย่างเพียงพอ พบว่าคนกลุ่มต่าง ๆ ที่ควรได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามระดับความรุนแรงของการระบาดต่าง ๆ ดังนี้

 

  • ในกลุ่มคนอายุ 20-40 ปี: ไม่มีกรณีไหนที่การที่ให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในคนกลุ่มนี้ จะดีกว่าการให้ซิโนแวค ไม่ว่าการระบาดจะรุนแรงแค่ไหน
  • ในกลุ่มคนอายุ 40-60 ปี: ควรให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในกลุ่มนี้เฉพาะเมื่อมีการระบาดรุนแรงปานกลางขึ้นไป
  • ในกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป: การให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในกลุ่มนี้ให้ผลดีในทุกกรณี รวมถึงเมื่อการระบาดรุนแรงน้อย เนื่องจากไม่พบว่ามีการเกิดผลข้างเคียงหลอดเลือดอุดตันเพราะวัคซีนในคนกลุ่มนี้

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่อง การศึกษาประเด็นท้าทายเพื่อพัฒนากรอบการติดตามและการประเมินผลของนโยบายวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยและคัดเลือกวัคซีนสำหรับใช้ในประเทศไทย  ได้รับทุนสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

17 มิถุนายน 2564

Next post > รู้จัก HTA เปิดมุมมองการรักษา ต่อยอดงานวิจัยสู่นโยบายสุขภาพ

< Previous post เลี่ยง “เชื้อดื้อยา” ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ