logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
อนาคตของโลกที่ไร้เสียง

ปรากฏการณ์ของแอปพลิเคชัน Clubhouse ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกด้วยการมียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ล้านคนภายใน 2 เดือน สิ่งที่น่าสนใจของแอปพลิเคชันนี้คือการแบ่งปันเรื่องราวกันโดยไม่ใช้ตัวอักษรหรือรูปภาพเลย ใช้เพียงแค่เสียงเท่านั้น แต่มันสามารถเชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกกับผู้ทรงอิทธิพลจากนานาประเทศที่ใช้งานแอปพลิเคชันนี้ได้ เป็นนวัตกรรมการเชื่อมต่อผู้คนที่น่าสนใจมาก แต่น่าเสียดายที่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถมีความสุขกับแอปพลิเคชันนี้ได้ นั่นก็คือ กลุ่มคนพิการทางการได้ยิน

 

จากสถิติข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการ ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 พบว่า ผู้ที่มีความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายในประเทศไทยมีมากถึง 372,189 คน ซึ่งมีมากเป็นอันดับ 2 รองจากความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย โดยหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถได้ยินเสียงเป็นเพราะว่าเซลล์ขนที่ทำหน้าที่รับเสียงในหูชั้นในมีปัญหาหรือถูกทําลาย

 

หลายคนอาจจะรู้จักเทคโนโลยีที่เรียกว่า เครื่องช่วยฟัง ซึ่งเป็นเครื่องที่ช่วยขยายเสียงให้ดังขึ้น ทว่า สำหรับการพิการที่เซลล์ขนในหูชั้นในไม่ทำงาน การใช้เครื่องช่วยฟังก็เปรียบเหมือนการเล่นโทรศัพท์ถ้วยกระดาษที่เชือกขาดอยู่ ไม่ว่าเสียงที่ส่งออกไปจะดังแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้อีกฝ่ายได้ยินหรือเข้าใจความหมายได้ เพราะตัวกลางที่ส่งต่อเสียงไปหาอีกฝั่งหนึ่งนั้นมีปัญหา ดังนั้น ทางออกสำหรับคนที่พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายประเภทนี้จึงต้องใช้วิธีการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (cochlear implantation) ซึ่งเป็นเหมือนการสร้างทางลัดให้เสียงเดินทางไปที่ระบบประสาทการได้ยิน ช่วยให้พวกเขาสามารถได้ยินเสียงเหมือนคนปกติ

 

ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมจะมีไมโครโฟนติดอยู่เหนือใบหูสำหรับรับเสียง จากนั้นสัญญาณเสียงจะถูกแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อส่งต่อไปที่ตัวรับสัญญาณไฟฟ้าที่ฝังอยู่ในกะโหลกศีรษะ และส่งต่อไปที่ระบบประสาทการได้ยินในที่สุด เกณฑ์ในการได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมก็คือต้องเป็นผู้ที่มีประสาทหูเสื่อมหรือพิการทั้ง 2 ข้าง เคยใช้เครื่องช่วยฟังแล้วไม่ได้ผลนัก และสามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินหลังการผ่าตัด และติดตามผลเป็นระยะ ๆ ได้

 

ทว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนพิการทางการได้ยินยังไม่ได้รับการรักษามีหลายประการ

1. ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจะรับไหว หากผู้รับการรักษาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดไว้เอง ก็ต้องเตรียมงบไว้อย่างน้อยประมาณ 1 ล้านบาท เพราะแค่เครื่องประสาทหูเทียมอย่างเดียวก็มีมูลค่าถึง 8 แสนกว่าบาทแล้ว ยังไม่รวมค่าผ่าตัด ค่าบำรุงรักษาเครื่องประสาทหูเทียม และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการได้ยินและการสื่อสาร

2. บุคลากรส่วนใหญ่กระจุกตัวในหัวเมืองใหญ่ ทำให้กลุ่มคนพิการที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเดินทางเพื่อไปรับบริการ

3. นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย (นักฟื้นฟูคนพิการทางการได้ยิน) ยังมีอยู่น้อยในประเทศไทย เนื่องจากมีสถาบันที่ผลิตบุคลากรอาชีพนี้อยู่เพียงไม่กี่แห่ง อีกทั้งคุณสมบัติขั้นต่ำของผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ได้คือต้องจบปริญญาโทเฉพาะทางเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาคอขวดในการเข้ารับบริการ

ทำความรู้จักกับอาชีพนี้เพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.hitap.net/175160

4. สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมมีเพียงสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเท่านั้น ทำให้คนพิการที่ไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในสิทธิดังกล่าวไม่สามารถเข้ารับบริการได้

 

สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในภาพรวมระดับประเทศได้ในงานวิจัย “การประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย

 

เป็นเรื่องดีที่ตอนนี้รายการอุปกรณ์ประสาทหูเทียมชนิด Rechargeable สำหรับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมได้เข้ามาเป็นสิทธิประโยชน์ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แล้ว ถึงแม้ว่าสิทธิประโยชน์นี้ยังมีให้เฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้เกิดสังคมสุขภาวะต่อไป

1 มีนาคม 2564

Next post > หน้ากากอนามัยใช้ซ้ำอย่างไรจึงปลอดภัย ?

< Previous post “วัคซีนโควิด-19 ใครควรได้รับก่อน?” บันทึกเปิดมุมมองใหม่ เปิดใจเพื่อเข้าใจนโยบายสุขภาพระดับประเทศ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ