logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เผชิญโควิด-19 ต้องคิดแบบมาราธอน “ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง” ทำครบอุ่นใจประเทศไทยคุมอยู่

โควิด-19 อยู่กับเรามาเกิน 1 ปีแล้ว นับจากเคสแรกตามรายงานของจีนในวันที่ 17 พฤศจิกายน ถึงตอนนี้ทั่วโลกยังคงต้องเผชิญกับการแพร่ระบาด หลายพื้นที่ยังหนักหน่วง แม้ประเทศไทยสถานการณ์จะคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ดูเหมือนโควิด-19 กำลังจะกลับมาอีกครั้ง

ทว่าความเสี่ยงครั้งนี้จะต้องไม่มาพร้อมความตื่นตระหนก เพราะ 1 ปีที่โลกเผชิญหน้ากับโควิด-19 เราได้บทเรียนมากมาย เรารู้หลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับโควิดมากขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่แน่นอนแล้วก็คือโควิดจะอยู่กับเราไปอีกนาน

HITAP จึงได้จัดงานทอล์ก COVID marathon ห่างกันไว้ แต่ไปด้วยกัน” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจให้กับสังคม การรับมือกับโควิด-19 เหมือนการวิ่งมาราธอนที่ทุกคนต้องใช้ชีวิตปกติไปพร้อมกับความระมัดระวังเพื่อไปให้ถึงเส้นชัยในท้ายที่สุด และต่อไปนี้คือชุดข้อมูลเพื่อให้ทุกคนสามารถวิ่งเข้าเส้นชัยไปด้วยกัน

 

ความคาดหวังต่อวัคซีน

วัคซีนโควิด-19 คือความหวังที่คนทั้งโลกเฝ้ารอเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ทั้งหมด ทว่าความคาดหวังที่มากเกินไปอาจมาพร้อมกับความเข้าใจผิด เพราะหลายคนกำลังเข้าใจผิดกันว่าหากวัคซีนถูกคิดค้นได้สำเร็จ โควิดจะหมดไปจากโลกนี้อย่างรวดเร็ว หากมีวัคซีนเราจะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมกันได้ในทันที

แล้วความรู้เกี่ยวกับวัคซีนแท้จริงเป็นอย่างไร ? ช่วยอะไรได้บ้าง ?

นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยว่า ผลการทดลองวัคซีนที่ปรากฏเป็นข่าวยังเป็นผลเบื้องต้นเท่านั้น ทุกสายตาที่จับจ้องไปที่วัคซีนทำให้มีการนำเสนอผลออกมา แต่ยังไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้าย ที่สำคัญหากวัคซีนคิดค้นออกมาได้ก็ยังผลิตได้ไม่เพียงพอที่จะฉีดให้ทุกคนพร้อมกันในคราวเดียว และยังต้องมีการจัดการที่ดี

“ความหวังของคนทั่วโลกไปตั้งอยู่ที่วัคซีน หากพูดตามตรง ปริมาณเท่านี้ไม่สามารถรองรับความต้องการของทุกคนในโลกได้ ฉะนั้นต้องมีการจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยประเทศไทยเอง ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชากรได้ 50% ในปี 2021 ซึ่งจะมีการบริหารจัดการรวมทั้งการแบ่งกลุ่มของผู้ที่จะได้รับวัคซีน”

สอดคล้องกับความเห็นของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นถึงกรณีข่าววัคซีนได้ผลการทดลอบที่น่าพอใจถึง 90 % ถือเป็นข่าวดี แต่ยังเป็นผลเบื้องต้นยังต้องวิเคราะห์ผลสุดท้ายอีกที โดยในอนาคตการรับมือกับโรคระบาดของไทยควรปรับตัวได้เร็วกว่านี้ และควรเปลี่ยนตัวเองเป็นฐานการผลิตวัคซีนเพื่อแก้ไขปัญหาในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ

ข่าวดีที่ว่า บริษัทฯ ระดับโลกสามารถพัฒนาวัคซีนที่มีผลที่น่าพอใจกว่า 90% แต่ยังเป็นการทดลองเบื้องต้นเพื่อดูแนวโน้ม ต้องรอผลในท้ายสุดเพื่อให้ได้ผลทดสอบที่แม่นยำอีกครั้ง ในประเทศไทยเอง เรามีการค้นคว้าและวิจัยวัคซีนในชื่อ CU Cov-19 ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนา สิ่งที่อยากฝากคือประเทศไทยต้องเริ่มต้นในการพึ่งพาตนเองมากยิ่งขึ้นจากในวิกฤติที่ผ่านมา ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกล้าประกาศว่าอีก 5 – 10 ปีเราจะเป็นฐานการผลิตวัคซีนแล้วตอบโจทย์เราและโลกด้วย หากเกิดโรคระบาดอีก เราจะเป็นส่วนนึงที่ช่วยแก้ปัญหาโลกได้หรือไม่?”

อย่างไรก็ตาม ความต้องการวัคซีนจากทั่วโลกทำให้ปัจจัยด้านการเมืองเข้ามาส่งผลต่อการได้มาซึ่งวัคซีนในแต่ละประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญของการจัดการให้เกิดกลไกที่จะช่วยให้คนไทยเข้าถึงวัคซีน นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้านการต่างประเทศ เผยว่า ตอนนี้ประเทศไทยได้มีกลไกการเจรจาเกิดขึ้นจัดหาวัคซีนอย่างสุดความสามารถเท่าที่จะทำได้

“เรามีกลไกการเจรจาอยู่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขโดยรัฐมนตรีอนุทิน ชาญวีรกูลได้ลงนามตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม คณะกรรมชุดนี้มีชุดทำงาน 2 ชุด ชุดแรกเจรจากับแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ที่ร่วมกับสยามไบโอไซเอนซ์ เขาคุยกันทั้งวันทั้งคืนไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ พึ่งเข้าครม.เสร็จ อีกชุดทำงานกำลังเจรจาโคแวกซ์ (COVAX) ที่มีองค์การอนามัยโลก (WHO) กับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI) นอกจากนี้ยังมีการเจรจาแบบทวิภาคี เช่น จีนเสนอให้วัคซีนฟรีกับนักธุรกิจที่ค้าขายด้วยจะได้เดินทางค้าขายกันได้ ก็อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งหมดต้องเจรจาทั้งนั้น และในฐานะที่เราไม่มีอะไร เราเจรจาเสียเปรียบแน่นอน แต่อย่างน้อยเราเจรจาวัคซีนไว้หลายตัวก็มีโอกาสที่วัคซีนจะผ่านการทดลองแล้วได้ผลดีหลายตัวขึ้น”

 

โควิด-19 จะอยู่ไปนานแค่ไหน…เราต้องอยู่กับมันให้ได้

เมื่อไหร่จะกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบปกติ ? คงเป็นคำถามของใครหลายคน HITAP ได้นำเสนอคำตอบพร้อมหนทางแก้ปัญหาให้กับสังคม เพราะเป็นที่แน่นอนแล้วว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนาน การคิดแบบมาราธอนคือการวางแผนระยะไกล แล้วลงมือด้วยก้าวทีละก้าวอย่างสม่ำเสมอและอดทนเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย

แล้วกับโควิด-19 สิ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและอดทนคืออะไร?

“ใส่หน้ากาก – ล้างมือ – เว้นระยะห่าง” เป็นคำตอบที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่อาจละเลย ข้อมูลต่อจากนี้อาจช่วยให้ทุกคนเข้าใจลึกลงไปมากขึ้น ถึงเหตุผลที่ทุกคนยังต้องยึดมั่นในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค เพราะต่อให้มีวัคซีนแล้วการป้องกันโรคก็ยังจำเป็นอยู่

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ เผยว่าต่อให้มีวัคซีนแล้วการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือก็ยังจำเป็นเพราะระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของวัคซีน และภูมิคุ้มกันที่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

“วัคซีนต้องฉีด 2 เข็มแล้วจะเริ่มเห็นผลหลังผ่านการฉีดเข็มที่ 2 มาแล้ว 2 อาทิตย์ ดังนั้นต่อให้ฉีดวัคซีนวันนี้ก็ไม่ควรถอดหน้ากากเดินสเปะสปะ และเมื่อเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะตกลง ดังนั้นการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมืออาจจะต้องอดทนอย่าพึ่งทิ้งไป”

ผศ.ดร. วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในฐานะทีมวิจัยประเมินวัคซีนโควิด-19 เผยว่าผลของวัคซีนนั้นมี 3 แบบคือช่วยป้องกันการติดเชื้อ ช่วยลดการแพร่เชื้อ และช่วยลดความรุนแรงหากเป็นโรค เมื่อเข้าใจวัคซีนมากขึ้นจะช่วยในการวางแผนได้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนทำได้เพียงชะลอการระบาดเท่านั้น

“วัคซีนที่ดีที่สุดคือต้องให้ผลทั้ง 3 แบบคือทั้งป้องกันการติดเชื้อ ลดการแพร่เชื้อและช่วยลดความรุนแรงหากเป็นโรค แต่ต่อให้ไม่ได้วัคซีนที่ดีที่สุด เราก็สามารถนำมาใช้ตามความเหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ทำให้เห็นว่าวัคซีนช่วยชะลอการระบาดออกไปเท่านั้น การรับมือการระบาดอย่างไม่ประมาทจึงยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น และทุกคนสามารถช่วยได้”

มาถึงตอนนี้ดูเหมือนวัคซีนโควิด-19 จะยังคงไม่ใช่คำตอบของปัญหา การใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรท่ามกลางปัญหาต่างหากคือสิ่งสำคัญ ดร.นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการ HITAP นำเสนอ Social vaccine หรือวัคซีนทางสังคมซึ่งเป็นวัคซีนที่เราต่างมีกันอยู่แล้ว

“คำว่า Social vaccine มีมานานแล้ว มันคือมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยลดการระบาดของโรค เช่น การปิดเมือง งดเว้นการเดินทางท่องเที่ยว ถึงตอนนี้ Social vaccine ง่าย ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเรามี 3 วิธีด้วยกันคือ การใส่หน้ากาก การล้างมือและการเว้นระยะห่าง 3 วิธีนี้สามารถช่วยเราได้ จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่บอกเราว่าหน้ากากทุกชนิดสามารถช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ โดยนักวิชาการได้ข้อสรุปร่วมกันว่า คนทั่วไปควรใช้หน้ากากผ้า กลุ่มที่ต้องใช้หน้ากากอนามัยคือแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนซึ่งมีความเสี่ยงสูง การเว้นระยะห่างควรเว้นตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไปจะมีส่วนช่วย ยิ่งห่างยิ่งช่วยได้มาก วัคซีนทางสังคมเหล่านี้ช่วยลดการแพร่ระบาดได้แม้มีวัคซีนแล้ว เพราะสามารถช่วยทั้งกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและกลุ่มรับวัคซีนแล้วเวลาผ่านไปภูมิต้านทานลดลง”

ที่ผ่านมาประเทศไทยเราวิ่งมาด้วยกันได้ดีแล้ว แต่การเผชิญหน้ากับโควิด-19 คือหนทางยาวไกลอย่างมาราธอน การวิ่งกันต่อไปอย่างที่ผ่านมาคือระยะวัดใจที่ต้องใช้ความอดทนมากขึ้น การกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมมากขึ้นควบคู่ไปกับวิถีชีวิตแบบใหม่ “ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง” แม้มีกรณีติดเชื้อเกิดขึ้น โควิด-19 ก็จะไม่สามารถติดต่อไปได้ไกล และสามารถควบคุมได้ในท้ายที่สุด

14 ธันวาคม 2563

Next post > วัคซีนโควิด-19 ให้ผลอย่างไร ให้ใครได้ประโยชน์ที่สุด?

< Previous post C19economics.org แพลตฟอร์มเพื่อนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายโควิด-19 ในประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ