logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เปิดสิทธิประโยชน์ใหม่ 2563 จากงานวิจัยสู่นโยบายสุขภาพ

ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองคือ 1 ในสิทธิการรักษาที่ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขจำเป็น โดย “ชุดสิทธิประโยชน์” คือรายการของบริการที่สิทธิบัตรทองครอบคลุมและผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถรับบริการได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

สิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ ช่วยให้คนไทยเข้าถึงการรักษาได้มากยิ่งขึ้น ทว่าเรื่องราวไม่ได้ง่ายเพียงแค่พบการรักษาใหม่ก็บรรจุเข้าชุดสิทธิประโยชน์ เพราะเบื้องหลังผู้กำหนดนโยบายมีการใช้ข้อมูลจากงานวิจัย และข้อมูลอื่น ๆ อีกหลายด้านประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายอยู่

ชุดสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นในปี 2563 มีอะไรบ้าง ? นโยบายเหล่านี้มีความก้าวหน้า HITAP ขอพาท่านผู้อ่านร่วมเปิดงานวิจัยนโยบายสุขภาพมาดูกัน

 

1 เพิ่มสิทธิ์ตรวจ HPV DNA คัดกรองมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกถือเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยแต่สามารถป้องกันก่อนเกิดโรคได้ด้วยการตรวจไวรัส HPV และให้การรักษาก่อน

เดิมทีประเทศไทยมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Pap smear และวิธี VIA (Visual Inspection with Acetic acid) ที่ตรวจด้วยการชะโลมปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู 3 – 5 % แต่การตรวจคัดกรองวิธีใหม่ HPV DNA เป็นการตรวจระดับ DNA ซึ่ง HITAP ทำงานวิจัยเรื่องการตรวจคัดกรองดังกล่าวเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย

ปัจจุบันนี้ คณะกรรมการหลักสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เห็นชอบเพิ่มทางเลือกการตรวจ HPV DNA (ร่วมกับ Pap smear และ VIA ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยบริการ) ให้สิทธิ์ตรวจฟรีในผู้หญิงอายุ 30 – 59 ปี โดยตรวจทุก 5 ปี และในกรณีที่ตรวจพบเชื้อจะทำการตรวจยืนยันซ้ำและเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

สามารถติดตาม “การประเมินความคุ้มค่าด้านสุขภาพของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA ในประเทศไทย” ได้ที่นี่คลิก https://www.hitap.net/research/17772

 

2 บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัส (PrEP) สำหรับกลุ่มเสี่ยง

การลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีถือเป็นเป้าหมายสำคัญ การป้องกันในกลุ่มเสี่ยงถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัสหรือ PrEP (Pre – Exposure Prophylaxis) คือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง แต่ยังขาดข้อมูลในการขยายบริการดังกล่าวให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด

งานวิจัยพบว่า บริการ PreP จะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อ กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการ PrEP ควบคู่ไปกับการตรวจและการรักษาที่ร้อยละ 95 – 95 -95 ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายระดับสากลที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อต่อปีมาอยู่ที่ปีละ 940 ราย ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมายที่ 1000 รายได้สำเร็จ

ปัจจุบันนี้ สปสช. พิจารณาให้บริการ PrEP สำหรับกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่ม จำนวน 2,000 ราย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีลงได้ และมีการดำเนินการนำร่องในสถานพยาบาล 51 แห่ง ใน 21 จังหวัดทั่วประเทศ

สามารถอ่านรายงานวิจัยฉบับสมบุรณ์ “การประเมินความคุ้มค่าของบริการป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนการสัมผัสเชื้อ” ได้ที่นี่คลิก https://www.hitap.net/documents/175473

 

3 ตรวจดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์

ประเทศไทยมีเด็กกลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) เกิดใหม่ปีละประมาณ 1,000 คน สาเหตุมาจากความผิดปกติของโครโมโซมซึ่งไม่มียาที่รักษาได้ แต่รู้และวางแผนรับมือล่วงหน้าได้เพียงให้หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์เพื่อรับการตรวจคัดกรอง

งานวิจัยพบว่าสังคมยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนทำให้หญิงตั้งครรภ์ยังเข้าไม่ถึงการคัดกรองเท่าที่ควร ผลวิจัยช่วยให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงด้านการสื่อสารและให้คำปรึกษาที่ช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีชุดสิทธิประโยชน์ให้หญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิ์การรักษาที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีอายุครรภ์ 14 – 18 สัปดาห์ เข้ารับการตรวจ “ภาวะดาวน์” ด้วยวิธี Quadruple test และล่าสุดเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา บอร์ดสปสช. เห็นชอบงบประมาณปี 2564 โดยมีการเพิ่มบริการคัดกรองโรคดาวน์ซิมโดรมในหญิงตั้งครรภ์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศและทุกช่วงวัยมากขึ้นสำหรับผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง

สามารถอ่านรายละเอียดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “Policy Brief: ฉบับที่ 47 จัดบริการตรวจกรองกลุ่มอาการดาวน์อย่างไรให้ได้ผล ก่อนผลักดันเป็นนโยบายระดับประเทศ” ได้ที่นี่คลิก https://www.hitap.net/documents/170224

 

4 ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคหนึ่งที่ยิ่งตรวจพบในระยะแรกเริ่มจะยิ่งรักษาได้ง่าย งานวิจัยของ HITAP ช่วยให้ได้ข้อมูลตัดสินใจเชิงนโยบายเพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในกลุ่มเสี่ยงอายุตั้งแต่ 50 – 70 ปีและมีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ โดยเริ่มต้นนำร่องดำเนินโครงการในเขตสุขภาพที่ 5 ก่อนบรรจุเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในปี 2559

ผลการวิจัยพบว่า คัดกรองดังกล่าวช่วยให้พบผู้ป่วยมะเร็งในระยะแรกและรักษาให้หายได้มากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคในระยะ 3 และ 4 ได้ ถึงตอนนี้ล่าสุด บอร์ดสปสช. เห็นชอบให้สิทธิ์การคัดกรองกับทุกสิทธิสุขภาพหลักของประเทศแล้ว

สามารถอ่านข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “Policy Brief: ฉบับที่ 28 ความคุ้มค่าของการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงในประชากรไทย” ได้ที่นี่คลิก https://www.hitap.net/documents/164852

 

ชุดสิทธิประโยชน์คือสิทธิด้านสุขภาพของคนไทย ช่วยให้คนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้เข้าถึงการรักษาที่จำเป็น ได้เข้าถึงการตรวจคัดกรองที่ดีเพื่อป้องกันจากการป่วยที่รุนแรง ดังนั้นชุดสิทธิประโยชน์จึงต้องมีการปรับปรุงอยู่เสมอ เบื้องหลังกระบวนการเหล่านั้นส่วนหนึ่งคืองานวิจัยเชิงนโยบายที่จะช่วยให้ข้อมูลสำคัญอย่างรอบด้าน โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายให้ความเห็น เพื่อให้การกำหนดนโยบายเป็นไปอย่างเหมาะสม

 

 

อ้างอิง

https://www.hfocus.org/content/2019/07/17388

https://goodlifeupdate.com/healthy-body/115739.html

https://www.hfocus.org/content/2020/01/18291?fbclid=IwAR2EG9YwQZAkHld1jbDwuqTFQ5NOC8m0e23h9KO6DySy9sH4mIdciZPZHc4

https://mgronline.com/qol/detail/9630000000011?fbclid=IwAR24YgzOHfXDxWYgaSMa7b4adqBx550g4NliQ6QNM1jB-GRfXLG7GcksFV0

7 ตุลาคม 2563

Next post > ใครควรสวมหน้ากากแบบไหน?

< Previous post หน้ากาก อาจช่วยให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ