logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
หน้ากาก อาจช่วยให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้?

ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา โควิด-19  อาจจะเป็นคำที่ทุกคนได้ยินบ่อยจนเอียนจากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นในข่าว สื่อออนไลน์ หรือแม้แต่บทสนทนาของคนรอบตัว นอกจากนั้น ผมเชื่อว่าคำที่ทุกคนเอียนเป็นคำถัดมาคือคำว่า หน้ากาก ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ต้องสวมหน้ากาก เข้า-ออกสถานที่ใดก็มีการขอความร่วมมือให้สวมหน้ากาก ขึ้นรถไฟฟ้าก็จะได้ยินประกาศให้สวมหน้ากาก ทว่า อย่าเพิ่งเอียนกันไปเลยครับ เพราะว่าวันนี้เราจะขอแบ่งปันความรู้ใหม่เกี่ยวกับหน้ากากให้ได้อ่านกันครับ

ก่อนที่จะไปทราบคำตอบของชื่อบทความ ผมขออนุญาตเล่าข้อมูลสำคัญเรื่องหนึ่งก่อนครับ

ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่า ยิ่งตรวจพบว่าในร่างกายของคุณมีเชื้อโควิดมากเท่าไร คุณยิ่งมีโอกาสตายมากขึ้นเท่านั้น

ข้อมูลนี้เป็นผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ [1]ครับ ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อมูลที่เลื่อนลอยแน่นอน ซึ่งการได้รับเชื้อที่ว่า คุณคิดว่าจะได้รับจากไหนกันครับ แน่นอน จากสารคัดหลั่งที่มีเชื้อนั่นเอง แล้ววิธีที่เราจะได้รับเชื้อนอกจากการสัมผัสพื้นที่ที่ปนเปื้อนแล้ว อีกวิธีหนึ่งก็คือการได้รับละอองของสารคัดหลั่งที่อยู่ในอากาศนั่นเอง

หน้ากากจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ทำหน้าที่เหมือนโล่ป้องกันเชื้อโควิดเข้ามาสู่ในร่างกายของเรา

แต่ก็เป็นโล่ที่มีรูเล็ก ๆ อยู่

หน้ากากไม่ได้ป้องกันโควิดได้ 100% ครับ มันอาจจะฟังดูเหมือนกับว่าใส่หน้ากากไปก็ไม่มีประโยชน์ ก็มีโอกาสติดโควิดอยู่ดี แต่นี่แหละครับคือสาเหตุที่ทำให้ผมบอกว่า หน้ากาก อาจช่วยให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้

หน้ากากทำหน้าที่กรองอากาศที่เราสูดเข้าไป นั่นแปลว่าเชื้อโควิดที่กระจายอยู่ในอากาศจะถูกดักจับก่อนที่จะเข้าสู่จมูกหรือปากของเรา ทำให้ลมหายใจเข้าของเราปราศจากหรือแทบจะปราศจากเชื้อโควิดนั่นเอง ในทางกลับกัน หากเราเป็นผู้ติดเชื้อเอง การสวมหน้ากากกรองอากาศที่มีละอองน้ำลายของเราก่อนที่จะออกไปสู่โลกภายนอกก็จะช่วยดักจับเชื้อโควิดไม่ให้แพร่ไปสู่คนอื่นด้วยเช่นกัน ภาพประกอบด้านล่างอาจจะช่วยให้คุณเห็นภาพมากขึ้นครับ

หากเชื้อโควิดสามารถเล็ดลอดผ่านหน้ากากเข้ามาได้ในปริมาณไม่มาก ก็จะไม่เป็นอันตรายต่อเราครับ นั่นจึงทำให้มีทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้เกิดขึ้นมาครับ นั่นก็คือทฤษฎีที่เชื่อว่าหากร่างกายของเราได้รับเชื้อเข้ามาในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ร่างกายของเราก็จะพยายามสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อกำจัดมันออกไป และกลายเป็นว่าร่างกายของเราก็จะมีภูมิคุ้มกันโควิดแบบชั่วคราวนั่นเอง

ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงทฤษฎีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์และไม่สามารถพิสูจน์กับมนุษย์ได้ด้วยเหตุผลด้านจริยธรรมด้านการวิจัย แต่ก็มีการทดลองกับหนูแฮมสเตอร์ที่พบว่า หนูกลุ่มที่อาศัยอยู่หลังกำแพงหน้ากากอนามัยมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่า และหากติดเชื้อก็จะป่วยน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้อยู่หลังกำแพงหน้ากากอนามัยด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าต่อให้การสวมหน้ากากอนามัยจะสามารถป้องกันและลดการติดเชื้อโควิดได้ แต่ก็ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ทางภาครัฐออกมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคมและการทำความสะอาดมือและพื้นผิวบ่อย ๆ เพื่อผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีที่สุด

สำหรับในบทความหน้า เราจะมาจำแนกกันนะครับว่าหน้ากากแบบไหนเหมาะสมกับใครที่สุดครับ

[1] https://www.thelancet.com/journals/lanres/article/PIIS2213-2600(20)30354-4/fulltext

5 ตุลาคม 2563

Next post > เปิดสิทธิประโยชน์ใหม่ 2563 จากงานวิจัยสู่นโยบายสุขภาพ

< Previous post จะทำอย่างไร เมื่อผู้ป่วยมีมาก แต่รักษาทุกคนไม่ได้

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ