logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
จะทำอย่างไร เมื่อผู้ป่วยมีมาก แต่รักษาทุกคนไม่ได้

เคยสงสัยกันไหมครับว่า ถ้าประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ที่ผู้คนเกิดเจ็บป่วยพร้อมกันหลายแสนคนจนต้องเข้าห้อง ICU พร้อมกัน จะเกิดอะไรขึ้น? โรงพยาบาลแตกแน่นอนครับ เพราะต้องไม่ลืมนะครับว่าโรงพยาบาลไม่ได้รองรับแค่ผู้ป่วยที่กล่าวถึงเมื่อสักครู่กลุ่มเดียว ยังมีผู้ป่วยเก่าที่อยู่มาก่อน และผู้ป่วยฉุกเฉินรายอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากเหตุการณ์เจ็บป่วยหมู่ด้วยครับ ต่อให้โรงพยาบาลนั้นมีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากที่สุดในประเทศก็ไม่สามารถรองรับได้ถึงแสนคนแน่นอนครับ เหตุการณ์แบบนี้ แพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขจะต้องดำเนินการอย่างไร?

 

งานวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 ชิ้นล่าสุดจาก HITAP มีคำตอบให้ครับ

ถึงแม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะมีชื่อว่า “การพัฒนาแนวทางแบ่งปันทรัพยากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย” แต่ก็เป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขอื่น ๆ ในอนาคตได้ เพราะว่างานวิจัยนี้เน้นไปที่เรื่องของแนวทางในการจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ในภาวะฉุกเฉินครับ

 

“จัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ในภาวะฉุกเฉิน” แปลว่าอะไร?

มาดูที่คำว่า “ทรัพยากรทางการแพทย์” ก่อนครับ ถ้าพูดถึงทรัพยากร หลาย ๆ คนอาจนึกถึงทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นต้นไม้ ลำธาร แร่ธาตุ สัตว์ป่า หรือทรัพยากรมนุษย์ ที่เป็นพนักงานของบริษัท ใช่ไหมครับ นั่นก็เพราะว่าทรัพยากรหมายถึงทรัพย์สินที่มีค่าของหมวดหมู่นั้น ๆ ครับ ทรัพยากรทางการแพทย์จึงหมายถึงทรัพย์สินที่ใช้ในทางการแพทย์ที่มีค่าครับ ไม่ว่าจะเป็นยา วัคซีน เครื่องมือที่แพทย์และพยาบาลใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ใช้สนับสนุนการรักษาผู้ป่วย หรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์เองก็เป็นทรัพยากรทางการแพทย์ การจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ในภาวะฉุกเฉินที่เรากำลังพูดถึงอยู่ก็คือการวางแผนจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีอยู่จำกัดในสถานการณ์ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน เพื่อทำให้ทุกครั้งที่มีการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง

 

ทำอย่างไรถึงจะใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้?

หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ทรัพยากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ เช่น มีการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามที่ได้ยกตัวอย่างไปจนทำให้เตียงในห้อง ICU มีไม่พอจำนวนผู้ป่วย หรือเครื่องช่วยหายใจขาดแคลน แสดงว่าแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขต้องระมัดระวังในการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเป็นอย่างมาก ต้องใช้อย่างสมเหตุสมผลที่สุด และทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด นั่นจึงต้องมีเกณฑ์ในการประเมินว่าทรัพยากรที่เหลืออยู่ต้องใช้กับใครถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด งานวิจัยชิ้นนี้ของ HITAP ได้เสนอให้ใช้ พยากรณ์โรค (clinical prognosis) ในการเลือกผู้ป่วยที่จะได้ใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด

 

พยากรณ์โรค คืออะไร?

แม้จะฟังดูเหมือนกระบวนการทางโหราศาสตร์ แต่ว่าวิธีนี้เป็นขั้นตอนที่มีผลลัพธ์ออกมาเป็นตัวเลขชัดเจนและเกิดจากกระบวนการประเมินที่มีการนำไปใช้ทางวิทยาศาสตร์นะครับ พยากรณ์โรคในที่นี้วัดด้วยเครื่องมือที่คำนวณหาค่าความสามารถในการใช้ชีวิตได้ตามปกติของผู้ป่วยหลังจากการรักษา โดยคะแนนจะมาจากความสามารถในการพึ่งพาตนเองระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน การขึ้นบันได การสื่อสาร เป็นต้น โดยยิ่งมีโอกาสที่จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังจากการรักษามากเท่าใด ก็ยิ่งน่าจะได้รับการรักษาเท่านั้น เพราะมีแนวโน้มว่าทรัพยากรที่ใช้ไปจะไม่สูญเปล่า งานวิจัยนี้จึงเสนอว่าหากเกิดการขาดแคลนทรัพยากรใด ให้ทำการประเมินผู้ป่วยวิกฤติทั้งหมดที่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรนั้น ซึ่งรวมถึงผู้ที่กำลังใช้เครื่องมือแพทย์นั้นอยู่และผู้ป่วยฉุกเฉินที่เพิ่งเข้ามาใหม่ด้วยทุกกลุ่มอาการ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินแล้วพบว่ามีพยากรณ์โรคดีควรได้รับการรักษาด้วยทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดนั้นก่อน

 

หากผู้ป่วยมีพยากรณ์โรคไม่ดี เขาจะถูกทอดทิ้งหรือไม่?

การตัดสินด้วยพยากรณ์โรคเป็นการเฟ้นหาผู้ที่มีโอกาสสูงที่สุดในการกลับมาแข็งแรงหลังจากการรักษา เพื่อได้รับบริการทางการแพทย์ด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดครับ ส่วนผู้ที่ได้รับการประเมินแล้วพบว่าพยากรณ์โรคแย่กว่าก็ยังได้รับการรักษาอยู่ เพียงแต่อุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาอาจไม่ได้ทันสมัยเท่าของผู้ป่วยกลุ่มแรก และหากเครื่องมือแพทย์ที่มีจำกัดดังกล่าวมีจำนวนพอดีกับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องมือนี้ ทุกคนก็จะได้รับสิทธิ์ในการใช้จนกว่าจะมีผู้ป่วยใหม่ที่เข้ามาแล้วผลประเมินพบว่าพยากรณ์โรคดีกว่าครับ

 

ถึงแม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะได้รับเสียงตอบรับในทางที่ดีและได้รับถ้วยรางวัล Bronze Award จากผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปประกาศใช้ในอนาคตนะครับ

14 กันยายน 2563

Next post > หน้ากาก อาจช่วยให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้?

< Previous post งานวิจัยเชิงนโยบายช่วยอะไร ในการรักษา “ธาลัสซีเมีย” ด้วยสเต็มเซลล์

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ