logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
คุณเสพติดความเค็มแล้วหรือยัง?

ถ้าพูดถึงการเสพติด ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการเสพยาบ้า ยาอี กัญชา หรือสิ่งเสพติดชนิดอื่น ๆ ที่พอรับเข้าไปในร่างกายบ่อย ๆ แล้ว ยากที่จะเลิก แถมส่งผลร้ายต่อร่างกาย ทว่า การเสพติดที่เรากำลังจะพูดถึงในวันนี้ไม่ใช่เรื่องการเสพติดยาเสพติดครับ แต่พอรับสิ่งนี้เข้าไปในร่างกายบ่อย ๆ แล้ว ยากที่จะเลิก แถมส่งผลร้ายต่อร่างกายเหมือนกันครับ บางทีอาจจะร้ายพอ ๆ กับยาเสพติดเลยก็ได้ครับ ผมเชื่อว่าไม่มีใครคิดว่าเป็นสิ่งนี้แน่

นั่นคือการเสพติดความเค็มครับ  

คุณอาจจะสงสัยว่าทำไมคนเราถึงจะเสพติดความเค็มได้

นั่นก็เพราะว่าเมื่อร่างกายของเรารับรสเค็มเข้าไป จะเกิดการกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดปามีนซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา ทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกว่ามีความสุข แต่การรับรสเค็มเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ก็จะกลายเป็นความสุขเคลือบยาพิษนะครับ

โซเดียมเป็นส่วนประกอบของอาหารหลายอย่างเลยครับ ทั้งเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงชูรส และอื่น ๆ อีกมากมาย และเมื่อเข้ามาอยู่ในร่างกาย โซเดียมจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด โดยช่วยในเรื่องการควบคุมสมดุลของเหลวในและนอกหลอดเลือด เนื่องจากโซเดียมจะจับกับโมเลกุลน้ำ หากบริเวณใดมีโซเดียมสูง จะมีน้ำสูงตามไปด้วย ดังนั้น หากมีโซเดียมอยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป น้ำในกระแสเลือดจะเพิ่มขึ้น ทำให้แรงดันภายในหลอดเลือดเพิ่มขึ้นครับ หรือที่คนทั่วไปจะเคยได้ยินกันในนามของ “ความดันโลหิตสูง”

ความดันโลหิตสูงนี่แหละครับที่เป็นจุดกำเนิดของหายนะหลายอย่างในร่างกาย

ถ้าความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นชั่วคราวจากการออกกำลังกายอย่างหนัก อันนั้นไม่นับว่าเป็นเรื่องใหญ่นะครับ แต่มันจะเป็นเรื่องใหญ่ครับถ้าคุณแค่นั่งอยู่เฉย ๆ ก็มีความดันโลหิตเกิน 140/90 มม.ปรอท นั่นแปลว่าหัวใจของคุณกำลังทำงานอย่างหนักมาก ๆ ในการนำพาเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพเร็ว หรือทำให้อวัยวะอื่นที่เกี่ยวข้องเสื่อมสภาพ

จุดจบของการทำงานหนักมากเกินไปของอวัยวะต่าง ๆ นั้นก็คือ “พัง” หรือ “เป็นโรค” นั่นเอง ซึ่งโรคที่เกิดจากโซเดียมมีตั้งแต่โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง และยังสามารถนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย

ความเค็มเป็นเหตุแท้ ๆ แต่ทำไมคนยังไม่ลดเค็มกัน

อย่างที่บอกไปนั่นแหละครับ เราเสพติดความเค็มเพราะยิ่งกินมันเข้าไป สารแห่งความสุขก็จะยิ่งออกมา เลยทำให้ประชากรชาวไทยมีค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมอยู่ที่ประมาณ 3-4 กรัมต่อวัน แลดูเป็นตัวเลขที่ไม่เยอะใช่ไหมครับ แต่ถ้าเอามาเทียบกับปริมาณโซเดียมที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคที่ 2 กรัมต่อวันแล้ว คนไทยกินโซเดียมไปมากกว่าที่ควรเกือบ 2 เท่าเลยนะครับ

นอกจากนั้นแล้ว ความดันโลหิตสูงยังเป็นสาเหตุที่พรากชีวิตชาวไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากบุหรี่ด้วยนะครับ

HITAP ได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายลดการบริโภคโซเดียมของประเทศต่าง ๆ มาเทียบข้อมูล วิเคราะห์ และสรุปผลออกมา เพื่อที่จะสามารถเสนอเป็นนโยบายให้ภาครัฐพิจารณาได้ครับ

หลังจากการค้นคว้าวิจัยมาเป็นเวลาถึงครึ่งปี ทีมวิจัยของ HITAP ได้ข้อสรุปออกมาว่า ทุกนโยบายในต่างประเทศทั้งหมดที่ศึกษา ล้วนคุ้มค่าที่จะลงทุนในประเทศไทย

นโยบายที่นำมาทำการวิจัย ได้แก่ ภาษีโซเดียมหรือภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มจากอาหารและเครื่องดื่มที่มีโซเดียมสูงกว่าที่กำหนด การปรับอัตราส่วนโซเดียมในอาหาร (ภาคบังคับ) การปรับอัตราส่วนโซเดียมในอาหาร (ตามความสมัครใจ) ฉลากโภชนาการซึ่งติดไว้ข้างผลิตภัณฑ์เพื่อบ่งบอกว่าอาหารหรือเครื่องดื่มนี้มีโซเดียมต่ำ และการสื่อสารสาธารณะแก่ประชาชนถึงโทษของการกินเค็ม ล้วนมีความคุ้มค่าทั้งหมด นั่นก็เพราะว่านโยบายเหล่านี้สามารถรักษาชีวิตผู้คนได้มากมาย แถมค่าใช้จ่ายในการลงทุนในนโยบายเหล่านี้ทั้งหมด ยังไม่สูงเท่ากับค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ไปกับผู้ป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องกับโซเดียมนั่นเอง

หากเทียบค่าใช้จ่ายประมาณการทั้งหมดต่อ 10 ปีแล้ว

 

ภาษีโซเดียม มีต้นทุนในการดำเนินนโยบายทั้งหมด 3 ล้านบาท สามารถช่วยให้ประชาชนรอดจากการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวกับโซเดียมได้ 110,173 ชีวิต

 

การปรับอัตราส่วนโซเดียมในอาหาร (ภาคบังคับ) มีต้นทุนในการดำเนินนโยบายทั้งหมด 10 ล้านบาท สามารถช่วยให้ประชาชนรอดจากการเสียชีวิตได้ 109,053 ชีวิต

 

การปรับอัตราส่วนโซเดียมในอาหาร (ตามความสมัครใจ) มีต้นทุนในการดำเนินนโยบายทั้งหมด 10 ล้านบาท สามารถช่วยให้ประชาชนรอดชีวิตได้ 75,578ชีวิต

 

ฉลากโภชนาการ มีต้นทุนในการดำเนินนโยบายทั้งหมด 62 ล้านบาท สามารถช่วยหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตของประชาชนได้ 83,244 ชีวิต

 

การสื่อสารสาธารณะ มีต้นทุนในการดำเนินนโยบายทั้งหมด 27 ล้านบาท สามารถช่วยให้ประชาชนรอดจากการเสียชีวิตได้ 119,208 ชีวิต

และหากไม่มีนโยบายสนับสนุนการลดการบริโภคโซเดียม รัฐบาลจะต้องใช้เงินมากถึง 2.28 ล้านล้านบาท ในการดูแลผู้ป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องกับโซเดียม ซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และนอกเหนือจากการแพทย์

ทางทีมวิจัยของ HITAP ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าภาครัฐควรเริ่มต้นดำเนินการนโยบายภาษีโซเดียม การปรับอัตราส่วนโซเดียมในอาหาร (ภาคบังคับ) และการรณรงค์ผ่านสื่อ เป็น 3 นโยบายแรกพร้อมกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

แต่สำหรับผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ก็คือทุกคนต้องควบคุมตัวเองให้ได้นะครับ หยุดเสพติดความเค็ม เพื่อสุขภาพที่ดีนะครับ

แหล่งอ้างอิง

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2491403/

https://www.hfocus.org/content/2018/11/16544

http://thaincd.com/2016/media-detail.php?id=8363&tid=&gid=1-026

30 มิถุนายน 2563

Next post > กดปุ่มรีเฟรช อัปเดตสถานะวัคซีนโควิดทั่วโลก

< Previous post “มะเร็งตับ” ภัยเงียบใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงได้

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ