logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
Guest blog : การประชุม Vaccinology course โดยความร่วมมือระหว่าง HITAP THSTI JIPMER LSHTM และ NUS ณ เมืองฟารีดาบัด ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 18-21 พฤศจิกายน 2562

เรื่องโดย เลิศฤทธิ์ ลีลาธร กรมควบคุมโรคและดร.ชนนิกานต์ ขวัญช่วย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

การมีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุม “Vaccinology for Clinical and Public Health Practice: Policy Symposium and Workshop” ณ เมืองฟาริดาบัด ประเทศอินเดียครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของเราทั้งคู่สำหรับการร่วมการประชุมวิชาการที่มุ่งเน้นเนื้อหาในเชิงนโยบายและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การเดินทางมาประเทศอินเดียครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP), Translational Health Science and Technology Institute (THSTI), The Jawaharlal Institute of Postgraduate Medical Education & Research (JIPMER), The London School of Hygiene & Tropical Medicine (LSHTM) และ National University of Singapore (NUS)  โดยเราทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าเป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการดำเนินงานด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านวัคซีน และผู้เข้าร่วมการประชุมควรมีความรู้พื้นฐานทางสถิติเบื้องต้น รูปแบบการประชุมเป็นการรวมระหว่างการบรรยายความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมมีส่วนร่วมในการประชุมมากที่สุด เมื่อได้เข้าสู่บรรยากาศการประชุมจริง วิทยากรก็เปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ซักถาม และร่วมแสดงบทบาทสมมติในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการวัคซีนในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการกระตุ้นให้ผู้เข้าประชุมได้ใช้ความคิดตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันความรู้เรื่องกระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนของบางประเทศ ตลอดจนการระดมความคิดในการทำงานกลุ่ม

โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่าการประชุมครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะช่วยให้ผู้เขียนรับทราบข้อมูลและเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกมากขึ้น การอบรมในวันแรกเป็นการนำเสนอการดำเนินงานด้านวัคซีน โดยผู้ที่มีบทบาทในงานด้านนโยบายจากหลายประเทศ เช่น ไทย อินโดนีเซีย และอินเดีย นอกจากนี้ วิทยากรยังได้อภิปรายถึงผลการดำเนินงาน ข้อจำกัด ปัญหาและอุปสรรค และแนวทางการดำเนินงานที่แตกต่างกันตามบริบทของประเทศ ซึ่งช่วยให้ผู้เขียนมีความเข้าใจเรื่องการดำเนินงานด้านวัคซีน และการตัดสินใจเชิงนโยบาย ตลอดจนประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น ปัญหาใหม่เกี่ยวกับวัคซีนในแถบเอเชียและแอฟริกาอย่างกรณีการใช้วัคซีนไข้เลือดออกในอนาคตหากมีวัคซีนชนิดใหม่เกิดขึ้น การสนับสนุนการดำเนินการเพื่อนำวัคซีนใหม่เข้าสู่แผนฯ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกผ่านนโยบายและบทบาทขององค์การอนามัยโลก (WHO) และแนวทางในการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับประเทศที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านการได้รับการสนับสนุนจาก GAVI เป็นต้น  และยิ่งไปกว่านั้นใน 3 วันที่เหลือที่เป็นช่วงของการประชุมเชิงปฏิบัติการ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับเราทั้งคู่ที่มีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับการนำหลักการคำนวณเชิงวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในงานที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เช่น การคำนวณทางระบาดวิทยา การหาจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสมสำหรับการทดสอบทางคลินิกในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาวัคซีนก่อนที่จะมีการนำวัคซีนออกมาใช้จริง ลักษณะการวางแผนการทดลอง การหาประสิทธิภาพของวัคซีน และการสร้างโมเดลวัคซีนในการป้องกันโรค ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการวัคซีนอย่างการใช้แอพลิเคชั่น eVIN ของประเทศอินเดีย เป็นต้น นอกเหนือจากความรู้ที่ได้รับจากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญในวงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจากทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลกอย่าง WHO ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมประชุมเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความรู้ และตัวอย่างการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานที่ผู้เขียนรับผิดชอบอยู่ได้ นอกจากนี้ประสบการณ์การเดินทางไปประเทศอินเดียครั้งแรกของเราทั้งคู่ ทำให้เราได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับอินเดียในมุมมองที่อาจจะขัดกับคำบอกเล่าของหลาย ๆ คน เช่น ความเป็นมิตรของคนอินเดีย อาหารและวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร ความเชื่อและความเคร่งในศาสนาและการบูชาพระเจ้า สิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ของประเทศอินเดียที่อาจไม่มีโอกาสพบเจอได้ในประเทศอื่น

สุดท้ายต้องขอขอบคุณคณะผู้จัดฯ ผู้เข้าร่วมการประชุมทุกท่าน สำหรับความรู้ และข้อคิดดีๆ ที่ได้จากการประชุม ตลอดจนผู้สนับสนุนการเข้าร่วมการประชุมอย่าง HITAP และผู้บริหารของหน่วยงานต้นสังกัดของเราทั้งคู่ ที่เปิดโอกาสให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ หวังว่าการประชุมดีๆ อย่าง Vaccinology course จะดำเนินขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ขอบคุณครับ/ค่ะ

16 มกราคม 2563

Next post > รับยาร้านยา ตัวช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล?

< Previous post วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2019 สัญญาสุขภาพที่ต้องรักษา

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ