วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2019 สัญญาสุขภาพที่ต้องรักษา
วันที่ 12 เดือน 12 เป็นวันสำคัญวันหนึ่งสำหรับคนในแวดวงนโยบายสุขภาพ และเป็นวันที่หลายฝ่ายจะได้นั่งทบทวนถึงเส้นทางที่ผ่านมาและเส้นทางเบื้องหน้าที่จะก้าวไป เพราะวันนี้คือวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลหรือ UHC day (Universal health coverage day) นั่นเอง
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบที่ช่วยให้ทุกคนเข้าบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียม เป็นเป้าหมายที่นานาประเทศหวังจะไปให้ถึง
ทว่าหนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การทำให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นทั่วโลกจึงจำเป็นต้องอาศัยการสร้างเครือข่ายและการแบ่งปันองค์ความรู้ร่วมกัน องค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) ก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ผลักดันเรื่องนี้ โดยวางเป้าหมายไว้ว่า ภายในปีพ.ศ. 2573 ทุกประเทศสมาชิกจะต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกร่วมทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย จนถึงปีนี้ Keep promise หรือรักษาสัญญา คือธีมหลักของ UHC day 2019 สัญญานี้คืออะไร? สิ่งใดบ้างที่ควรทำในระดับนโยบายที่โลกให้ความสำคัญ?
สัญญาสุขภาพระดับโลก
วันที่ 12 เดือน 12 ปีพ.ศ. 2555 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ผลักดันความคิดที่จะทำให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก การผลักดันแนวคิดดังกล่าวทำให้มีการประกาศวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2560 เพื่อให้ทุกคนร่วมระลึกถึงเป้าหมายใหญ่ร่วมกันของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ คือ การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ โดยมีความมั่นคงทางการเงิน ภายในปีพ.ศ. 2573
การขับเคลื่อนให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เริ่มจากหัวข้อ Rise for our right ในปีพ.ศ. 2560 เริ่มตั้งธงให้สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สู่หัวข้อ Now is time for collective action ในปี 2018 ที่มุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นโดยเร็ว ดำเนินถึงปีนี้ Keep the promise เป็นการชวนให้ทุกประเทศกลับมาทบทวนถึงคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ และทิศทางที่หลายฝ่ายกำลังมุ่งไป
แล้วทิศทางที่ควรมุ่งไปเพื่อให้ถึงเป้าหมายคืออะไร?
ในการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่นิวยอร์กเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา เห็นพ้องให้นโยบายสุขภาพในระดับประเทศควรให้ความสำคัญกับ “การดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ” ซึ่งประเทศสมาชิกรวมถึงประเทศไทยจำเป็นจะต้องปฏิบัติตาม 3 แนวทางอย่างชัดเจนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการรักษาสัญญา
1 มีแผนการทำงาน (action plan) เพื่อการันตีว่าสุขภาพที่ดีจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่สิทธิพิเศษ
2 มีการลงทุนที่ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะมีเพศสภาพใด นับถือศาสนาอะไร ชาติพันธุ์ไหน อายุเท่าไหร่ เป็นคนพิการหรือไม่ และอื่น ๆ เข้าถึงการรักษาได้อย่างเป็นธรรมโดยปราศจากเงื่อนไขทางการเงิน
3 มีระบบสุขภาพที่เข้มแข็งและเป็นธรรม ซึ่งจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง
เหล่านี้คือสิ่งที่แต่ละประเทศควรทำให้ได้เพื่อยกระดับสุขภาพชีวิตของทุกคน
สัญญาสุขภาพของประเทศไทย
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงตอนนี้จะบอกว่าบรรลุเป้าหมายแล้วส่วนหนึ่งก็ได้ ประเทศไทยถือเป็นต้นแบบที่หลายประเทศเข้ามาศึกษาเพื่อยึดเป็นแบบอย่างในฐานะประเทศที่เศรษฐกิจไม่ได้ดีมากแต่สามารถมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ โดย The Economist ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2561 ยกย่องให้บัตรทองไทยใช้งบคุ้มค่าติดอันดับโลก
ณ ปัจจุบันมีคนไทยเข้าถึงสิทธิ์การรักษาสูงถึงร้อยละ 99.94 ของประชากรทั้งหมด (ข้อมูลปี พ.ศ 2561) เว้นแต่ “กลุ่มเปราะบาง” เช่น คนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งยังเข้าไม่ถึงการรักษา
มีคนยังเข้าไม่ถึง แล้วประเทศไทยทำอย่างไร ?
ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีการปรับปรุงให้คนไทยเข้าถึงสิทธิ์การรักษามากขึ้น เช่น กรณีของกลุ่มชาติพันธุ์ “มานิ” หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันไปชื่อ “เงาะป่าซาไก” ทางภาคใต้ของไทยที่เดิมทีไม่มีบัตรประชาชน จึงเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพ ปัจจุบันมีกลไกในการพิสูจน์สัญชาติและรับรองสถานะของชนเผ่าเหล่านี้ในฐานะประชาชนไทย ซึ่งช่วยให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิ์ด้านสุขภาพได้ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดให้สิทธิ์ชนเผ่ามานิเข้ารักษาโรงพยาบาลไหนก็ได้เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชนเผ่าที่ย้ายที่อยู่ตามแหล่งอาหารที่เปลี่ยนไป
ในส่วนของประชาชนทั่วไปซึ่งมักพบความหนาแน่นในการใช้บริการตามสถานพยาบาล นโยบายรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านถือเป็นอีกความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเริ่มมีโครงการนำร่องแล้วในหลายพื้นที่ก่อนพัฒนาเป็นนโยบายทั่วประเทศ
แต่ใช่ว่าลงทุนในนโยบายทุกอย่างแล้วจะเหมาะสมเสมอไป
HTA เครื่องมือช่วยรักษาสัญญา
ก่อนจะลงทุนในนโยบายใด ๆ สิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งคือกระบวนการวิจัยนโยบายสุขภาพที่เรียกกันว่า “การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพหรือเรียกสั้น ๆ ว่า HTA (health technology assessment)” เพื่อศึกษาข้อมูลนำมาประกอบการตัดสินใจด้านนโยบายสุขภาพ เพื่อให้ได้ประโยชน์ด้านสุขภาพสูงสุดจากทรัพยากรที่มีจำกัด
การที่ประเทศใดจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นหากจะให้ระบบสุขภาพมีความมั่นคง สามารถจัดการงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จำเป็นจะต้องมีข้อมูลที่ช่วยให้การตัดสินใจเชิงนโยบายมีประสิทธิภาพเช่นกัน HTA มีส่วนที่ช่วยให้ข้อมูลเหล่านั้น
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ HTA ในการตัดสินนโยบายสุขภาพอย่างเป็นระบบและได้รับการยอมรับในระดับโลก ทั้งการใช้ข้อมูลที่ได้จาก HTA เพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนยารักษาไวรัสตับอักเสบซีให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมโดยมีต้นทุนต่ำลง และล่าสุดนโยบายป้องกันการติดเชื้อเอดส์ก่อนการสัมผัส (Pre – Exposure Prophylaxis) หรือ PReP โดยให้ยากับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้งานวิจัย HTA มีส่วนสนับสนุนข้อมูลในการต่อรองราคา ช่วยให้สามารถใช้งบประมาณได้คุ้มค่ามากขึ้น โดยที่ผ่านมา การต่อรองราคาช่วยประหยัดงบประมาณไปได้หลายพันล้านบาท
ไม่แปลกที่ในช่วงหลายปีมานี้มีหลายประเทศมาศึกษาดูงานที่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น เคนยา แอฟริกาใต้และกัมพูชา ที่ผ่านมา HITAP ก็มีส่วนช่วยพัฒนาบุคลากรของหน่วยงาน HTA ในเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว ภูฏาน และอินเดีย เป็นต้น
HTA เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดลำดับความสำคัญเพื่อตัดสินใจด้านนโยบายสุขภาพได้โปร่งใสยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นข้อมูลในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายสุดท้ายในการรักษาสัญญาสุขภาพว่า ทุกคนจะเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้อย่างเป็นธรรม
สัญญาสุขภาพที่ต้องรักษา…ในระดับนานาชาติคือการช่วยกันเริ่มก้าวแรกในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ ขณะที่ในส่วนของประเทศไทย การรักษาสัญญา นอกจากการยื่นมือช่วยเหลือและแบ่งปันองค์ความรู้ในการก่อร่างสร้างหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน ยังมีความพยายามในการพัฒนาระบบสุขภาพที่มีอยู่ให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น และพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ผู้ดูแลระบบหลักประกันสุขภาพ