logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย” อาชีพขาดแคลนสุดสำคัญในอนาคตของสังคมไทย

แล้ววันนึงทุกเสียงที่คุณได้ยินจะเงียบหาย เพลงที่คุณชอบฟัง เสียงพูดคุยของคนที่รัก แม้กระทั่งเสียงจอแจที่คุณแอบรำคาญคุณก็ยังไม่ได้ยิน ฟังดูเหมือนเรื่องไกลตัวแต่จริงแล้วกลับใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะประสาทหูเสื่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน

“ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย โรคประสาทหูเสื่อมเป็นกลุ่มโรคที่ขึ้นอยู่กับการเสื่อมฉะนั้นทุกคนเสี่ยงหมดที่จะมีปัญหาด้านการได้ยินตามอายุที่มากขึ้น” นี่คือความสำคัญในอนาคตของอาชีพ “นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย” จากการที่ HITAP ได้พูดคุยกับ ผศ. ดร.รัตตินันท์ ฏิระวณิชย์กุล รองหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ตอนนี้ประเทศไทยมีผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายอยู่ถึง 372,189 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทว่าผู้ป่วยที่เข้าถึงการรักษากลับมีน้อย โดยส่วนสำคัญหนึ่งของปัญหาก็คือการขาดแคลนของ “นักเวชศาสตร์ด้านการสื่อความหมาย”

ชื่ออาจฟังดูแปลกหูสำหรับใครหลายคน แต่อาชีพนี้เองถือเป็นกุญแจดอกสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาทั้งหมด แล้วอาชีพนี้ทำอะไรบ้าง ? มีความสำคัญอย่างไร ? ปัญหาการได้ยินอยู่ใกล้ตัวคุณมากแค่ไหน ?

 

นักแก้ไขการพูดและการได้ยินทำอะไรบ้าง ?

“นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย” ประกอบด้วย 2 สาขาอาชีพได้แก่ นักแก้ไขการพูด และนักแก้ไขการได้ยิน มีหน้าที่ในการช่วยผู้ที่มีความบกพร่องทางการสื่อความหมาย ช่วยให้คนฟังเสียงไม่ได้ยินให้ได้ยินเข้าใจความหมาย ช่วยให้คนพูดไม่ได้ให้ออกเสียงพูดได้สื่อสารสำเร็จ โดยถือเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขในกลุ่มฟื้นฟูที่เรียกว่า สหเวชศาสตร์ (สาขาอื่น ๆ ได้แก่ นักกายภาพ นักรังสีเทคนิค) ทำงานร่วมกับหมอหู คอ จมูก

ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น หากคุณเกิดได้ยินเสียงไม่ชัดเจน คุณจะได้พบแพทย์หู คอ จมูก ตรวจดูว่ามีอาการอักเสบหรือไม่ ถ้าไม่มี แปลว่าต้องมีความผิดปกติอะไรสักอย่างที่ทำให้ได้ยินไม่ชัด ในกรณีนี้ คุณต้องมาหานักแก้ไขการได้ยินเพื่อตรวจวินิจฉัย แล้วผลตรวจจะถูกส่งกลับให้แพทย์หู คอ จมูกเพื่อทำการรักษา หากรักษาไม่ได้ การไม่ได้ยินมีสาเหตุมาจากประสาทหูเสื่อม ก็ต้องใส่เครื่องช่วยฟัง และหน้าที่ในการปรับจูนเสียงจากเครื่องช่วยฟังให้ชัดเจน และฝึกให้คุณฟังเสียงได้เข้าใจก็คือหน้าที่ของนักแก้ไขการได้ยินนั่นเอง

“นักแก้ไขการพูดและนักแก้ไขการได้ยินเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยและฟื้นฟูให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านการได้ยินและการพูดให้สามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติ”

เทียบให้ชัด อาการประสาทหูเสื่อมนั้นก็คล้ายสายตาสั้น คนมีปัญหาสายตาต้องสวมแว่นตา ผู้มีปัญหาด้านการได้ยินก็ต้องใส่เครื่องช่วยฟัง หูที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต ประสาทหูที่รับแรงสั่นสะเทือนของเสียงสามารถเสื่อมถอยได้เหมือนอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ทุกคนจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านการได้ยิน นักเวชศาสตร์ด้านการสื่อความหมายจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้

“เมื่ออายุมากขึ้นทุกคนเสี่ยงที่จะมีปัญหาด้านการได้ยินหมด ในงานวิจัยพบว่าความเสี่ยงอยู่ที่ประมาณอายุ 45 ปีขึ้นไป[1] ก็จะเริ่มมีปัญหาด้านการได้ยินแล้ว ขึ้นอยู่กับบริบท เช่น ทำงานเสียงดังก็จะเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งแนวโน้มตอนนี้ผู้ที่ใส่หูฟังแบบอินเอียร์ (in-the-ear hearing aid)  เด็กวัยรุ่นที่เล่นเกมแบบสวมหูฟังตลอดเวลาก็ทำให้มีปัญหาด้านการได้ยินเร็วขึ้น ซึ่งการใช้ลำโพงแทนหูฟังช่วยลดวามเสี่ยงได้”

 

นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย กับเสียงในอนาคตที่หายไป

เมื่อความเสี่ยงที่ประสาทหูจะเสื่อมถอยมีมากขึ้น ทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสรรพเสียง นักเวชศาสตร์ด้านการสื่อความหมายก็ยิ่งเป็นที่ต้องการ ทว่าสิ่งที่สวนทางกลับเป็นจำนวนผู้ประกอบอาชีพนี้ที่ไม่เพิ่มขึ้นและกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ จนไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหาการได้ยินที่เกิดขึ้นทั่วประเทศได้

ยิ่งไปกว่านั้น การแก้ไขการได้ยินในเด็กและการพูดในผู้ใหญ่นั้นต้องทำโดยนักเวชศาสตร์ด้านการสื่อสารระดับปริญญาโทเท่านั้น เพราะการพูดในผู้ใหญ่ที่ติดกับความเคยชินที่เป็นมาตลอดนั้นแก้ได้ยากกว่าการพูดในเด็กที่เพิ่งเรียนรู้ภาษา และการได้ยินในเด็กที่ยังไม่เคยได้ยินเสียงมาก่อนเลยก็แก้ไขยากกว่าผู้ใหญ่ที่เคยได้ยินเสียงมาแล้ว จำนวนบุคลากรที่ทำได้ จึงยิ่งขาดแคลน

“ข้อจำกัดก็คือบุคลากรทางด้านนี้น้อย อาจารย์ก็น้อย ทั่วประเทศมีสถาบันที่สอนด้านนี้อยู่เพียงไม่กี่แห่ง โดยมีหลักสูตรปริญญาโทเพียง 2 แห่งเท่านั้น และยังไม่มีหลักสูตรปริญญาเอก ซึ่งคนที่จะเป็นอาจารย์ระดับสูงจะต้องเป็นจบปริญญาเอก ฉะนั้นเราก็ต้องส่งคนไปเรียนต่อเมืองนอกและกลับมาเป็นอาจารย์”

จากการเก็บข้อมูลโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่า ในปี 2558 ประเทศไทยมีนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายที่มีทะเบียนประกอบโรคศิลปะเพียง 294 คน ประกอบด้วยนักแก้ไขการได้ยิน 136 คน นักแก้ไขการพูด 158 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนทั้งประเทศ ยิ่งนำมาเปรียบอัตราส่วนกับประเทศพัฒนาแล้วยิ่งเห็นชัด ประเทศไทยมีนักแก้ไขการได้ยินอยู่ 0.21 คนต่อประชากร 100,000 คน และนักแก้ไขการพูด 0.24 คนต่อประขากร 100,000 คน ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีอัตราส่วนนักแก้ไขการได้ยิน 4 คนต่อประชาชน 100,000 คน ขณะที่นักแก้ไขการพูดเท่ากับ 48 คนต่อประชากร 100,000 คน แตกต่างกันมากกว่า 19 เท่า

“พอมีอาจารย์น้อยเราก็รับคนได้น้อย ที่มหิดลรับได้ปริญญาตรีได้ปีละ 30 คน ขณะที่ปริญญาโทรับเพียงปีละ 4 – 5 คนและไม่ได้เปิดรับทุกปีด้วย การกระจายมันก็ยิ่งไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดเด็กในรุ่นใหม่ ๆ เขาก็ไม่ได้อยากไป ยิ่งมันเป็นวิชาชีพขาดแคลน เขาสามารถทำงานเอกชนได้ มีรายได้ต่างหาก มันขาดแคลนจึงเป็นที่ต้องการมาก”

เส้นทางการทำงานโดยทั่วไปของนักเวชศาสตร์ด้านการสื่อความหมายจะมีตั้งแต่การทำงานในสถานพยาบาลสำหรับวินิจฉัยและฟื้นฟูผู้ป่วยโดยทำงานกับแพทย์หู คอ จมูกและกุมารแพทย์ งานแก้ไขการพูดในเด็กตามโรงเรียนซึ่งมักมีปัญหาการพูดไม่ชัดเจน รวมถึงงานตามบริษัทเอกชนเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์

การขาดแคลนนี้เองนำมาซึ่งปัญหาใหญ่! เพราะในเด็กแรกเกิด 1,000 คนจะพบเด็กมีปัญหาด้านการได้ยิน 2 – 3 คน ซึ่งหากตรวจพบจะสามารถรักษาให้หายได้เป็นปกติ แต่หากไม่รักษาหรือรักษาช้าเกินไป เด็กที่ไม่เคยได้ยินเสียงมาก่อนก็อาจจะไม่สามารถสื่อสารด้วยเสียงได้ไปตลอดชีวิต การคัดกรองเด็กแรกเกิดและกการเข้าถึงการฟื้นฟูจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิตของเด็กคนหนึ่ง

ความพิการอาจไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่หากสามารถเปลี่ยนความพิการที่เกิดให้ฟื้นคืนเคียงสภาพเดิมได้ โอกาสของชีวิตก็คงเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล ศักยภาพของคนผู้นั้นอาจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เขาดูแลตัวเองได้ และมีโอกาสเป็นกำลังสำคัญของสังคมอย่างเต็มศักยภาพ และอาจดูแลคนอื่น ๆ รอบตัวเขาได้อีกมากมาย นี่คือความเป็นไปได้ที่เปิดกว้างขึ้นอย่างมหาศาล

ไม่ใช่ว่าความพิการจะมาพรากความฝัน แต่หากฟื้นฟูให้ความพิการหายไปหรือลดลง ก็เพิ่มความเป็นไปได้ที่คนๆ นั้นจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น

นโยบายการคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดและการฝังประสาทหูเทียมและฟื้นฟูสรรมถภาพได้เป็นหัวข้อวิจัยจากการประชุมคัดเลือกหัวข้อภายใต้โครงการศึกษาพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งได้คัดเลือกประเด็น “การเข้าถึงการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม” ว่ามีความสำคัญเป็นลำดับต้น

ในส่วนของ HITAP มีหน้าที่ศึกษาถึงความพร้อมของระบบที่ครอบคลุมถึงการจัดบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานของบริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและการฟื้นฟู ผลการศึกษาเบื้องต้นพบอุปสรรคสำคัญหนึ่งในการให้บริการก็คือ ปัญหาคอขวดในขั้นตอนของการตรวจวินิจฉัยและการฟื้นฟูซึ่งเป็นหน้าที่ของนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายที่กำลังขาดแคลนอยู่ในขณะนี้

“การคัดกรองการได้ยินสามารถใช้พยาบาล หรือผู้ที่ผ่านการอบรมทำแทนได้ ในต่างประเทศก็ใช้วิธีนี้ แต่เมื่อพบว่ามีความผิดปกติ คนที่จะวินิจฉัยต่อคือนักแก้ไขการได้ยิน ขั้นตอนนี้ใช้คนอื่นทำแทนไม่ได้เพราะมันมีข้อจำกัด โครงการพวกนี้จะกลายเป็นคอขวด

เมื่อคัดกรองพบเด็กที่มีปัญหาแล้วใครจะตรวจวินิจฉัยต่อ วินิจฉัยแล้วต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ต้องใส่เครื่องช่วยฟังอีก หากฟื้นฟูไม่ได้ก็ต้องไปฝังประสาทหูเทียม แพทย์เป็นคนผ่าตัดใส่อุปกรณ์ แต่คนที่จะทำให้สื่อสารได้คือนักแก้ไขการได้ยินซึ่งจะช่วยปรับซอฟต์แวร์ให้เข้ากันได้เป็นรายคน และเสร็จแล้วก็ต้องฝึกการได้ยิน ไม่ใช่ใส่แล้วได้ยินเลย ต้องเรียนรู้เสียง ค่อย ๆ เพิ่มระดับให้ได้ยิน หากได้ยินยังไม่ดีพรุ่งนี้ต้องมาปรับใหม่เพื่อให้สามารถสื่อสารใช้ชีวิตได้”

งานวิจัยของ HITAP ถือเป็นส่วนหนึ่งเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา เป็นข้อมูลตัดสินเชิงนโยบาย ท่านผู้อ่านสามารถติดตามรายงานวิจัยเกี่ยวกับ “การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิด” และ “การประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัด ฝังประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/175116  รายละเอียดรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ “การศึกษาแผนการเพิ่มจำนวนนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายและการกระจายตัวที่เหมาะสม” สามารถอ่านได้ที่นี่ http://164.115.27.97/digital/files/original/896bb39016c4b0527b882b659c5c3bb7.pdf

[1] http://clmjournal.org/_fileupload/journal/406-4-6.pdf

25 ตุลาคม 2562

Next post > ให้ภาพเล่าเรื่อง : เรื่องน่ารู้ คลอดก่อนกำหนด

< Previous post เด็กอ้วน น่ารักหรือน่าเป็นห่วง ?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ