logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ตรวจมวลกระดูก จำเป็น(ซะ)เมื่อไหร่ ?

ความแข็งแรงของกระดูกอาจเป็นสิ่งที่หลายคนกังวล การตรวจเช็กมวลกระดูกเพื่อความสบายใจจึงอาจเกิดขึ้นเกินความจำเป็นโดยไม่รู้ตัว แต่คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ควรตรวจ เมื่อไหร่ยังไม่จำเป็น บทความนี้จะพาคุณไปพบคำตอบ

การตรวจมวลกระดูกคือการวัดความหนาแน่นของกระดูกด้วยวิธีที่เรียกว่า DEXA scan เป็นการเอ็กซเรย์รูปแบบหนึ่ง (มีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น DXA scan, Bone mineral density test,  BMD test, Bone density test) ผู้คนมากมายตรวจมวลกระดูกทุก 2 – 3 ปีด้วยเหตุผลหลักคือต้องการตรวจและหาทางแก้การสูญเสียกระดูก แต่โดยมากแล้วหญิงอายุต่ำกว่า 65 ปีและชายอายุต่ำกว่า 70 ปี ไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจ และต่อไปนี้คือเหตุผล

ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้สูญเสียกระดูกมากมาย คนส่วนใหญ่โดยปกติแล้วไม่ได้มีภาวะสูญเสียกระดูกหรือมีเพียงภาวะกระดูกบาง (osteopenia) ความเสี่ยงของการที่กระดูกจะหักจึงต่ำ คนเหล่านั้นจึงไม่ต้องเข้ารับการตรวจ สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำเพื่อป้องกันการสูญเสียกระดูกไปคือ การออกกำลังอย่างเป็นกิจวัตรพร้อมรับแคลเซียมและวิตามินดีอยู่เสมอ

การตรวจมวลกระดูกมีความเสี่ยง การตรวจมวลกระดูกมีการใช้กัมมันตภาพรังสีไม่มากนัก แต่ก็อาจส่งผลเสียได้ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงจากการตรวจที่ใช้รังสีคือหนทางที่ดีที่สุด

ยาที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนมีผลข้างเคียง ยาทั่วไปที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนคือ alendronate ibandronate และ risedronate ยาเหล่านี้มีโอกาสก่อให้เกิดผลข้างเคียงและมีการจ่ายยาเกินจำเป็นในหลายประเทศ ผลข้างเคียงโดยทั่วไป ได้แก่ อาการปวดหน่วงในท้อง เบื่ออาหาร และร้อนในอก ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบได้ยากก็มีผลข้างเคียงต่อกระดูก ตา ข้อต่อและเจ็บปวดที่กล้ามเนื้อ กระดูกขาแตกร้าว สูญเสียกระดูกกรามและการเต้นของหัวใจผิดปกติ ยาอื่น ๆ นอกจากนี้ที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนก็มีความเสี่ยง เช่น มีผลให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง และการติดเชื้อรุนแรง

การรักษาไม่ได้ให้ประโยชน์เต็มที่กับผู้ป่วยทุกราย ผู้ป่วยบางรายได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุนแม้จะสูญเสียมวลกระดูกไม่มากนัก คือ มีภาวะกระดูกบาง ในกรณีนี้ มีหลักฐานไม่มากที่สนับสนุนว่ายาเป็นประโยชน์ และแม้ว่ายาจะเป็นประโยชน์ก็อาจเป็นระยะเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ดังนั้นควรใช้ยาเฉพาะเมื่อมีภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis)

การตรวจมวลกระดูกอาจทำให้สูญเงินโดยเปล่าประโยชน์หากคุณไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง การตรวจมวลกระดูกในประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,600 – 3,200 บาทโดยประมาณในโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายอาจน้อยกว่านี้หากตรวจกับโรงพยาบาลรัฐ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็มักไม่เจอความผิดปกติอยู่แล้ว

 

ใครควรเข้ารับการตรวจมวลกระดูก

โดยปกติแล้วผู้หญิงควรตรวจมวลกระดูกเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ชายควรตรวจเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป และคุณอาจปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและประโยชน์ก่อนตัดสินใจ สำหรับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่านั้นและผู้ชายที่อายุระหว่าง 50 – 69 ก็อาจจะพิจารณาเข้ารับการตรวจหากมีความเสี่ยงตามปัจจัยเหล่านี้

-กระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุเล็กน้อย

-เป็นโรคข้อรูมาตอยด์

-พ่อแม่หรือคนในครอบครัวมีประวัติสะโพกหัก

-สูบบุหรี่

-ติดเหล้า ดื่มหนัก

–น้ำหนักน้อยหรือต่ำกว่าเกณฑ์

–ใช้ยา Corticosteroids (ยากลุ่มสเตียรอยด์ที่ใช้ลดอาการอักเสบ) เป็นเวลา 3 เดือนหรือมากกว่า

–ได้รับวิตามินดีต่ำ

คุณอาจจะจำเป็นต้องติดตามผลตรวจมวลกระดูกในอีกหลายปีต่อมาขึ้นอยู่กับผลตรวจครั้งแรก

ในส่วนของประเทศไทย การศึกษาในปี 2558 พบว่าการตรวจมวลกระดูกด้วยเครื่อง DXA ยังไม่แพร่หลาย ส่วนใหญ่อยู่ตามโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ในปี 2553 มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ และราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยได้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับดูแลรักษาโรคกระดูกพรุน โดยมีคำแนะนำในเรื่องของการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งมีการคัดกรองด้วยดัชนีความเสี่ยงทางคลินิก เช่น Osteoporosis Self-Assessment for Asian (OSTA) และ Khon Kean Osteoporosis Study Score (KKOS) ซึ่งคำนวณได้ง่ายใช้เพียงน้ำหนักและอายุในการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุน เพื่อเป็นการคัดกรองเบื้องต้นและตรวจยืนยันด้วยเครื่อง DXA

โรคกระดูกพรุนก่อให้เกิดภาวะที่รุนแรงตามมาอย่างอาการกระดูกหัก ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบาก ถือเป็นภัยเงียบที่สังเกตได้ยากว่ามวลกระดูกได้ลดลงมากแล้ว ทุกคนสามารถป้องกันตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต ถั่วเหลือง งาดำ งาขาว เพื่อลดความเสี่ยง หรือหากพบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็สามารถพบแพทย์เพื่อรับการคัดกรองได้

 

บทความนี้แปลและเรียบเรียงโดยใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ “Choosing Wisely” โครงการรณรงค์ขององค์กรการแพทย์ American Board of Internal Medicine (ABIM) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ทางการแพทย์ให้กับทั้งผู้ป่วย คนใกล้ชิด และแพทย์ผู้รักษา เพื่อหาทางรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดให้ผู้ป่วย  โครงการเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาในปี 2555 เพื่อสนับสนุนการสนทนาระหว่างแพทย์และคนไข้ด้วยการช่วยให้คนไข้เลือกวิธีการรักษาโดยพิจารณาจากการสนับสนุนด้วยหลักฐาน, ไม่ซ้ำซ้อนจากการตรวจอื่นหรือแนวปฏิบัติที่ได้รับไปแล้ว, ปราศจากอันตรายและมีความจำเป็นในการรักษาอย่างแท้จริง โครงการนี้ประสบความสำเร็จทำให้มีการจ่ายยาน้อยลง ลดความเสี่ยงและลดต้นทุนการรักษา ปัจจุบันเริ่มขยายไปในหลายประเทศทั่วโลก สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.choosingwisely.org/patient-resources/bone-density-tests/

 

หมายเหตุ : ผู้ป่วยไม่ควรใช้การแนะนำของ Choosing Wisely แทนคำแนะนำทางการแพทย์ คำแนะนำเหล่านี้มุ่งหมายกระตุ้นให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับการรักษาที่จำเป็นและเหมาะสม สถานการณ์ของคนไข้แต่ละคนมีความเฉพาะตัว แพทย์และผู้ป่วยควรใช้คำแนะนำเหล่านี้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกแผนการรักษาร่วมกัน

20 กันยายน 2562

Next post > 5 กิจกรรมสุขภาพง่าย ๆ ที่ผู้สูงอายุควรทำ

< Previous post ทำไมประเทศต้องช่วยลดเค็มให้คุณ ?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ