logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
10 คำถามง่าย ๆ ช่วยบอกคุณ(หรือคนใกล้ตัว) กำลังติดเหล้าหรือไม่ และข้อแนะนำ

ทุกคนต่างอยากมีสุขภาพดี ต่อให้รักการดื่มแค่ไหน ก็ยังแอบฝันถึงสุขภาพดี แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราดื่มหนักไปแล้วหรือเปล่า ?

คำถาม 10 ข้อต่อไปนี้มาจากแบบประเมินปัญหาการดื่มสุรา (Alcohol use disorders identification test – AUDIT) ซึ่งออกแบบเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงของพฤติกรรมในการดื่มโดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) การดื่มในที่นี้หมายรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ เหล้า วิสกี้ สปาย สาโท ตัวแบบสอบถามมีลักษณะเป็นตัวเลือกพร้อมคะแนน 0 – 4 ตอบทีละข้อแล้วรวมคะแนน คุณจะทราบถึงความเสี่ยงในการดื่มพร้อมคำแนะนำเพื่อปรับพฤติกรรมของตัวเองให้ไม่เป็นทาสเหล้าและมีสุขภาพที่ดีขึ้น

 

1 คุณดื่มเหล้าบ่อยแค่ไหน

0 คะแนน ไม่เคยเลย (ข้ามไปอ่านข้อแนะนำจากผลรวมคะแนนได้เลย)

1 คะแนน เดือนละครั้งหรือน้อยกว่า

2 คะแนน 2 – 4 ครั้งต่อเดือน

3 คะแนน 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์

4 คะแนน 4 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์

 

2 ดื่มครั้งหนึ่ง คุณดื่มปริมาณมากแค่ไหน?

0 คะแนน ดื่มเบียร์ 1 กระป๋อง (เท่ากับครึ่งขวด) หรือดื่มเหล้า 2 – 3 ฝา

1 คะแนน ดื่มเบียร์ 2-3 กระป๋อง (เท่ากับ 1 ขวด) หรือดื่มเหล้า 1 ใน 4 แบน

2 คะแนน ดื่มเบียร์ 4 กระป๋อง (เท่ากับ 2 ขวด) หรือดื่มเหล้าครึ่งแบน

3 คะแนน ดื่มเบียร์ 5-7 กระป๋อง (เท่ากับ 3-4 ขวด) หรือดื่มเหล้า 3 ใน 4 แบน

4 คะแนน ดื่มเบียร์ 7 กระป๋องขึ้นไป (เท่ากับ 4 ขวดขึ้นไป) หรือดื่มเหล้า 1 แบนขึ้นไป

 

3 คุณดื่มเบียร์มากกว่า 4 กระป๋อง (เท่ากับ 2 ขวด) หรือดื่มเหล้ามากกว่าครึ่งแบนบ่อยแค่ไหน

0 คะแนน ไม่เคยเลย

1 คะแนน น้อยกว่าเดือนละครั้ง

2 คะแนน เดือนละครั้ง

3 คะแนน สัปดาห์ละครั้ง

4 คะแนน ทุกวันหรือเกือบทุกวัน

 

4 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หากเริ่มดื่มเหล้าแล้วคุณไม่สามารถหยุดดื่มได้บ่อยเพียงใด

0 คะแนน ไม่เคยเลย

1 คะแนน น้อยกว่าเดือนละครั้ง

2 คะแนน เดือนละครั้ง

3 คะแนน สัปดาห์ละครั้ง

4 คะแนน ทุกวันหรือเกือบทุกวัน

 

5 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คุณไม่สามารถทำสิ่งที่ควรทำเพราะมัวแต่ดื่มเหล้าบ่อยเพียงใด

0 คะแนน ไม่เคยเลย

1 คะแนน น้อยกว่าเดือนละครั้ง

2 คะแนน เดือนละครั้ง

3 คะแนน สัปดาห์ละครั้ง

4 คะแนน ทุกวันหรือเกือบทุกวัน

 

6 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คุณต้องรีบดื่มเหล้าทันทีในตอนเช้าเพื่อดำเนินชีวิตตามปกติ (หรือถอนอาการเมาค้างจากการดื่มหนักในคืนที่ผ่านมา) บ่อยเพียงใด

0 คะแนน ไม่เคยเลย

1 คะแนน น้อยกว่าเดือนละครั้ง

2 คะแนน เดือนละครั้ง

3 คะแนน สัปดาห์ละครั้ง

4 คะแนน ทุกวันหรือเกือบทุกวัน

 

7 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คุณรู้สึกไม่ดี โกรธหรือเสียใจ เนื่องจากได้ทำบางสิ่งขณะดื่มเหล้าไปบ่อยเพียงใด

0 คะแนน ไม่เคยเลย

1 คะแนน น้อยกว่าเดือนละครั้ง

2 คะแนน เดือนละครั้ง

3 คะแนน สัปดาห์ละครั้ง

4 คะแนน ทุกวันหรือเกือบทุกวัน

 

8 ในช่วงปี 1 ที่ผ่านมา คุณจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในคืนที่ผ่านมาเพราะดื่มเหล้าเข้าไป บ่อยเพียงใด

0 คะแนน ไม่เคยเลย

1 คะแนน น้อยกว่าเดือนละครั้ง

2 คะแนน เดือนละครั้ง

3 คะแนน สัปดาห์ละครั้ง

4 คะแนน ทุกวันหรือเกือบทุกวัน

 

9 คุณหรือผู้อื่นเคยบาดเจ็บจากผลของการดื่มของคุณหรือไม่

0 คะแนน ไม่เคยเลย

2 คะแนน เคย แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

4 คะแนน เคยและเกิดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

 

10 หมอหรือเพื่อนหรือญาติเคยแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับการดื่มของคุณ หรือไม่

0 คะแนน ไม่เคยเลย

2 คะแนน เคย แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

4 คะแนน เคยเกิดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

 

ข้อแนะนำจากผลคะแนน

0 – 7 คะแนน คุณเป็นผู้ดื่มความเสี่ยงต่ำ คุณทำได้ดีแล้วและไม่ควรดื่มมากกว่านี้ ควรพยายามดื่มให้น้อยลงหรือเลิกดื่มเพราะการดื่มแม้น้อยนิดก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

8 – 15 คะแนน คุณเป็นผู้ดื่มแบบมีความเสี่ยง เนื่องจากลักษณะการดื่มของคุณในตอนนี้แม้จะยังไม่พบปัญหาชัดเจน แต่การดื่มแบบนี้ต่อไปจะเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น โรคตับ โรคกระเพาะ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และยังเสี่ยงต่อปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำงานรวมถึงปัญหาด้านการเงินได้ พยายามลดการดื่มให้น้อยลง ระลึกถึงความสำคัญของการลดการดื่มอยู่เสมอ

16 – 19 คะแนน คุณเป็นผู้ดื่มแบบอันตราย เสี่ยงเกิดผลเสียทางสุขภาพและผลเสียด้านสังคม ต้องเข้ารับการบำบัดแบบสั้นโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมการให้คำปรึกษา ซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำ คัดกรองปัญหาการดื่มสุรา สร้างแรงจูงใจรวมถึงติดตามดูแลเพื่อแก้ไขอุปสรรค์และลดการดื่มให้น้อยลง

20 คะแนนขึ้นไป คุณติดเหล้าแล้วล่ะ หรือภาษาทางการเรียกว่า (ผู้ดื่มแบบติด) คุณควรได้รับการส่งต่อพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการบำบัดรักษาเพราะการติดสุราถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง การเลิกด้วยตัวเองจึงทำได้ยากและอาจเกิดอันตรายขึ้นได้

 

ปัญหาสุราในสังคมไทยคือการที่ผู้ติดสุราไม่สามารถเข้าถึงการรักษา ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ไม่รู้ว่าตัวเองดื่มมากเกินไป คำถามทั้ง 10 ข้อนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเพื่อช่วยให้คุณได้ตระหนักถึงปัญหาใกล้ตัว ผู้อ่านอาจปรับเพื่อใช้สังเกตพฤติกรรมคนรอบข้างได้ เพราะนักดื่มมักไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการติดสุรา หากท่านผู้อ่านสนใจความรู้เกี่ยวกับการเลิกเหล้าสามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://alcoholrhythm.com/

15 สิงหาคม 2562

Next post > ปอกเปลือกประเมิน "งดเหล้าเข้าพรรษา" เข้าหูใคร ได้ผลจริงหรือ ?

< Previous post เตรียมเพิ่มสิทธิ์ตรวจฟรีปี 63 “มะเร็งปากมดลูก” โรคร้ายที่หญิงไทยควรระวัง

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ