logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เตรียมเพิ่มสิทธิ์ตรวจฟรีปี 63 “มะเร็งปากมดลูก” โรคร้ายที่หญิงไทยควรระวัง

“มะเร็งปากมดลูก” แม้จะขึ้นชื่อเป็นมะเร็งร้ายที่พรากชีวิตหญิงไทยสูงเป็นอันดับ 2  แต่ก็สามารถรักษาได้ถ้ารักษาอย่างทันท่วงที เพียงเข้ารับการตรวจคัดกรอง !

มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดบริเวณปากมดลูก อาการที่สังเกตได้คือมีตกขาวมากปิดปกติคล้ายหนอง เลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่ใช่ประจำเดือน มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งโดยทั่วไปมักพบอาการเหล่านี้เมื่อโรคลุกลามแล้ว ทำให้มะเร็งปากมดลูกเป็นภัยเงียบที่พรากชีวิตหญิงไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกก็คือเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ดังนั้นการตรวจและการจัดการก่อนลุกลามจนกลายเป็นมะเร็งจึงเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุด

ปัจจุบันหญิงไทยสามารถเข้ารับการตรวจได้ฟรีด้วยวิธีการตรวจ 2 แบบได้แก่

1 วิธี Pap Smear หรือ conventional cytology (CC) ตรวจฟรีในผู้หญิงอายุ 30 – 60 ปีโดยตรวจทุก 3 ปี ส่วนผู้หญิงอายุ 60 ปีขึ้นไปตรวจตามความเหมาะสม  โดยวิธีนี้เป็นการตรวจทั่วไปที่ใช้ในประเทศไทยมามากกว่า 70 ปี โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่านช่องคลอดเพื่อป้ายเซลล์จากมดลูกส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ ข้อดีคือมีต้นทุนต่ำ แต่ก็มีข้อเสียคือประสิทธิภาพในการคัดกรองขึ้นอยู่กับความชำนาญของบุคลากรที่ป้ายเก็บตัวอย่างและอ่านเซลล์

2 วิธี VIA (Visual lnspection with Acetic acid) ตรวจฟรีในผู้หญิงอายุ 30 – 45 ปีโดยตรวจทุก 5 ปี วิธีนี้ตรวจด้วยการชโลมปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู 3 – 5 %  หากมีลักษณะสีขาวแสดงว่ามีความผิดปกติ ข้อดีของวิธีการตรวจนี้คือต้นทุนต่ำ ทราบผลทันทีและสามารถให้การรักษาได้เลย แต่มีข้อจำกัดคือไม่สามารถใช้ตรวจในผู้หญิงอายุมากได้

ล่าสุดคณะกรรมการหลักสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) ได้เห็นชอบให้เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์หลายรายการในส่วนของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคปี 2563 โดย 1 ในนั้นคือเพิ่มทางเลือกการตรวจที่เรียกว่า HPV DNA ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัส HPV ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยเตรียมให้สิทธิ์ตรวจฟรีในผู้หญิงอายุ 30 – 59 ปี และให้ตรวจทุก 5 ปี

แล้ว HPV DNA ดีอย่างไร? เหตุใดจึงต้องเพิ่มการตรวจใหม่นี้

ผลจากการศึกษา “การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยวิธี HPV DNA ของ HITAP พบว่า HPV DNA เป็นวิธีการตรวจที่มีความไวในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติสูงมาก มีข้อดีคืออ่านผลได้ง่าย เพราะมีเครื่องมืออ่านผลช่วยลดภาระของนักเซลล์วิทยาในการอ่านผล นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมถึง 2 เท่า (คือจะสามารถลดอุบัติการณ์ของโรคลง 1,900 รายต่อปี เทียบกับวิธีเดิมที่ลดอุบัติการณ์ได้ 900 รายต่อปี) แม้จะมีข้อจำกัดคือต้องมีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดและมีราคาสูง แต่ก็มีประสิทธิภาพสูงและมีความคุ้มค่า ช่วยให้ตรวจพบผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้น

สำหรับผู้ที่จะเข้ารับการตรวจแบบ HPV DNA นั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าควรมีอายุมากกว่า 30 ปี เพราะหากตรวจพบเชื้อ HVP ในช่วงอายุน้อย ยังมีโอกาสสูงที่เชื้อ HPV จะถูกกำจัดออกไปได้เองตามกลไกปกติของร่างกาย การรักษาจึงก่อผลเสียต่อร่างกายและเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัย การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยวิธี HPV DNA สามารอ่านได้ที่นี่คลิก https://www.hitap.net/documents/165617

2 สิงหาคม 2562

Next post > 10 คำถามง่าย ๆ ช่วยบอกคุณ(หรือคนใกล้ตัว) กำลังติดเหล้าหรือไม่ และข้อแนะนำ

< Previous post ลดเสี่ยงคลอดลูก ! ด้วย QS ป้องกัน “ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด”

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ