logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“การประเมินความคุ้มค่าระดับโรงพยาบาล” เครื่องมือช่วยบริหารงบประมาณให้ได้ประโยชน์สูงสุด

“การประเมินความคุ้มค่า” หรือ Economic evaluation (EE) มักเป็นคำที่มาพร้อมกับคำใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายระดับชาติ เช่น บัญชียาหลักแห่งชาติ หรือชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่รู้หรือไม่ว่าอันที่จริงแล้ว EE เป็นเรื่องที่ทุกคนใช้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้แต่ในโรงพยาบาล

“สมัยก่อนเรามองว่าอะไรก็ตามที่แพทย์อยากใช้ อะไรที่จำเป็นในแต่ละสาขา อยากซื้อเขาก็จะซื้อกันเข้ามาตามงบประมาณที่มี แต่ในประเด็นเหล่านี้บางทีเราไม่ได้มองเรื่องของจำนวนผู้ป่วย ความชุกของโรคที่มีหรือแม้แต่ต้นทุนที่เราลงทุนไป” ดร. นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขกล่าว ในฐานะที่เป็นนักวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และคลุกคลีอยู่ในแวดวงการประเมินความคุ้มค่าในระดับโรงพยาบาลมานาน โดยหนึ่งในงานของ ดร. นพ.อรรถสิทธิ์ และสถาบันวิจัยฯ คือการส่งเสริมให้โรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ รวมถึงประเมินความคุ้มค่า

เพราะแน่นอนว่าEEก็ช่วยในการตัดสินใจระดับโรงพยาบาลเช่นกันโดยถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เป็นประโยชน์ในการจัดลำดับความสำคัญ รัฐต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะลงทุนกับอะไรก่อนในระดับประเทศฉันใด โรงพยาบาลก็ต้องจัดลำดับว่าจะลงทุนกับเครื่องมือแพทย์ไหน และหน่วยไหนก่อนฉันนั้น

            “EE มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับโรงพยาบาล เมื่อใดก็ตามที่เราเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล สิ่งที่เราต้องคิดคือการลงทุน และการลงทุนทั้งหลายขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่จำกัด ไม่สามารถจะซัพพอร์ตทุกเทคโนโลยีให้กับโรงพยาบาลได้ เราจึงต้องพิจารณาว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ไหนที่ทำให้เกิดความคุ้มค่ากับประชาชนส่วนใหญ่ หรือผู้ป่วยส่วนใหญ่ของโรงพยาบาล EE คือเครื่องมือหนึ่งเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าเราจะใช้เทคโนโลยีไหน ในบริบทของเรา และในระยะเวลาที่เรากำลังพิจารณาอยู่

                “EE มันเป็นเครื่องมือของผู้บริหารที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายว่า แม้เขาจะรู้ว่าเทคโนโลยีบางอย่างมันดีมีประโยชน์ แต่มันจะคุ้มค่าหรือไม่ถ้านำมาใช้กับคนส่วนใหญ่”

เหตุผลที่ต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพราะทุกครั้งที่ตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมเสียโอกาสในการเลือกสิ่งอื่น

เมื่อใดก็ตามที่เราลงทุนให้กับเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง มันจะเสียโอกาสจากอีกเทคโนโลยีหนึ่ง ฉะนั้นมันจะต้องมีโจทย์ตอบผู้บริหารให้ได้ว่าอะไรที่คุ้มค่าสำหรับการลงทุน

“ยกตัวอย่างว่าหากโรคหนึ่งที่ต้องเอาเครื่องมือแพทย์ใหม่เข้ามา หากมันมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่เพราะคนเป็นโรคนี้เยอะ เครื่องมือแพทย์นี้สามารถเอาไปใช้ได้กับคนหลายคน โอกาสที่ประโยชน์ที่ได้กับเงินที่ลงทุนจะมีความคุ้มค่าก็สูง กลับกันบางอย่างเทคโนโลยีใหม่ก็จริง คุณหมออยากใช้ แต่คนไข้ไม่ค่อยมี นานๆ จะมีสักราย เราจะเอาเทคโนโลยีนี้มาเก็บมาทิ้งไว้หรือเปล่า?”

“บริบทของโรงเรียนแพทย์ เทคโนโลยีบางอย่างมันจำเป็นสำหรับการเรียนการสอน แต่สำหรับคนไข้หรือประชากรส่วนใหญ่อาจจะเข้าถึงเทคโนโลยีตัวนี้ได้ไม่มาก ฉะนั้นพูดถึงความคุ้มค่าในแต่ละบริบทมันก็ต้องไปดูว่าจุดมุ่งหมาย หรือเป้าหมายของแต่ละพื้นที่นั้นคืออะไร EE จึงเป็นกระบวนการที่สามารถนำมาปรับใช้ในแต่ละพื้นที่เพื่อประเมินความคุ้มค่าในแต่ละบริบทได้”

แล้วEEที่ดี ควรมีหลักการอย่างไร? และนำไปใช้ได้อย่างไร?

            “หลักการสำคัญของกระบวนการนี้คือ 1 มันจะต้องโปร่งใส ทำถูกต้องตามหลักการ และ 2 เราต้องยอมรับว่าการตัดสินใจที่ตามมาจะมีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ฉะนั้นมันต้องได้ประโยชน์กับคนหมู่มาก คนที่เสียประโยชน์ก็ต้องยอมรับในเงื่อนไข แต่ถ้าเราไม่ทำ (EE) เลย เราเลือกอันใดอันนึง บางทีเราตอบไม่ได้ว่าเราทำแบบนี้เพราะอะไร? มีวาระแอบแฝงหรือเปล่า? ซึ่งการทำ EE ที่ถูกต้องและโปร่งใสจะตอบโจทย์กับสังคมได้ว่า เราตัดสินใจอย่างนี้เพราะอะไร สุดท้ายหลักฐานตรงนี้จะเป็นคำตอบได้ว่าเราอยู่บนพื้นฐานของวิชาการของข้อมูลเชิงประจักษ์”

            “แต่เราจะใช้ EE อย่างเดียวมาตัดสินใจระดับโรงพยาบาลไม่ได้ ยังต้องคำนึงถึงประเด็นจริยธรรมของการรักษาด้วย เราจะบอกว่ารักษาแบบนี้ไม่คุ้ม เราไม่ควรจะรักษาไม่ได้ EE เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการประเมินการจัดการหรือการดูแลผู้ป่วย แต่การรักษาบางอย่างผมคิดว่ามันอาจจะต้องดูแบบผสมผสานหลายๆ อย่างประกอบกัน เทคโนโลยีบางอย่างไม่แพง เข้าถึงได้ง่าย อาจจะไม่จำเป็นต้องประเมิน เราคงต้องจัดลำดับความสำคัญว่าถ้าเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาแพง สูญเสียทรัพยากรเยอะ เราอาจต้องให้ความสำคัญในการประเมินว่าสิ่งที่ได้มามันคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่”

การจะลงมือประเมินจริงอาจซับซ้อน แต่หากไม่เริ่มก้าวแรกก็จะไม่มีก้าวต่อไป สิ่งสำคัญคือการลงมือทำ เรียนรู้ และก้าวผ่านอุปสรรคระหว่างทางไปให้ได้

            “การทำ EE ไม่ใช่เรื่องง่าย” ดร. นพ.แพทย์อรรถสิทธิ์กล่าว “เมื่อแนวคิดนี้นำไปทำจริงอาจจะมีปัญหาหรืออุปสรรคบางอย่าง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เราจะไม่รู้หากไม่ได้ลงมือทำ

“หลายหน่วยงานมองเห็นเรื่องนี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำจริงๆ จังๆ ผมคิดว่า หนึ่ง ต้องมีองค์ความรู้และปรับเปลี่ยนแนวคิดแล้วมาดูที่กระบวนการจากนั้นจึงลองหัดทำ มันอาจจะไม่ดีในช่วงแรก เพราะมันไม่มีอะไรสมบูรณ์ตั้งแต่เริ่ม ทว่าเมื่อเราทำไปเรื่อยๆ เราจะค้นพบจุดบกพร่องเพื่อที่เราจะสามารถปรับปรุงแก้ไข แล้วต่อไปข้อมูลเราจะเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ ผู้บริหารก็จะใช้ได้ในการตัดสินใจ แต่ทุกอย่างมันอยู่บนเงื่อนไขบางอย่าง ต้องเข้าใจเงื่อนไขที่เป็นอยู่ด้วย”

 

ท้ายที่สุดนี้ ในวันที่ 5 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2562 HITAP จะจัดการอบรม Health Economic Evaluation Training สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการอบรมได้จากคลิป “อบรม EE จะทำให้คุณรู้ว่าการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และสาธารณสุขคืออะไร” คลิ๊ก https://youtu.be/2WKvnL9t1u4 คลิป“ทำไมถึงควรมาอบรม EE” โดย นพ.กมลรัชฎ์ จงธนากร หัวหน้าศูนย์ประกันสุขภาพ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ คลิ๊ก https://youtu.be/XVk0hZ6nlFg คลิป“ทำไมถึงควรมาอบรม EE” โดย นพ. จักรมีเดช เศรษฐนันท์ ภาควิชารังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ คลิ๊ก https://youtu.be/XZbDc4rsIIk และคลิป “ทำความรู้จักการอบรม EE ให้มากขึ้น” คลิ๊ก https://youtu.be/L2cX7J9FsfI หากสนใจร่วมอบรมสามารถสมัครได้ที่นี่ http://training.hitap.net

28 มีนาคม 2562

Next post > “เขาเมาเราเจ็บ” ดื่มเหล้าไม่ใช่เรื่องของเขาคนเดียว

< Previous post HTA ในมุมมองแพทย์ “ยาก - ท้าทาย - ได้ผล” รักษาคนไข้ คิดเชิงระบบ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ