logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เปิด DATA 15 years challenge 6 เรื่องน่ารู้จากรายจ่ายสุขภาพคนไทยที่เปลี่ยนไป

หลังกระแส 10 years challenge ชวนให้หลายคนหวนมองย้อนความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลา 10 ปี ความแตกต่างที่เกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา

สิ่งสำคัญที่ใกล้ตัวไม่แพ้รูปร่างหน้าตาของแต่ละคนที่เปลี่ยนไปคือรายจ่ายจากกระเป๋าที่เปลี่ยนแปลง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราใช้จ่ายเงินเปลี่ยนไปอย่างไร ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล คนไทยต้องจ่ายจนต้องจนและล้มละลายกันอยู่หรือเปล่า มีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มขึ้นจนต้องจับตา

จากงานวิจัย “การค้นหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับรายจ่ายสุขภาพที่ประชาชนต้องจ่ายด้วยตนเองในประเทศไทย” เพื่อให้เห็นชัดถึงความเปลี่ยนแปลง HITAP  ขอพาทุกคนไปเปิดตัวเลขความเปลี่ยนแปลง 15 ปีเทียบระหว่างปี 2543 และปี 2558 คือก่อนและหลังมีหลังประกันสุขภาพถ้วนหน้า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนไปอย่างไร

ครัวเรือนล้มละลาย / ยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มลดลง

ล้มละลายอาจเป็นคนที่คุ้นหู แต่การล้มละลายจากรายจ่ายด้านสุขภาพในการเก็บข้อมูลนั้นได้ให้รายละเอียดไว้ว่าคือครัวเรือนที่มีรายจ่ายด้ายสุขภาพมากกว่าร้อยละ 10 ของรายจ่ายทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ครอบครัวมีรายจ่ายทั้งหมด (ไม่รวมเงินเก็บ) ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าอุปโภคบริโภค 10,000 มีรายจ่ายด้านสุขภาพมากกว่า 1,000 จะถือว่าเป็นครัวเรือนที่ล้มละลายจากค่าใข้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาในช่วง 15 นี้พบว่าครัวเรือนที่พบว่าวิกฤติทางการเงินลักษณะนี้มีแนวโน้มลดลง

โดยข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2543 – 2559 วิเคราะห์โดย ดร. สุพล ลิ้มวัฒนานนท์ ระบุว่า ครัวเรือนล้มละลายจากรายจ่ายด้านสุขภาพลดลง โดยในปี 2543 มีร้อยละ 5.74 ขณะที่ในปี 2558 ลดลงเหลือร้อยละ 2.01

นอกจากนี้ ครัวเรือนที่กลายเป็นครัวเรือนยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพก็มีแนวโน้มลดลง

โดยครัวเรือนเหล่านี้ก็คือครัวเรือนมีรายได้ลดลงจนอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน(คือมีรายได้น้อยจนเข้าเกณฑ์ตามช่วงเวลานั้นๆ ) หลังจากจ่ายค่ารักษาพยาบาล ตัวอย่างเช่น ครัวเรือนที่ต้องขายที่ดินทำกินเพื่อนำมารักษาพยาบาล ทำให้ไม่มีแหล่งรายได้ก็ถือเป็นครัวเรือนในกลุ่มนี้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีแนวโน้มที่ลดลงจากข้อมูลพบว่า ครัวเรือนที่ยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มลดลงในปี 2543 มีร้อยละ 2.01 ขณะที่ในปี 2558 ลดลงเหลือร้อยละ 0.32 เท่านั้น

 

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีตัวเลขไม่ได้ลดลง

บัตรทองน่าจะมีส่วนช่วยให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลง แต่ความจริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ข้อมูลตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติกลับพบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาปรับตามอัตราเงินเฟ้อ(เพื่อให้ค่าเงินเท่ากันทุกปี) กลับพบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มคงที่ ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยมีรายจ่ายยาและเวชภัณฑ์เพิ่มขึ้นมาแทนค่ารักษาพยาบาล

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยในปี 2543 อยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2558 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 6.4 หมื่นล้านบาท จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่หากมีการปรับลดอัตราเงินเฟ้อหรือค่า CPI โดยใช้ปี 2554 เป็นฐาน (เพื่อทำให้ค่าเงินเท่ากันทุกปี) จะพบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเหล่านี้มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่โดยในปี 2543 อยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2558 อยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท

 

สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลง (มีเงินใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่มขึ้น)

แม้ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแบบเป็นตัวเลขจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่เมื่อแปลงค่าเงินตามเงินเฟ้อแล้วก็ยังมีแนวโน้มที่เท่าเดิม นอกจากนี้หากนำค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมาเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือนกลับพบว่าครัวเรือนมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ว่าง่าย ๆ คือแม้ตัวเงินที่ใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่ได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายรวมของคนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ แล้ว พบว่าคนไทยแบ่งเงินไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายด้านอื่นมากขึ้น ในขณะที่ไม่ต้องใช้จ่ายในด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นนัก

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนที่แปลค่าเงินเฟ้อให้เท่ากันทุกปีพบว่า ในปี 2543 ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2558 อยู่ที่ 6 หมื่นล้านซึ่งมีตัวเลขขึ้นบ้างลงบ้างในช่วง 15 ปีจึงมีแนวโน้มที่คงที่

ขณะที่หากนำค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมาเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะพบว่ามีสัดส่วนที่ลดลง โดยในปี 2543 ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพร้อยละ 2.7 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ในปี 2558 ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับค่าใข้จ่ายทั้งหมด

 

ค่าอาหารอันดับ 1 ค่าเดินทางและค่าสื่อสารแนวโน้มพุ่งแรง

ที่ผ่านมาค่าอาหารถือเป็นค่าใช้จ่ายที่มาเป็นอันดับหนึ่งโดยในปี 2543 ค่าอาหารอยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท มาถึงปี 2558 ค่าอาหารก็ยังคงอยู่ที่อันดับหนึ่งที่ 1.3 ล้านล้านบาท

ส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอย่างเห็นได้ชัดก็คือค่าการเดินทางและสื่อสาร โดยในปี 2543 อยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาทขณะที่ในปี 2558 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.07 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้หากนำค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและสื่อสารไปเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็จะพบว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี (ตรงข้ามกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มลดลง) โดยค่าใช้จ่ายด้านอาหารจากปี 2543 อยู่ที่ร้อยละ 26.2 พอถึงปี 2558 กลับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 32.1 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและสื่อสารจากปี 2543 อยู่ที่ร้อยละ 18.8 พอถึงปี 2558 กลับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

 

ค่าวิตามิน ยาบำรุงและอาหารเสริมเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพตามการเก็บข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ 1. ค่ารักษาพยาบาล อันได้แก่ค่ารักษาพยาบาลไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน และ 2. ค่ายาและเวชภัณฑ์ อันได้แก่ ยาสามัญประจำบ้านตลอดจนวิตามินยาบำรุงและอาหารเสริม

อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนั้นมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น และคงที่เมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ทว่าเมื่อเจาะเข้ามาดูรายละเอียดจะพบว่า ค่ารักษาพยาบาลนั้นมีสัดส่วนที่ลดลงในช่วงปี 2533 – 2539 และคงที่หลังจากนั้น โดยสิ่งที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในส่วนของค่ายาและเวชภัณฑ์ก็คือค่าวิตามิน ยาบำรุงและอาหารเสริม

โดยในปี 2543 ค่าวิตามิน ยาบำรุงและอาหารเสริมอยู่ที่ 6 ร้อยล้านบาทขณะที่ในปี 2558 มีค่าวิตามิน ยาบำรุงและอาหารเสริมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท เพิ่งสูงขึ้นมากกว่า 10 เท่า เป็นที่มาของข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ HITAP ที่เสนอว่า รัฐบาลควรเฝ้าระวังและให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องอาหารเสริมซึ่งมีผลต่อชีวิต สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/172913

 

ความเหลื่อมล้ำระหว่างค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนที่มีภาวะพึ่งพิงกับไม่มีภาวะพึ่งพิงลดลง

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเกิดจากหลายปัจจัย สิ่งหนึ่งที่ส่งผลร้ายแรงคือค่ารักษาพยาบาล หากครอบครัวหนึ่งต้องมีภาระมากกว่าอีกครอบครัวหนึ่งก็ยิ่งซ้ำเติมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำยิ่งขึ้น

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนที่มีภาวะพึ่งพิง (คือมีเด็ก ผู้สูงอายุหรือผู้พิการ) กับไม่มีภาวะพึ่งพิงมีแนวโน้มที่ลดลง

โดยในปี 2543 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ของรายจ่ายทั้งหมด เทียบกับครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ของรายจ่ายทั้งหมด แต่ในปี 2558 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของรายจ่ายทั้งหมด เทียบกับครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของรายจ่ายทั้งหมด จะเห็นได้ว่าช่องว่างนั้นลดลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น

ส่วนครัวเรือนที่มีผู้พิการก็มีรายจ่ายด้านสุขภาพที่ลดลงมาใกล้เคียงกับครัวเรือนที่ไม่มีผู้พิการ โดยในปี 2543 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนที่ไม่มีผู้พิการอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ของรายจ่ายทั้งหมด ส่วนครัวเรือนที่มีผู้พิการอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ของรายจ่ายทั้งหมด ขณะที่ในปี 2558 รายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนที่ไม่มีผู้พิการอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และครัวเรือนที่มีผู้พิการอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ของรายจ่ายทั้งหมด

 

จากข้อมูลค่าใช้จ่ายทั้งหมดในช่วง 15 ปี งานวิจัยนี้ศึกษาเพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่านโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน สำคัญกว่านั้นข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นถึงความจริงเพื่อนำมาต่อยอด มองอนาคต มองเห็นบางปัญหาที่แก้ไขทุเลาลงและบางประเด็นที่น่าจะเตรียมการรับมือ รวมถึงป้องกันไม่ให้เป็นปัญหาต่อไปในอนาคต

 

 

4 กุมภาพันธ์ 2562

Next post > HTA ในมุมมองแพทย์ “ยาก - ท้าทาย - ได้ผล” รักษาคนไข้ คิดเชิงระบบ

< Previous post มองผ่านงานวิจัย “สุขภาพเด็กไทย 2019” อยู่ตรงไหน?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ