logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
มองผ่านงานวิจัย “สุขภาพเด็กไทย 2019” อยู่ตรงไหน?

มีคำกล่าวที่ว่า เด็กคืออนาคตของชาติ อนาคตของประเทศจะดีหรือแย่ขึ้นอยู่กับพวกเขา

ทว่าสุขภาพของพวกเขาตอนนี้เป็นอย่างไร ถูกละเลยเรื่องไหน กำลังได้รับการแก้ไขเรื่องใด เราต้องระวังโรคใดบ้างสำหรับสุขภาพเด็กไทย 2019 งานวิจัยนโยบายสุขภาพอาจตอบปัญหาได้บางส่วน แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกันเพื่อให้สุขภาพเด็กไทยดีกว่าที่เป็นมา

 

“อนามัยโรงเรียน” สุขภาพกับการเรียนในวัยที่ห้ามมองข้าม

เพราะสุขภาพที่ดีมีส่วนช่วยให้การเรียนดีขึ้น แต่เด็กอาจไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาสุขภาพ ผลการเรียนที่ย่ำแย่อาจมาจากการที่เด็กไม่รู้ตัวว่ามีปัญหาสุขภาพ งานอนามัยโรงเรียนที่มีหน้าที่คอยสอดส่องดูแลสุขภาพของเด็กๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่แม้หลายภาคส่วนจะพยายามดำเนินการเพื่อส่งเสริมสุขภาพเด็กนักเรียน แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังถูกละเลย บริการอนามัยโรงเรียนก็ประสบปัญหาหลายด้าน เช่น ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานในภาคการศึกษาและสาธารณสุข ขาดความตระหนักถึงความสำคัญ บุคลากรไม่เพียงพอ

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงดำเนิน “โครงการสนับสนุนการเข้าถึงบริการอนามัยโรงเรียน” โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดกิจกรรมสร้างความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการให้บริการอนามัยโรงเรียนโดยหน่วยงานของท้องถิ่นเพื่อดูแลสุขภาพนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และในปี 2560 งานวิจัย “การประเมินผลโครงการสนับสนุนการเข้าถึงบริการอนามัยโรงเรียน โดยความร่วมมือของท้องถิ่น” พบว่า โครงการดังกล่าวช่วยกระตุ้นให้เกิดการดำเนินนโยบาย ช่วยปลดล็อกปัญหาหลายอย่าง ทำให้มีความชัดเจนในการแก้ปัญหามากขึ้น แต่ยังคงมีข้อจำกัดหลายอย่างซึ่งยังต้องทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันพัฒนาต่อไป ทั้งในเรื่องทรัพยากรที่มีจำกัด การบริหารจัดการตลอดกระบวนการ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การพัฒนาบุคลากรโดยจัดอบรมเพื่อเพิ่มกำลังคนนั้น แม้จะทำให้ครูมีส่วนร่วมกับงานอนามัยโรงเรียนมากขึ้น แต่ก็ยังชัดเจนไม่เพียงพอ

https://www.hitap.net/documents/169278

 

 

“ควบคุมโฆษณาอาหาร” ป้องกันเด็กจากโรคอ้วน

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็กก็คือพฤติกรรมการกิน ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

แล้วทำไมเราจะไม่เปลี่ยนล่ะ?

ข้อมูลเบื้องต้นจากงานวิจัยพบว่า ในปัจจุบันเด็กไทยมีพฤติกรรมการกินโดยคำนึงถึงความรวดเร็วและปริมาณที่มาก มากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ เด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มที่ถูกชักจูงได้ง่ายด้วยโฆษณา มีการศึกษาพฤติกรรมของเด็กป. 6 ในจังหวัดเพชรบุรีพบว่า การที่เด็กจดจำยี่ห้อขนมขบเคี้ยวได้ มีความสัมพันธ์กับการกินขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม ขนมหวานและฟาสฟู้ดเพิ่มขึ้น

ในต่างประเทศ มีหลายการศึกษาพบว่าการรับชมโฆษณาอาหารทางโทรทัศน์ ทำให้ผู้ชมบริโภคอาหารมากขึ้น รวมถึงทำให้เด็กบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบการศึกษาถึงความคุ้มค่าของมาตรการในการควบคุมโฆษณาซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้สุขภาพของเด็กดีขึ้น พบว่า มีความคุ้มค่าในทุกประเทศที่มีการศึกษา

สำหรับในประเทศไทย HITAP กำลังวิจัยเกี่ยวกับความคุ้มค่าของมาตรการควบคุมโฆษณาเหล่านี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในระดับนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมโฆษณาต่อไป สามารถอ่านรายละเอียดร่างข้อเสนองานวิจัยได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/171539

 

 

“โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในเด็กเกิดใหม่” ป้องกันได้

โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความรุนแรงของโรคนี้มีระดับที่แตกต่างกันไป มีตั้งแต่ทำให้เด็กเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์หรือเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด หากไม่เสียชีวิตก็ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลงอย่างมาก ในประเทศไทยมีผู้ที่เป็นพาหะโรคนี้อยู่ร้อยละ 40 ของประชากร เด็กเกิดใหม่จำนวนไม่น้อยจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคธาลัสซีเมีย ซ้ำร้ายในจำนวนนี้เด็กหลายคนเป็นโรคชนิดรุนแรง

ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแผนงานธาลัสซีเมียแห่งชาติปี พ.ศ. 2550 – 2554 เพื่อให้เด็กไทยเกิดใหม่ที่ป่วยเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงมีจำนวนลดลง โดยวางแผนจะจัดให้เกิดระบบบริการป้องกัน ควบคุมและรักษาพยาบาลโรคดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างมีมาตรฐาน และจัดตั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย

ปัจจุบันสปสช. ได้ดำเนินแผนกลยุทธ์การป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย พ.ศ. 2557 – 2559 โดยเน้นการดูแลในช่วงตั้งครรภ์ ตั้งแต่การฝากครรภ์ ที่จัดให้มีการให้คำปรึกษาจนถึงการตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ถ้าพบว่ามีโอกาสที่จะให้กำเนิดบุตรที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงจะมีการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ ซึ่งหากพบว่าทารกในครรภ์เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง หญิงตั้งครรภ์จะได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อให้ข้อมูลในการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ ถึงตอนนี้ HITAP กำลังประเมินนโยบายดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการตัดสินนโยบายในลำดับถัดไป ติดตามความเคลื่อนไหวของงานวิจัยได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/173411

 

สุขภาพเด็กไทยเป็นสิ่งที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศ ส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อการพัฒนาประเทศ หากทุกคนใส่ใจต่อสุขภาพของเด็ก ๆ ในวันนี้เท่ากับทุกคนมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศในวันข้างหน้า

11 มกราคม 2562

Next post > เปิด DATA 15 years challenge 6 เรื่องน่ารู้จากรายจ่ายสุขภาพคนไทยที่เปลี่ยนไป

< Previous post เรียกคืนใบขับขี่ - ตรวจสายตาผู้สูงอายุ ป้องกันอุบัติเหตุได้

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ