logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ง่ายแต่ได้ผล ข้อความ “ช่วยเลิกบุหรี่” จากวิจัยต่างประเทศทดลองในไทยแล้วได้ผล

คุณอาจเคยได้ยิน เพียงข้อความสั้น ๆ สามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้

การเลิกบุหรี่ถือเป็นเรื่องสุดยากสำหรับสิงห์อมควัน ยากทั้งในด้านเสพติด และอีกด้านที่หลายคนไม่รู้คือ การจัดการความเครียด ยิ่งเครียดสูง ยิ่งสูบจัดเพื่อลดเครียด แต่ก็ช่วยได้เพียงชั่วคราวและทำลายสุขภาพหนักกว่า

ทุกวันนี้วิธีเลิกบุหรี่มีอยู่มากมายหลายวิธี บ้างก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก มีข้อจำกัดที่ซับซ้อน บางวิธีไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าได้ผล

ล่าสุดมีวิธีหนึ่งที่ช่วยเสริมอย่างได้ผลจริง จากงานวิจัย “Optimising the development of effective mobile health behaviour change interventions: text messages to support smoking cessation in Thailandหรือ “การทดสอบประสิทธิผลของการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือต่อการรับบริการเลิกบุหรี่และการตัดสินใจเลิกบุหรี่” วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของดร. ภญ. ปฤษฐพร กิ่งแก้ว นักวิจัย HITAP โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการประเมินงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงเศรษฐศาสตร์ และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600) ค้นพบว่า ในประเทศไทย “บริการ SMS ช่วยเลิกบุหรี่” มีส่วนช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์

“ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่บอกว่ามีดีกว่าไม่มี” นักวิจัยเอ่ยถึงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ได้ทราบมาระหว่างดำเนินการวิจัยโครงการดังกล่าว “เพราะอย่างน้อยสิ่งนี้ไม่ได้เอามาแทนที่วิธีการอื่น ๆ เป็นเหมือนตัวช่วยที่ราคาไม่แพงและยังเข้าถึงคนไทยได้มาก เป็นระบบข้อความอัตโนมัติ ไม่ค่อยได้ใช้ทรัพยากรมนุษย์สักเท่าไหร่ ฉะนั้นต้นทุนการให้บริการจึงถูก แล้วลดได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หรือก็คือใน 100 คนที่ร่วมโครงการ มีถึง 40 คนที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ”

ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัย แค่ข้อความ SMS สั้นๆ ง่ายๆ จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้เชียวหรือ ต่อไปนี้คือเบื้องหลังข้อความสั้น ๆ ที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้

 

SMS เลิกบุหรี่ตัวช่วยใหม่

เดิมทีบริการการส่ง SMS ทางโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยเลิกบุหรี่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยมีผลการศึกษาพบว่า สามารถช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ 35 เปอร์เซ็นต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และนอร์เวย์

ในส่วนของประเทศไทย เพื่อทดสอบว่า SMS เช่นนี้จะใช้ได้ผลหรือไม่ นักวิจัยจึงออกแบบการทดลองเพื่อส่ง SMS ไปยังอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ ทฤษฎีที่ใช้อ้างอิงคือทฤษฎีที่ใช้อธิบายการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชื่อว่า COM-B ซึ่งแบ่งปัจจัยที่ส่งผลให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งในที่นี้คือปรับเปลี่ยนนิสัยการสูบบุหรี่เป็น 3 อย่างด้วยกันได้แก่

1 C – capability หรือ ปัจจัยด้านความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตัวอย่างเช่น ต้องการเลิกบุหรี่ต้องรู้วิธีเลิก รู้เบอร์โทรติดต่อบริการเลิกบุหรี่

2 O – opportunity หรือ ปัจจัยด้านโอกาสในการเลิกบุหรี่ ตัวอย่างเช่น อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เข้มงวดห้ามสูบบุหรี่ โอกาสสูบบุหรี่จะมีน้อยลง

3 M – motivation หรือ ปัจจัยด้านแรงจูงใจเชิงบวกให้เลิกบุหรี่ ตัวอย่างเช่น ทุกวันที่งดบุหรี่ได้อาจสัญญาจะให้รางวัลกับตัวเองที่มีผลกับจิตใจ

ข้อความ SMS เลิกบุหรี่ที่ใช้ในการทดลองนี้ออกแบบเพื่อให้ส่งเสริมปัจจัยแต่ละปัจจัย แล้วแบ่งข้อความออกเป็นชุดส่งให้กลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครจำนวน 1,670 คนจากศูนย์บริการเลิกบุหรี่ (สายด่วนเลิกบุหรี่ โทร 1600) โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามลักษณะข้อความที่ใช้ปัจจัยที่แตกต่างกันเพื่อดูว่าปัจจัยใดส่งผลมากที่สุด โดยผลการทดลองพบว่า ข้อความทั้งหมดได้ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกัน

“ผลการทดลองพบว่า ข้อความเลิกบุหรี่ไม่ว่าอิงกับปัจจัยอะไรก็ได้ผลไม่แตกต่างกัน เรามีชุดข้อความหลอกที่เป็นข้อความเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับบุหรี่ด้วยก็สามารถช่วยให้คนเลิกบุหรี่เพิ่มขึ้นได้”

การทดลองนี้ให้อาสาสมัครประเมินด้วยว่าตนความตั้งใจเลิกบุหรี่มากน้อยแค่ไหน ในระดับ 1 – 10 เมื่อพิจารณาแยกตามระดับความตั้งใจ พบว่า การส่งข้อความมีส่วนช่วยในการเลิกบุหรี่ได้มาก ในกลุ่มที่มีความตั้งใจปานกลางถึงน้อย

“การส่งข้อความให้คนที่มีความตั้งใจในการเลิกบุหรี่มากอยู่แล้วไม่ได้แตกต่างอะไรกัน เขาจะเลิกอยู่แล้ว การมีหรือไม่มีข้อความไม่ได้มีผลอะไรกับเขา แต่สำหรับคนที่มีความตั้งใจกลางๆ หรือน้อย การส่งข้อความมีผลมากเทียบกับไม่มีถึง 1.6 เท่า” นักวิจัยอธิบายถึงข้อค้นพบ

 

ข้อความใดบ้างช่วยเลิกบุหรี่

ในการทดลองมีการส่งข้อความเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไปจนถึงข้อมูล ข้อแนะนำต่าง ๆ ต่อไปนี้คือตัวอย่างข้อความจากการงานวิจัยดังกล่าว

“ถ้าบุหรี่คือสิ่งแรกๆ ที่นึกถึงเมื่อตื่นนอน บอกได้เลยว่าคุณติดนิโคตินอาศัยปัจจัยด้านความสามารถในการเลิกบุหรี่ ให้ข้อมูลความรู้เพื่อให้นักสูบมีความสามารถในการเปลี่ยนพฤติกรรม

“เลิกบุหรี่ ยากช่วงแรก ลองเปลี่ยนบรรยากาศ หลีกเลี่ยงแหล่งรมควัน อาศัยปัจจัยด้านโอกาสช่วยส่งเสริมให้เลิกบุหรี่ ช่วยให้นักสูบหลีกเลี่ยงจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้มีพฤติกรรมสูบบุหรี่

“หยุดสูบวันนี้ มีเงินใช้ฟรีๆ ถึงปีละสองหมื่น” อาศัยปัจจัยด้านแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่ ให้แรงจูงใจด้านบวกเป็นรางวัลกับตัวเองเพื่อทำให้เปลี่ยนพฤติกรรม

“อารมณ์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง พิชิตโรคร้ายได้หลายอย่างเป็นข้อความหลอกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพบ้าง ในการวิจัยทางคลินิกใช้เพื่อเทียบให้เห็นถึงประสิทธิภาพ ทว่าจากการเก็บข้อมูลกลับพบว่า แม้ข้อความมีเนื้อหาไม่เกี่ยวกับบุหรี่โดยตรงก็สามารถช่วยให้คนเลิกบุหรี่เพิ่มขึ้นได้

ข้อความทั้งหมดถูกส่งผ่านโทรศัพท์มือถือให้กลุ่มตัวอย่าง 2 ข้อความในช่วงเช้าและเย็นเป็นระยะเวลา 30 วัน ซึ่งพบว่าข้อความทุกกลุ่มให้ผลไม่แตกต่างกัน

 

นัก (เลิก) สูบไทย “เครียด – ยาก – เลิก”

บริการสำหรับการเลิกบุหรี่ในประเทศไทยมีหลากหลายรูปแบบ ทว่าแต่ละช่องทางก็มีข้อจำกัดแตกต่างกันไป

สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ เป็นบริการให้คำปรึกษากับประชาชนโดยผู้เชี่ยวชาญ

เครือข่ายคลินิกฟ้าใส มีอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ บริการให้คำปรึกษาควบคู่ไปกับการรักษาอาการติดบุหรี่ด้วยการใช้ยา

เภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ คือเภสัชกรตามร้านยาที่มีบริการให้คำปรึกษาโดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นยาตามการรักษาเท่านั้น

บริการเหล่านี้ดี แต่ก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรบุคคล ใช้เวลารับบริการจนหลายครั้งมีนักสูบหลุดออกนอกระบบบริการ

“บางคนที่ต้องการเลิกบุหรี่เขาไม่มีเวลามานั่งฟังการสนทนา 30 นาที ครั้งหนึ่งฟังเท่านี้ เราเลยหาวิธีที่ไม่ต้องมานั่งพูดคุย 30 นาที เหมือนให้เตือนมากกว่า”

ในการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลสำหรับวิจัยยังพบด้วยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้นักสูบเลิกบุหรี่ได้ยากคือ “การจัดการความเครียด” มีการศึกษาพบว่าการสูบบุหรี่มีส่วนช่วยลดความเครียดได้ แม้จะในช่วงเวลาสั้น ๆ และลงท้ายด้วยผลเสียทางสุขภาพที่ร้ายแรง

“จากที่สัมภาษณ์มาคนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่ที่กลับมาสูบบุหรี่มีสาเหตุมาจากความเครียด และเขาไม่รู้จะจัดการกับความเครียดนั้นยังไง” นักวิจัยเล่า “เพราะการสูบบุหรี่มีกลไกทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยคลายเครียดได้ แต่แค่ ณ จังหวะนั้น พอไม่สูบจะยิ่งมีความอยากจากฤทธิ์ของนิโคติน พออยากก็สูบอีก สารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ก็จะเข้าปอด ทำให้มีปัญหาเรื่องโรคปอด มะเร็งและหัวใจเป็นสาเหตุของอาการป่วยอีกมากมาย”

ทุกวันนี้ประเทศไทยมีการรณรงค์ให้เลิกสูบอย่างต่อเนื่อง เพราะผลเสียด้านสุขภาพจากการสูบบุหรี่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศหลายด้าน ทั้งทำให้ผู้คนเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และยังกระทบถึงงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องดูแลผู้คนที่ป่วยจากโรคมากมาย การเลิกบุหรี่จึงมีส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และ sms เลิกบุหรี่ก็เป็นอีกตัวช่วยเลิกบุหรี่ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล

ขณะนี้ ทางสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ของไทย กำลังเตรียมการเพื่อให้บริการนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ต่อไป

 

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการวิจัย “การทดสอบประสิทธิผลของการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือต่อการรับบริการเลิกบุหรี่และการตัดสินใจเลิกบุหรี่” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/167423

27 ธันวาคม 2561

Next post > เรียกคืนใบขับขี่ - ตรวจสายตาผู้สูงอายุ ป้องกันอุบัติเหตุได้

< Previous post ตรวจก่อน – รู้ก่อน ลูกในท้องเป็นดาวน์รับมืออย่างไร

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ