เมื่อเชื้อเอชไอวีดื้อยา: เพิ่ม “ยาใหม่” ทางออกใหม่ เพื่อคนไทยใช้ฟรี
“ยาต้านไวรัสเอชไอวี” คือสิ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยเอดส์กลับมาเป็นเพียงผู้ติดเชื้อเอชไอวี และช่วยลดระดับเชื้อเอชไอวีในร่างกายผู้ติดเชื้อลงให้ต่ำเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้มีชีวิตได้ตามปกติ คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึง “ยาต้าน” ได้ฟรีมานานแล้วจากการที่ยาดังกล่าวเข้าบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากเชื้อไวรัสเกิด “ดื้อยา”
- “ผู้ติดเชื้อเอชไอวี” กับ “ผู้ป่วยเอดส์” ไม่เหมือนกัน
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวียังไม่ถือเป็นผู้ป่วย มักมีอาการคล้ายไข้หวัด เจ็บคอ ปวดศีรษะและหายไปเอง ดังนั้นหากรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงจึงควรเข้ารับการตรวจ ซึ่งคนไทยทุกคนมีสิทธิ์เข้ารับการตรวจฟรี
- ส่วนผู้ป่วยเอดส์คือผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ระดับเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำจนติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค ปอดบวม หรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่าย
- ยาต้านไวรัสถือเป็นสิ่งสำคัญช่วยลดระดับไวรัสในตัวผู้ติดเชื้อเพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ ส่วนในผู้ป่วยเอดส์ ยาต้านสามารถลดระดับไวรัส และช่วยยืดชีวิต
- แต่ใช่ว่ายาต้านไวรัสตัวหนึ่งจะได้ผลเสมอไป เพราะก็เหมือนกับยาฆ่าเชื้อชนิดอื่น ยาต้านไวรัสก็อาจไม่ได้ผลเมื่อเชื้อเกิดการ “ดื้อยา” เมื่อยาเดิมใช้ไม่ได้ผล ผู้ป่วยก็ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาต้านไวรัสชนิดอื่น
- HITAP ได้วิจัย “การประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบด้านงบประมาณของยาต้านไวรัสในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ดื้อยาสูตรแรกและสูตรทางเลือก” เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินนโยบายบรรจุยาต้านสูตรใหม่สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่เกิดอาการไวรัสดื้อยา
เราต่างรับรู้กันดีว่าการติดเชื้อเอชไอวีนำไปสู่โรคเอดส์ซึ่งถือเป็นโรคร้ายแรงถึงชีวิต ในอดีตการติดเชื้อเอชไอวีแทบจะเหมือนคำพิพากษาประหารชีวิต แต่ในปัจจุบันการติดเชื้อ (รวมถึงการป่วยเป็นโรคเอดส์) อาจแทบไม่มีผลกระทบต่อชีวิตหากผู้ป่วยกินยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคพบว่าตั้งแต่ปี 2527 ถึง 2557 มีผู้ป่วยเอดส์รวม 388,621 ราย และมีผู้เสียชีวิต 100,617 ราย ประเทศไทยมีการให้บริการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสซึ่งพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มียาสูตรมาตรฐานและสูตรทางเลือกสำหรับระดับการติดเชื้อที่แตกต่างกัน มีการส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเข้าถึงยาต้านไวรัสได้อย่างครอบคลุม
แต่ถึงตอนนี้กลับพบปัญหาใหม่คือ การดื้อยาต้านไวรัสที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2553 ในโครงการเอดส์แห่งชาติพบว่าในผู้ป่วย 6 – 7 คนที่ใช้ยา จะพบผู้ป่วยที่ดื้อยา 1 คน
ยาต้านไวรัสที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะเรียกกันว่า ยาต้านไวรัสสูตรมาตรฐานและสูตรทางเลือกซึ่งมีบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาเหล่านี้ได้ฟรี แต่เมื่อเกิดอาการดื้อยาทำให้การรักษาล้มแหลว พวกเขาจำเป็นจะต้องได้รับยาต้านไวรัสสูตรใหม่แต่ยาดังกล่าวมีราคาสูงและจนถึงเมื่อปีก่อน ยังไม่ได้บรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์เข้าไม่ถึงยาต้าน
ผลที่ตามมาคือการควบคุมโรคอาจทำให้ยากมากขึ้น เลวร้ายที่สุดอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะไม่สามารถเข้าถึงยาได้
การบรรจุยาต้านไวรัสสูตรใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็นโดยงานวิจัย “การประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบด้านงบประมาณของยาต้านไวรัสในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ดื้อยาสูตรแรกและสูตรทางเลือก” ของ HITAP ช่วยให้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบายในการบรรจุยาดังกล่าวเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ
จากงานวิจัยมีการประเมินความคุ้มค่ายาต้านไวรัสสูตรใหม่หลายสูตรพบทางเลือกที่ได้ประสิทธิผลที่สุด และมีราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่นคือสูตรยาดารูนาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (darunavir/ritonavir) + ราลเท็กราเวียร์ (raltegravir) + เทโนโฟเวียร์ (tenofovir) + ลามิวูดีน (lamivudine) ใช้ร่วมกัน โดยในสูตรยานี้มียาที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้วถึง 3 ตัวด้วยกัน ขาดเพียงราลเท็กราเวียร์ตัวเดียวเท่านั้น แต่ติดเพียงว่าราคาของราลเท็กราเวียร์ยังสูงเกินไป ทำให้การใช้ยาสูตรดังกล่าวไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของไทย
ที่ผ่านมามียาที่ประเมินความคุ้มค่าแล้วมีราคาสูงเกินเกณฑ์อยู่มากมาย อย่างไรก็ตาม ความคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าไม่ใช่เกณฑ์ข้อเดียวที่ใช้ตัดสินว่ายาตัวหนึ่งควรเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติหรือไม่ ผลการประเมินความคุ้มค่าจึงไม่ใช่สิ่งชี้ขาด แต่ช่วยให้ได้ข้อมูลว่าหากพบว่าไม่คุ้มค่า ราคายาต้องลดลงเท่าไรจึงจะคุ้มค่าเพื่อเป็นแนวทางในการต่อรองราคา ซึ่งบางครั้งก็สามารถต่อรองราคาได้ตามข้อมูล แต่บางครั้งก็ไม่ได้เป็นตามนั้น
ในกรณีราลเท็กราเวียร์งานวิจัยของ HITAP เสนอให้ต่อรองราคายาจากเดิมราคาเม็ดละ 172.65บาท ให้ลดลงร้อยละ 59.6 หรือให้เหลือเม็ดละ 69.75 บาทซึ่งจะช่วยให้ยาสูตรนี้ดังกล่าวผ่านเกณฑ์ความคุ้มค่า ถึงตอนนี้ยานี้ได้รับการบรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติแล้วโดยมีราคาต่อรองได้ที่เม็ดละ 121.30 บาท (ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวิจัย “การประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบด้านงบประมาณของยาต้านไวรัสในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ดื้อยาสูตรแรกและสูตรทางเลือก” สามารถอ่านรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/169263
และสามารถอ่านข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/171764