logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ประเทศเรามี! 3 ยาแพง ยาดี คนไทยใช้ฟรีในบัญชียาหลักแห่งชาติ

สิ่งที่น่ากังวลที่สุดของการป่วยไข้อาจมิใช่ความเจ็บปวด แต่คือภาระจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษา ยาจำเป็นที่ต้องใช้หลายครั้งมีราคาสูงเกินกว่าหลายคนจะเอื้อถึง ทว่าประเทศเรามีระบบบัญชียาหลักแห่งชาติที่ช่วยให้คนไทยมีสิทธิ์เข้ายาในบัญชีได้ฟรี

ต่อไปนี้คือยาใหม่ 3 ตัวที่ได้รับการบรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติโดยส่วนหนึ่งได้รับข้อมูลจากงานวิจัยของ HITAP

 

มียาใหม่รักษามะเร็งต่อมลูกหมากไม่ต้องผ่าตัดอัณฑะ

มะเร็งต่อมลูกหมากถือเป็นมะเร็งที่พบได้มากในสังคมไทย ทว่าปัญหาหนึ่งของการเข้ารับการรักษามะเร็งชนิดนี้คือบางครั้งแพทย์ต้องตัดต่อมลูกหมากหรือลูกอัณฑะของผู้ป่วยทิ้ง ผู้ป่วยจึงไม่อยากเข้ารับการรักษา แต่ยากลุ่ม luteinizing hormone releasing hormone (LHRH) analogues เป็นยาใหม่ที่ใช้ได้ผลและช่วยทดแทนการตัดต่อมลูกหมากหรือลูกอัณฑะได้ แต่ขณะที่มีการเสนอให้นำยากลุ่มนี้เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยากลุ่มนี้ยังมีราคาสูง ภาครัฐจึงต้องการข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับยากลุ่มนี้

จากโครงการวิจัย “การประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบด้านงบประมาณของยากลุ่ม LHRH analogues ในข้อบ่งใช้สำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากใน Adjuvant therapy และระยะ Metastatic disease” ทำให้ได้ข้อมูลการใช้ยาในกลุ่ม LHRH analogues รักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะปานกลางและระยะสูงมาก มีความคุ้มค่าในบริบทของประเทศไทย ส่งผลให้ในเวลาต่อมาคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติจึงได้มีมติให้ยากลุ่ม LHRH analogues บรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติปี 2560 เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพทุกสิทธิเข้าถึงยาดังกล่าวได้ฟรี ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากมีทางเลือกในการรักษาโดยไม่ต้องตัดต่อมลูกหมากหรืออัณฑะทิ้ง

 

มียาสูตรใหม่รักษาไวรัสตับอักเสบซี ลดผลข้างเคียง ประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ โรคนี้ไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน เดิมทีประเทศไทยมีแนวทางการรักษาคือใช้ยาเดิมที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งได้แก่การใช้ pegylated interferon ร่วมกับ ribavirin ในหลายกรณี ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา และส่วนใหญ่ไม่สามารถทนอาการข้างเคียงของยาสูตรมาตรฐานได้ เมื่อไม่นานมานี้มียาสูตรใหม่ที่ได้ผลชะงัดรวมถึงผลข้างเคียงต่ำกว่ามาก ได้แก่ยากลุ่ม direct acting antivirals ซึ่งมีราคาสูงมาก โครงการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้จึงศึกษาถึงประสิทธิผลและความคุ้มค่าของยาสูตรใหม่ นำมาซึ่งทางแก้ปัญหาในที่สุด

จากการศึกษาของ HITAP ช่วยให้ได้ข้อมูลประสิทธิภาพและต้นทุนรวมทั้งหมดของยาสูตรใหม่เทียบกับยาสูตรเก่า แม้ประเมินแล้วพบว่าไม่คุ้มค่า แต่ข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าว ส่งผลต่อเนื่องให้คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สามารถต่อรองราคากับบริษัทยาลงได้หลายเท่าตัว และเป็นผลให้สามารถนำยาใหม่กลุ่มนี้ ได้แก่ Sofosbuvir (โซฟอสบูเวียร์) ใช้ร่วมกับยาเดิมและยาเม็ดผสม Sofosbuvir + Ledipasvir (โซฟอสบูเวียร์ยา + เลดิพาสเวียร์) บรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคได้มากกว่าเดิมอีกด้วย

 

มียาบีวาซิซูแมบ (bevacizumab) เพื่อรักษาโรคตา

เดิมทียาบีวาซิซูแมบเป็นยาสำหรับรักษามะเร็งลำไส้ แต่ในเวลาต่อมามีการค้นพบว่าสามารถรักษาโรคตาในกลุ่มโรคจุดภาพชัดในจอตาโดยมีการขึ้นทะเบียนใช้ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ช่วยให้ราคายาถูกกว่าถึง 40 เท่าเมื่อเทียบกับการใช้ยา ranibizumab ซึ่งเป็นยารักษาโรคดังกล่าวโดยเฉพาะและมีราคาแพง สำนักงานหลักประกันสุขภาพจึงมีความสนใจจะบรรจุยาดังกล่าวเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

หลังจาก HITAP ร่วมด้วยภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการศึกษาจนได้ข้อมูลผลของการใช้ยาที่สามารถทดแทนยา ranibizumab ได้ในราคาที่ถูกกว่า และดีกว่าวิธีรักษามาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในตอนนั้น จึงได้มีการบรรจุให้ยาบีวาซิซูแมบใช้รักษาโรคจุดภาพชัดของจอตาเสื่อมจากเหตุสูงวัยชนิดที่มีหลอดเลือดงอกผิดปกติ (neovascular age-related macular degeneration – AMD) และโรคจุดภาพชัดบวมน้ำจากโรคเบาหวาน (diabetic macular edema – DME) และในปีที่ผ่านมาก็ได้มีการเพิ่มข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดดำในจอตาอุดตัน (central retinal vein occlusion)

 

อย่างไรก็ตาม ในประเทศอื่นก็มีบัญชียาหลักแห่งชาติแต่จะแตกต่างกันไปตามนโยบายของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้นการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติให้ดียิ่งขึ้น นำยาใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นเข้าสู่บัญชี ก็ยังเป็นงานสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่ประเทศเรามีอยู่แล้วก็ห้ามหยุดนิ่งที่จะพัฒนาให้สิ่งที่มีนั้นดียิ่งขึ้น

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมงานวิจัย “การประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบด้านงบประมาณของยากลุ่ม LHRH analogues ในข้อบ่งใช้สำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากใน Adjuvant therapy และระยะ Metastatic disease” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/17764

อ่านช้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “Policy Brief: ฉบับที่ 16 LHRH analogues ยาใหม่ รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ไม่ต้องตัดทิ้ง” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/22606

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมงานวิจัย “การประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และผลกระทบด้านงบประมาณของการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/139500

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมงานวิจัย “การประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลของการฉีด bevacizumab และ ranibizumab เข้าวุ้นตาในการรักษาผู้ป่วยโรคจอตา: การศึกษาเชิงสังเกต” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/17606

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับยาทางเลือกสำหรับโรคจอตาใน “จุลสาร HITAP  ปีที่ 5 ฉบับที่ 17 กรกฎาคม-กันยายน 2555: โรคจอตากับยาทางเลือก” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/18545

5 พฤศจิกายน 2561

Next post > เมื่อเชื้อเอชไอวีดื้อยา: เพิ่ม “ยาใหม่” ทางออกใหม่ เพื่อคนไทยใช้ฟรี

< Previous post ความจริงต่างมุม “รักษาฟรีทำคนไทยรักษาเกินจำเป็น” จริงไหม?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ