logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

โรคมะเร็งที่เกิดกับสตรีเพศโดยเฉพาะ อย่าง มะเร็งปากมดลูก เป็นภัยร้ายที่ซุ่มเงียบ อยู่ในตัวผู้หญิง ถ้าแสดงอาการเจ็บป่วยถึงขั้นต้องไปหาหมอขึ้นเมื่อไหร่ ก็มักจะลุกลามจนเกินการรักษาเสียแล้วในแต่ละปีมี หญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก ปีละ 6200 คน และเสียชีวิตปีละ 2,600 คน ซึ่งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงเป็นอันดับต้นๆ

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งมดลูก คือการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus) บริเวณปากมดลูกอย่างเรื้อรัง จนเกิดเซลล์ผิดปกติและพัฒนาไปเป็นมะเร็งในที่สุด โดยจะใช้เวลานานนับ 10 ปี กว่าจะแสดงอาการของโรคมะเร็ง ซึ่งในระหว่างนี้หากสามารถตรวจพบความผิดปกติของเซลล์ก็สามารถรักษาให้หายก่อนพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ สาเหตุของการติดเชื้อเอชพีวี 50-60%  มาจากการมีเพศสัมพันธ์ ใครที่มีคู่แล้วจึงจำเป็นไปตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ แม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียวก็ตาม โดยเชื้อเอชพีวีมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่ชนิดที่จะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมี 15 สายพันธุ์

ปัจจุบันมีการค้นพบวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสำหรับ 2 สายพันธุ์หลักคือสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มประเทศตะวันตก บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายงานว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันการติดเชื้อเฉพาะ 2 สายพันธุ์นี้ได้ราว 90 % อย่างไรก็ดี โดยล่าสุดผลวิจัยจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์พบว่าสายพันธ์ที่พบการติดเชื้อในหญิงไทยมากที่สุดคือสายพันธุ์ 52 ซึ่งวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม ดังนั้นคาดว่าวัคซีนป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยได้ 50-70% ของผู้ที่ฉีดวัคซีน

วัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีนั้น ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยครั้งแรกในกลางปี พ.ศ. 2550 ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชนไทยอย่างมาก มีการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวัคซีนตัวนี้ผ่านทางสื่อมวลชนอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ในช่วงก่อนที่วัคซีนฯ จะได้รับการอนุมัติจาก อย. และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อผ่านการอนุมัติให้ใช้วัคซีนฯ อย่างไรก็ตามหลังจากมีการแถลงข่าวควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์วัคซีนฯ อย่างไม่เหมาะสมของ อย. ในวันที่ 7 สิงหาคม 2550 แล้ว พบว่าการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมีจำนวนลดลง

ในปีเดียวกันนี้ HITAP ได้ทำการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนนี้หลายการศึกษา หนึ่งในนั้นคือการศึกษาว่า แวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน HPV อย่างไร และข้อมูลเหล่านั้นส่งผลต่อความรู้ ทัศนคติ และการตัดสินใจฉีดวัคซีนของผู้หญิงอย่างไร จากผลการศึกษาพบว่า ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อ ส่วนใหญ่มากจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีน และโรงพยาบาลเอกชน บางส่วนมากจากหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่ข้อมูลอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีที่มาจากแหล่งข้อมูลใด

ลักษณะการนำเสนอข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่ สามารถจำแนกคร่าวๆ ได้ 5 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ 1) การสร้างความกลัวต่อโรคมะเร็งปากมดลูก 2) การสร้างความน่าเชื่อถือต่อข้อมูลข่าวสาร 3) การนำเสนอเรื่องราวผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม 4) การชี้ให้เห็นจุดอ่อนหรือผลเสียของการป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีอื่น และ 5) การสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งเมื่อวิเคราะห์คุณภาพของข้อมูลข่าวสารพบว่า มีบทความและข่าวสารมากถึงร้อยละ 79 ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งประเด็นที่ถูกละเลยมากที่สุด ได้แก่ ประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนฯ ในระยะยาว วิธีการป้องกันและควบคุมมะเร็งปากมดลูก ปริมาณของวัคซีนฯ ที่ต้องฉีด และคุณสมบัติผู้ที่เหมาะสมในการได้รับวัคซีนฯ

ด้วยวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี เพิ่งคิดค้นและคนกลุ่มแรกที่ฉีดวัคซีนไปประมาณ 10 ปี ดังนั้นจึงไม่มีข้อมูลว่าวัคซีนดังกล่าวจะป้องกันได้กี่ปี หรือต้องฉีดซ้ำหรือไม่ อีกทั้งประเด็นสำคัญที่ดูเหมือนว่าจะถูกละเลยในการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในช่วงนั้นคือ

  • การฉีดวัคซีน HPV ควรให้เฉพาะในเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 12ปีที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน  การฉีดวัคซีนให้กับหญิงกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ไม่ก่อให้เกิดผลในการป้องกันแต่อย่างใด
  • ถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามเดิมทุกประการ
  • การฉีดวัคซีนต้องฉีดให้ครบ 3 เข็มภายใน 6 เดือน ไม่เช่นนั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลในการป้องกันแต่อย่างใด
  • นอกเหนือจากการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน ยังมีการป้องกันอีกชนิดที่มีมานาน และได้รับการยอมรับในวงกว้าง คือการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำเมื่อถึงช่วงอายุที่กำหนด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทั้งนี้จากการศึกษาของ HITAP พบว่ากลุ่มที่ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีน HPV มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนไม่แตกต่างจากผู้ที่ไม่เคยได้รับข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งยังพบว่า ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัคซีนในหลายประเด็นเช่น บางคนเข้าใจว่า วัคซีน HPV สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น หนองในและซิฟิลิส หรือแม้กระทั่ง HIV ได้ หรือแม้กระทั่งบางคนเข้าใจว่าวัคซีนสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกเริ่มได้ และที่สำคัญมีความเข้าใจผิดๆ วัคซีนสามารถใช้ป้องกันได้แม้จะเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ความเข้าใจผิดเหล่านี้อาจทำให้เกิดการตัดสินใจใช้วัคซีนอย่างไม่สมเหตุสมผล รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายหลังได้รับวัคซีน เช่นไม่เข้ารับการคัดกรองตามปกติซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมากขึ้น

เนื่องจากการฉีดวัคซีน HPV นั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายพอสมควร ขณะนี้ราคาประมาณ 2,000 บาทต่อเข็ม เมื่อต้องฉีดครบ 3 เข็ม ราคาประมาณ 6,000 บาท ดังนั้นผู้ที่จะตัดสินใจเลือกรับวัคซีนน่าจะต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน ในเมื่อเวลาเราซื้อของใช้ทั่วไป อย่างเสื้อผ้ากระเป๋า หรือของกิน ยังต้องใช้เวลาเลือกเพื่อให้ได้ของที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นหญิงสาวทุกคนที่จะตัดสินใจฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV น่าจะใช้เวลาซักนิดศึกษารายละเอียดและข้อจำกัดของวัคซีนก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่เราจ่ายไป คุ้มค่ากับและสามารถป้องกันสุขภาพได้อย่างที่เราคาดหวัง

21 มีนาคม 2556

Next post > อัลไซเมอร์...มหันตภัยร้ายในบั้นปลายชีวิต

< Previous post สเต็มเซลล์เม็ดเลือด เพื่อผู้ป่วยธาลัสซีเมียเด็ก มีความเป็นไปได้แค่ไหน?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ