logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
โรคมะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้ ถ้าเลิกอายหมอ

ความไม่มีโรคนับเป็นลาภอันประเสริฐและเป็นพรอันปรารถนาสำหรับทุกชีวิต แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราหนีโรคภัยไข้เจ็บกันไม่พ้น และเพื่อเป็นการลดอัตราเสี่ยง การหมั่นดูแลตนเองและตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วจะเป็นเรื่องยุ่งยากต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่าย และรู้สึกน่าอึดอัดใจเพียงใดก็ตาม เพราะอาการเจ็บป่วยของคนเรานั้น มีหลายระดับอาการตั้งแต่ขั้นล้มหมอนนอนเสื่อแค่วันสองวันไปจนถึงขั้นรักษาไม่หาย และนั่นอาจหมายถึงโรคร้ายที่รุนแรงถึงคร่าชีวิต

โรคมะเร็งเป็นโรคที่ติด 1 ใน 10 โรคที่คร่าชีวิตคนไทยทั้งหญิงและชายมาหลายปี และสำหรับหญิงไทยโรคลำดับต้น ๆ คือมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งมดลูก โดยมีผู้ป่วยถึงปีละ 6200 คน และเสียชีวิตปีละ 2,600 คน

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลหากตรวจพบโรคในขั้นที่ลุกลามจนเกินเยียวยา การตรวจคัดกรองหาเซลล์ที่ผิดปกติในระยะเริ่มแรกจึงเป็นวิธีการลดอัตราเสี่ยงที่ดีที่สุด และนี่คือเหตุผลสำคัญว่า ทำไมผู้หญิงทั้งหลายจึงต้องหมั่นไปตรวจสุขภาพกันไว้ก่อน และจงอย่าได้รู้สึกอายหมอเป็นอันขาด เพราะนี่คือหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทำให้สตรีไทยไม่กล้าไปหาหมอ

การตรวจหามะเร็งระยะแรก หรือการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันนั้นมีอยู่ 3 วิธี ได้แก่

  1. การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) คือการป้ายเซลล์จากปากมดลูกและส่งตรวจ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะรู้ผลใน 1-4 สัปดาห์
  2. การตรวจคัดกรองโดยใช้น้ำส้มสายชู และดูด้วยตาเปล่า หรือวีไอเอ (Visual Inspection with Acetic Acid) คือการป้ายน้ำส้มสายชู หรือ Acetic Acid ที่เจือจางแล้วลงบริเวณปากมดลูก จากนั้นทิ้งไว้ 1 นาที เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเซลล์ภายใต้แสงสว่าง หากมีเซลล์ผิดปกติจะมี ฝ้าขาวขึ้นชั่วคราวซึ่งเห็นได้ด้วยตาเปล่า การตรวจด้วยวิธีนี้มีความถูกต้องถึง 70% สามารถรู้ผลและให้การรักษาด้วยการตัดเซลล์ที่ผิดปกติออกได้ทันทีด้วยการจี้เย็น
  3. การตรวจดีเอ็นเอหาเชื้อเอชพีวี (Human Papilloma Virus) เป็นการตรวจเซลล์จากปากมดลูกโดยการใช้วิธีตรวจชีวโมเลกุล อย่างไรก็ตาม การตรวจชนิดนี้ไม่มีการแนะนำให้ตรวจเดียวๆ ส่วนใหญ่จะใช้ร่วมกับการตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์เพื่อยืนยันผล ในประเทศไทยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยก็ยังไม่มีแนะนำให้ใช้เป็นวิธีคัดกรองแบบเดียว ๆ

ในปี 2550 HITAP ได้เริ่มทำการวิจัยถึงทางเลือกในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พบว่าควรให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในหญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป และต้องตรวจซ้ำทุกๆ 5 ปี ทั้งนี้ผลวิจัยเสนอว่าช่วงอายุ  30-45 ปี ควรตรวจคัดกรองโดยวิธี VIA และส่วนหญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป ให้ตรวจคัดกรองด้วยวิธีแปปสเมียร์ เป็นวิธีที่มีความคุ้มค่ามากที่สุดในบริบทประเทศไทย ทั้งนี้หากสามารถขยายการคัดกรองได้ครอบคลุมถึง 80% สามารถลดการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกของหญิงไทยได้ถึง ปีละ 750 คนทีเดียว

อย่างไรก็ดีจากผลการวิจัยพบว่า ปัจจุบันหญิงไทยมีอายุระหว่าง 30 ปีขึ้นไป คัดกรองมะเร็งปากมดลูกกันราว 68 % ทำให้ยังไม่สามารถลดอัตราการเป็นมะเร็งปากมดลูกลงได้ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีระบบให้บริการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพสามารถครอบคลุมได้ถึง 80-90% ส่งผลให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลงได้

แม้ว่าจะมีการรณรงค์และวางนโยบายป้องกันมานนานหลายปีแล้ว แต่ก็นับว่ายังควบคุมจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกอย่างไม่ได้ผลเท่าที่ควร อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือเรื่องของทัศนคติของหญิงไทยที่มักให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา ไม่ผิดปกติก็ไม่ไปตรวจ หรืออายหมอกันอยู่มากนั่นเอง ถ้าคุณเป็นสตรีที่มีอายุอยู่ในช่วงที่กำหนด ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีอาการเจ็บป่วยปรากฏ ยอมเสียเวลา คัดกรองมะเร็งไว้ก่อนดีกว่า และภายใต้ระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 30 – 60 ปี สามารถเข้ารับการตรวจ ให้บริการตรวจฟรีทุกระยะ 5 ปี เพราะฉะนั้นกันไว้ดีกว่าแก้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีให้กับเรื่องนี้

21 มีนาคม 2556

Next post > สเต็มเซลล์เม็ดเลือด เพื่อผู้ป่วยธาลัสซีเมียเด็ก มีความเป็นไปได้แค่ไหน?

< Previous post เปลี่ยนชีวิตในโลกเงียบ ด้วยประสาทหูเทียม

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ