logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เปลี่ยนชีวิตในโลกเงียบ ด้วยประสาทหูเทียม

เกิดมาในยุคไฮ-เทคโนโลยี นอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงรอบกายที่สัมผัสเห็นได้ด้วยตา อย่างข้าวของเครื่องใช้รูปแบบใหม่ๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลาแล้ว ในแวดวงการแพทย์ก็นับว่ามีความก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน อุปกรณ์ไฮ-เทคสารพัดที่มีประจำการอยู่ในโรงพยาบาล ตั้งแต่เครื่องตรวจสแกนที่มีความสามารถสำรวจร่างกายมนุษย์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ไปจนถึงหมอหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ผ่าตัดแล้วเย็บแผลแทนศัลยแพทย์ได้เลย มีอุปกรณ์ไฮ-เทคทางการแพทย์อีกชนิดที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ ประสาทหูเทียม อีกนวัตกรรมที่ช่วยคืนเสียงให้กับคนหูหนวกได้ และกำลังเป็นที่สนใจไม่น้อยในบ้านเรา ซึ่งปัจจุบันมีการสำรวจพบผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินมากกว่า 300,000 รายเลยทีเดียว

ประสาทหูเทียม สร้างปาฏิหาริย์ทางเสียงได้อย่างไร

เครื่องประสาทหูเทียมนั้นจะแตกต่างจากเครื่องช่วยฟังธรรมดา ๆ ตรงที่ไม่ได้เป็นแค่ช่วยขยายเสียงให้ดังฟังชัดขึ้นเท่านั้น แต่ทำหน้าที่เสมือนอุปกรณ์ชดเชยส่วนประสาทหูที่ถูกทำลาย ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาได้ยินเสียงอีกครั้ง โดยทั่วไปแล้วอุปกรณ์ชนิดนี้จะประกอบด้วยอุปกรณ์ 2 ชิ้นหลักๆ คือชิ้นส่วนที่อยู่ภายนอกสำหรับประมวลสัญญาณเสียง โดยมีไมโครโฟนทำหน้าที่รับสัญญาณเสียงรอบตัว แล้วส่งเป็นต่อไปยังเครื่องรับอีกชิ้นซึ่งได้รับการผ่าตัดฝังไว้ในหูชี่นใน เครื่องจะทำหน้าที่แปลงเสียงสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้า จากนั้นสัญญาณถูกส่งต่อไปเพื่อกระตุ้นประสาทหูและไปยังสมองเพื่อตีความ

การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมกับค่าใช้จ่ายที่ต้องคำนึง

การผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงนับ 1,000,000  บาทต่อข้าง และไม่ได้จบสิ้นที่ขั้นตอนการผ่าตัดเสร็จเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต่อเนื่องตามมาอีกมากมาย อาทิ ค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ราว 30,000 บาทต่อปี(หากใช้อย่างต่อเนื่องทุกวัน) ค่าซ่อมบำรุงและค่าอะไหล่ต่างๆ ที่ต้องจ่ายเมื่อสิ้นสุดการรับประกันจากบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่รับประกันให้เพียงแค่ 2-3 ปี ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดจึงเปรียบได้ดังยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ยังมีค่าใช้จ่ายที่นึกไม่ถึงซ่อนอยู่ใต้น้ำอีกมหาศาล

ในปีพ.ศ.2552  HITAP ได้ ศึกษาวิจัยถึงความคุ้มค่าของการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์และสังคม ซึ่งจากการศึกษาพบว่าในมุมของผู้ให้บริการ (ผู้บริหารกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุน) ที่สนับสนุนเฉพาะค่าเครื่องประสาทหูเทียม ค่าผ่าตัด และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูการได้ยิน มีความคุ้มค่าเฉพาะในกลุ่มเด็กที่หูหนวกสนิททั้งสองข้าง อย่างไรก็ดี หากมองภาพรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลเครื่องและอุปกรณ์เสริมในระยะยาวที่ประชาชนต้องรับภาระพบว่าการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ไม่มีความคุ้มค่าในทุกกลุ่ม             ถึงแม้ว่าเครื่องประสาทหูเทียมจะช่วยให้ผู้ที่หูหนวกสนิทสามารถกลับมาได้ยินเสียงอีกครั้ง แต่ผลที่ผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับอาจไม่เท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับวัยและระยะเวลาที่เกิดความผิดปรกติของผู้เข้ารับการรักษา ในกรณีของผู้มีอายุน้อยหรือมีอาการหูหนวกมาแต่กำเนิด และยังไม่เคยมีภาษาพูดมาก่อน ถ้าได้รับการผ่าตัดตั้งแต่ยังเล็กๆ ภายในช่วงก่อน 7 ขวบ จะได้ผลดีมาก เด็กจะมีพัฒนาการได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงวัยเรียนรู้ รวมถึงผู้ที่เคยเป็นคนหูดีมาก่อน และยังไม่ลืมการสื่อสารด้วยเสียง การผ่าตัดฝังประสาทกูเทียมนี้ก็จะมีประโยชน์     ส่วนผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินบางกลุ่ม เช่นวัยผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ทีการสื่อสารภาษามือแล้ว การผ่าตัดดังกล่าวอาจให้ประโยชน์น้อยเพราะ  คนกลุ่มนี้สะดวกกับการใช้ภาษามือที่คุ้นเคยมากกว่า

การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมนั้นเริ่มครั้งแรกในเมืองไทยเมื่อปีพ.ศ.2529 ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ปัจจุบันนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่มีความสามารถในการรักษาด้วยเทคโนโลยีนี้ และได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ผู้ปกครองที่บุตรหลานมีปัญหาทางด้านการได้ยิน แต่ด้วยเงื่อนไขด้านค่าใช้จ่ายที่สูงมาก นับตั้งแต่ขั้นตอนการผ่าตัด ไปจนถึงการบำรุงรักษาอุปกรณ์ในระยะยาว จึงเป็นเรื่องที่ต้องใคร่ครวญถึงความคุ้มค่า สำหรับผู้ที่มีสิทธิอยู่ในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ อาจจะพอรับได้เพราะเมื่อปลายปี พ.ศ. 2550 ทางภาครัฐได้มีการอนุมัติให้ใช้สิทธิเบิกจ่ายค่าเครื่องประสาทหูเทียม 1 ข้าง ไม่เกิน 850,000 บาท ทั้งนี้ไม่รวมค่าผ่าตัดและบริการฟื้นฟูซึ่งจะเบิกจ่ายได้ตามปกติอย่างไรก็ตามประชาชนที่มีสิทธิประกันสังคมหรือสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังไม่ได้รับสิทธิในการเบิกค่าเครื่องประสาทหูเทียม.

20 มีนาคม 2556

Next post > โรคมะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้ ถ้าเลิกอายหมอ

< Previous post สาระน่ารู้เกี่ยวกับเลนส์แก้วตาเทียม

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ